ชาวดอยสะเก็ดรวมพลังต้านภัย “เอดส์” สสส.หนุนขยายความเข้าใจให้ไปสู่การป้องกัน

ข่าวทั่วไป Thursday July 7, 2011 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี สถานการณ์ของโรคเอดส์ยังเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย โดยพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันตนเอง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องโรคเอดส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 และได้มีการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนในการรณรงค์ป้องกันและแก้ปัญหา มีการสร้างเครือข่ายของชุมชนในรูปแบบคณะกรรมการภายใต้ชื่อ “ภาคีการแก้ปัญหาเอดส์อำเภอดอยสะเก็ด” ที่ประกอบไปด้วยสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล วัดพระธาตุดอยสะเก็ด ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้าน เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯลฯ โดยร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคเอดส์ ดูแลช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ และช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อมีการทำการวิจัยเรื่องความรู้และทัศนคติต่อโรคเอดส์ของคนในชุมชนเมื่อปี พ.ศ.2551 กลับพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังมีความรู้ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเอดส์และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เพราะ “ความรู้” เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม จึงต้องมี “ความเข้าใจ” ที่ถูกต้องร่วมด้วย ทาง “ภาคีการแก้ปัญหาเอดส์อำเภอดอยสะเก็ด” จึงร่วมกันจัดทำ “โครงการรวมพลังต้านภัยเอดส์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่” ขึ้นเพื่อเปลี่ยนความรู้ให้เป็นความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การป้องกันตนเอง ครอบครัว และชุมชนให้ห่างไกลจากโรคเอดส์ นางสาวศรีพรรณ์ ทินะ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลดอยสะเก็ด หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานได้ทำงานลงพื้นที่ให้ความรู้อย่างทั่วถึงในทุกหมู่บ้านมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี แต่เมื่อได้มีการทำวิจัยในปี 2551 กลับพบว่าชาวบ้านมีความรู้ผ่านเกณฑ์เกือบไม่ถึงร้อยละ 50 ทัศคติต่อผู้ป่วยก็ยังไม่ถูกต้อง ส่วนเรื่องพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ยังก็พบว่ามีชาวบ้านถึงร้อยละ 10 ที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ครองของตนเอง ดังนั้นสถานการณ์โรคเอดส์ในพื้นที่ของอำเภอดอยสะเก็ดจึงยังน่าเป็นห่วง “เราจึงกลับมามองว่าเรื่องของความรู้กับความเข้าใจนั้นแตกต่างกัน เมื่อก่อนเราคิดว่าเมื่อให้ความรู้ไปแล้วเขาต้องเข้าใจตามนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ชาวบ้านเข้าใจถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เราจึงต้องปรับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของชาวบ้านให้ถูกต้อง โดยให้เครือข่ายชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนความรู้ให้เป็นความเข้าใจได้ เพราะสองคำนี้มีความลึกซึ้งและแตกต่างกัน” นางสาวศรีพรรณ์กล่าว ด้าน พระมหาอินสอน คุณวฑฺโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระธาตุดอยสะเก็ด ประธานโครงการฯ เล่าให้ฟังว่าการดำเนินงานของภาคีการแก้ปัญหาเอดส์อำเภอดอยสะเก็ดจะใช้วัดเป็นศูนย์กลางการประสานงานในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐ และองค์กรชุมชน เพราะวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทุกเพศวัย “ในช่วงเทศกาลประเพณีต่างๆ ก็จะมีนำเอาเรื่องของโรคเอดส์มาเทศน์สอน หรือบอกกล่าวให้กับประชาชน เป็นการประยุกต์ความรู้เรื่องโรคเอดส์ให้เข้ากับหลักธรรมะ แต่จริงๆ หลักธรรมะทุกข้อสามารถป้องกันโรคเอดส์ได้ เพียงแค่เราอยู่ในหลักศีล 5 โอกาสที่จะเกี่ยวข้องโรคเอดส์ก็จะน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ซึ่งศีล 5 ยังช่วยได้ทั้งแง่สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม” พระอาจารย์อินสอนแนะหลักธรรมนำชีวิตห่างไกลเอดส์ ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้จัดให้มีกิจกรรมในการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ผ่านวิทยุชุมชน เสียงตามสาย ในงานวัดหรืองานประเพณีก็จะมีการสอดแทรกเรื่องเอดส์เข้าไป นอกจากนี้ในบางตำบลที่มีหน่วยจู่โจมสุขภาพ หากมีการจัดงานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานศพ จะมี อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปตั้งโต๊ะให้บริการตรวจสุขภาพ และนำเอาเรื่องเอดส์เข้าไปให้ความรู้ด้วย แต่ทุกพื้นที่จะมีกิจกรรมที่ทำเหมือนกันคือ การเคาะประตูบ้านเพื่อทำความความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ในทุกหลังคาเรือนของชุมชน โดยล่าสุดทางโครงการฯ ได้จัดทำการวิจัยในประเด็น “ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคเอดส์ในชุมชน” และจัดการ “ประเมินผลการดำเนินงานของภาคีเอดส์” ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยที่เกิดขึ้นโดยแกนนำชุมชนและเครือข่ายเรื่องโรคเอดส์ที่เปลี่ยนบทบาทจากชาวบ้านมาเป็นนักวิจัย ผศ.พิกุล นันทชัยพันธ์ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรึกษาการวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า กระบวนการวิจัยโดยชุมชนนั้นจะให้ชาวบ้านได้ร่วมคิด ร่วมค้นหาปัญหา และหาทางออกด้วยตนเอง ซึ่งข้อดีก็คือชาวบ้านจะทราบและรู้ที่มาของปัญหาได้ดีและลึกซึ้งกว่านักวิจัย “กระบวนการวิจัยในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาที่หลากหลาย โดยแต่ละพื้นที่ก็จะมีกระบวนการสื่อสารความรู้ความเข้าในเรื่องโรคเอดส์ผ่านกิจกรรมที่แตกต่างกัน โดยอาศัยต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน เช่นใช้การแสดงพื้นบ้านอย่างลิเกหรือจ๊อยซอเป็นเครื่องสื่อความรู้ ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องลงสู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง” อาจารย์พิกุลระบุ นางศิริลักษณ์ ปัญญากาศ อสม.จากบ้านท่า ต.สง่าบ้าน อ.ดอยสะเก็ด และ นางพัทรา อาทวงษา อสม.จากบ้านประทุมนิเวศน์ ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า จากการลงพื้นที่สำรวจและประเมินความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ โดยใช้แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคเอดส์ ตามตัวชี้วัด UNGASS ทั้ง 6 ข้อกับคนในชุมชนพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่รู้จักแต่ไม่ได้เข้าใจโรคเอดส์อย่างลึกซึ้ง “บางคนก็คิดว่าโรคนี้สามารถติดต่อได้เมื่อถูกยุงกัด กินอาหารร่วมกัน หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ และแม่บ้านหลายคนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการใช้ถุงยางอนามัย หลายคนยังเชื่อตามโฆษณาทางทีวีที่ว่าเอดส์รักษาได้ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ทำให้เกิดความประมาทและลืมคิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อตัวของเขาเองและครอบครัว ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องเรื่องนี้ควรเน้นไปที่การป้องกันจะดีที่สุด เพราะโรคเอดส์มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมส่วนตัว ซึ่งถ้าชาวบ้านมีความรู้และความเข้าใจก็จะลดปัญหานี้ลงได้” นางศิริลักษณ์ระบุ “โครงการนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายแกนนำที่มีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ลงไปสู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง เพราะเรามองว่าความรู้ที่เผยแพร่ทางสื่อสาธารณะนั้นเป็นเพียงความรู้เบื้องต้น ไม่สามารถลงลึกไปถึงความเข้าใจในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยจากโรคเอดส์ได้ โครงการนี้จึงเข้ามาเติมเต็ม โดยลงไปให้ความรู้เชิงลึก ให้ความรู้เรื่องการป้องกัน ปรับความรู้และทัศนคติในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ในชุมชน ภายใต้สมมติฐานว่า หากเขาเข้าใจ เขาก็จะรู้มากขึ้นด้วยเช่นกัน” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ