กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
การที่ชุมชนจะมีบรรยากาศของการเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกๆ คน อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ เพราะในมุมมองของชาวบ้านจากตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดลำปางกลับเห็นว่าความสุขที่แท้จริงเกิดจากความเข้มแข็งของคนในชุมชนจนนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ ไม่ใช่แค่วัตถุนิยมที่เป็นเพียงความสุขฉาบฉวยซึ่งสร้างสีสันให้ชีวิตเพียงครั้งคราว
แนวคิดดังกล่าวเป็นหลักการในการบริหารงานของ “เทศบาลตำบลเกาะคา” อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ที่มีเป้าหมายมุ่งสร้างเมืองน่าอยู่ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ด้วยการขับเคลื่อน “โครงการร่วมสร้างเมืองน่าอยู่ด้วยพลังเครือข่ายท้องถิ่น” มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 โดยมุ่งใช้เน้นไปที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ปูทางสร้างจิตสำนึกสาธารณะร่วมกันของคนในชุมชน ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน “เทศบาลตำบลเกาะคา” ได้สนับสนุนให้ชุมชนทั้ง 7 หมู่บ้านในเขตเทศบาลร่วมกันถอดบทเรียนจากกิจกรรมในแต่ละศูนย์เรียนรู้ของแต่ละชุมชน ภายใต้โครงการ “ต้นแบบตำบลสุขภาวะ” เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนในตำบลเกาะคา และชุมชนอื่นๆ ในเขตภาคเหนือจำนวน 60 แห่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้แต่ละท้องถิ่นเป็นเมืองน่าอยู่ภายใต้บริบททางสังคมของตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
น.ส.เพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า จุดเด่นของเทศบาลตำบลเกาะคาที่เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้มาเรียนรู้คือ การเป็นเมืองน่าอยู่ใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจคือการที่คนมีงานทำ ด้านสังคมคือคนมีความเอื้ออาทรเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ด้านการเมืองคือคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของหรือที่เรียกว่าการเมืองภาคพลเมือง และด้านสิ่งแวดล้อมคือการเป็นต้นแบบในการจัดการขยะ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน แต่การจะทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ได้จะต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกันเป็นลำดับแรก
“เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ทางความคิดในทุกชุมชน โดยให้แต่ละชุมชนได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมอย่างอิสระ โดยพื้นที่ที่สามารถสร้างการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมได้ง่ายที่สุดคือ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ที่สมาชิกในชุมชนจะได้มาจับกลุ่มอ่านหนังสือพิมพ์ ค้นคว้าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ตั้งวงเล่นดนตรี และเล่นกีฬาด้วยกัน เมื่อเกิดการรวมตัวตั้งแต่ 2-3 คน ขึ้นไปก็จะเกิดการเปิดประเด็นพูดคุยเรื่องของตนเองไปจนถึงเรื่องของประเด็นสาธารณะ ความมีจิตสาธารณะและจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชนก็เริ่มเกิดขึ้นจากตรงจุดนี้” น.ส.เพ็ญภัค อธิบาย
นายจำเนิน จำปา รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา กล่าวว่า ปัจจุบันเทศบาลตำบลเกาะคา ได้ถอดบทเรียนของทุกชุมชนออกเป็น 8 ระบบ 33 แหล่งเรียนรู้ โดย “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านไร่อ้อย” เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่มีเอกลักษณ์และมีความเข้มแข็งสูง มีการร่วมคิดร่วมสร้างแผนชุมชน โดยใช้ “เวทีข่วงผญ๋า” เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทางความคิด เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ข่วงผญ๋า” เป็นภาษาเหนือแปลว่า ลานความคิด (ข่วง แปลว่า ลาน , ผญ๋า แปลว่า ความคิด) ลานความคิดของแต่ละหมู่บ้านจึงเป็นเวทีที่ทุกคนจะได้ร่วมนำเสนอและกำหนดประเด็นปัญหาได้อย่างอิสระ เมื่อค้นพบประเด็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ทุกคนจะร่วมกันสรุปต้นเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมจัดทำเป็นแผนชุมชน แล้วนำเสนอต่อเวทีประชาคมที่ได้เชิญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังและสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาที่สามารถทำได้จริง ก่อนนำแผนดังกล่าวไปปรับใช้ในชุมชน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
นางสาวนัจพันธ์ ใจดี หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เทศบาลตำบลเกาะคา กล่าวว่า จากการทำเวทีข่วงผญ๋าโดยศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านไร่อ้อย มีประเด็นปัญหาสำคัญหลายเรื่องที่ต่อมาได้รับการประกาศเป็นเทศบัญญัติของเทศบาลฯ ก่อนจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการคืนให้แก่ชุมชน อาทิ โครงการเกี่ยวกับเด็กและสตรี และโครงการเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น
“มีเทศบัญญัติหลายเรื่องเช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุเด็กและสตรีเทศบาลตำบลเกาะคา ที่ทางเทศบาลตำบลเกาะคา ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกทารุณกรรมและถูกทำร้ายทางเพศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชน โดยในเวทีข่วงผญ๋าชาวบ้านทุกคนตระหนักว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ จึงได้ขอความช่วยเหลือมายังเทศบาลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา แม้จะมีหลายขั้นตอน แต่ชุมชนก็ไม่ย่อท้อที่จะร่วมผลักดันแผนชุมชนไปสู่นโยบายของท้องถิ่นให้ได้” นางสาวนัจพันธ์ อธิบาย
นางสง่า ภูระเก วัย 55 ปี ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านไร่อ้อย และนักวิจัยชุมชน กล่าวว่า จากการเป็น อสม. มาตลอด 20 ปี พบว่าปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ คนในชุมชนจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดถึงรากเหง้าของปัญหา
“เมื่อมีการร่วมคิดร่วมทำจากความรู้สึกจิตสาธารณะ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้แบบไม่พลาดเป้า และเมื่อแผนชุมชนที่ทุกคนช่วยกันทำ ถูกนำไปประกาศเป็นเทศบัญญัติเพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อภาคสังคมโดยรวมอย่างประเด็นเด็กและสตรี ก็ยิ่งทำให้คนในชุมชนมีความเป็นจิตสาธารณะมากยิ่งขึ้น เพราะภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา และทำให้ถิ่นกำเนิดมีความปลอดภัยและน่าอยู่” นางสง่ากล่าว
“ข้อดีของการทำเวทีข่วงผญ๋า นอกจากจะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนอย่างได้ผลแล้ว ยังเป็นการตัดทอนขั้นตอนที่ยุ่งยากจากการรอให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้การช่วยเหลือ เพราะอาจแก้ไขปัญหาได้ไม่ทันการณ์และไม่ตรงจุด ซึ่งการทำเวทีข่วงผญ๋าของศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านไร่อ้อยได้มีการถอดเป็นบทเรียนสำหรับให้ชุมชนอื่นได้มาเรียนรู้กระบวนการและนำไปปรับใช้กับชุมชนของตนเองได้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นเมืองน่าอยู่ร่วมกัน โดยหัวใจสำคัญก็คือการที่ทุกคนในชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของท้องถิ่น” หัวหน้าโครงการฯ กล่าวสรุป.