กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
กรมสุขภาพจิตจัด “การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Strategic Planning Workshop on Mental Health” ขึ้นในประเทศไทยในฐานะที่ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียนให้เป็นผู้นำในงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช มติจากที่ประชุมในกลุ่มประเทศสมาชิกพร้อมใจยกไทยให้เป็นประธานคณะทำงานด้านสุขภาพจิตของอาเซียน ผลจากการที่ประเทศไทยได้ผลักดันให้มีการจัดประชุมคณะทำงานสุขภาพจิต ขึ้นเป็นครั้งแรกในอาเซียน
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความเป็นมาของ “การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Strategic Planning Workshop on Mental Health” ว่าจากผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 10 และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางปี 53 ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำในภาคีเครือข่ายความร่วมมือใหม่ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในประเทศภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับอาเซียนในฐานะเป็นประเทศที่มีการจัดการงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชอย่างเป็นระบบและมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกเครือข่ายในลำดับที่ 7 จากจำนวนสมาชิก 10 ประเทศ
นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้พัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน ให้งานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเจริญก้าวหน้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้สมกับที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประเทศผู้นำในงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Strategic Planning Workshop on Mental Health ขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน — 1 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริหารและนักวิชาการที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของกลุ่มประเทศอาเซียน ได้มีโอกาสพบปะหารือ ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชซึ่งกันและกัน เพื่อการจัดตั้ง ASEAN Mental Health Task Force (AMT) ของประเทศกลุ่มอาเซียนในการทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชร่วมกัน โดยมีการวางแผนดำเนินงานระยะยาว 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่าในที่ประชุมวันสุดท้ายได้มีการแต่งตั้งให้ประเทศไทยเป็นประธานของคณะทำงานสุขภาพจิตของอาเซียน โดยมีประเทศอินโดนีเซียเป็นรองประธานและจะเป็นประธานต่อจากประเทศไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้ผลักดันให้มีการจัดประชุมคณะทำงานสุขภาพจิตอาเซียนขึ้นเป็นครั้งแรกเพิ่มจากคณะทำงานด้านอื่นซึ่งมีมานานแล้ว เช่น เรื่องอาหารและยา เรื่องวัคซีน เรื่องยาต้านไวรัส เป็นต้น และคิดว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้ความช่วยเหลือประเทศที่ไม่พร้อม เช่น ลาว เขมร พม่า กัมพูชา ได้เข้ามาร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย โดยไทยจะเป็นประธานคณะทำงานนี้อยู่ 2 ปี นับตั้งแต่ปีปัจจุบันเป็นต้นไป และจะมีการจัดประชุมกันทุกปี ในปีนี้จัดที่ประเทศไทย ส่วนปีหน้าจะจัดประชุมที่เวียดนามในเดือนมีนาคม โดยมีอธิบดีกรมสุขภาพจิตของประเทศไทยเป็นประธานคณะทำงานการประชุมทั้ง 2 ครั้งนี้ด้วย
โดยข้อสรุปจากที่ประชุมครั้งนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่กลุ่มประเทศอาเซียนได้ตกลงที่จะทำร่วมกัน และเตรียมที่จะนำเสนอในการประชุมของปลัดกระทรวงสาธารณะสุข 10 ประเทศ ที่ประเทศพม่า ในวันที่ 25 — 28 ก.ค. นี้ เพื่อเตรียมวาระไปสู่การประชุมรัฐมนตรีสาธารณะสุขอาเซียนในกลางปีหน้าในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนมีข้อตกลงร่วมกันอยู่ประมาณ 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือจะมีการสนับสนุนให้เครือข่าย 10ประเทศ ร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ให้สัมพันธภาพระหว่างผู้นำงานด้านสุขภาพจิตมีความกระชับแน่นแฟ้นขึ้น เพื่อจะได้ศึกษาจุดเด่นของแต่ละประเทศและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะแต่ละประเทศก็มีจุดแข็งและจุดต้องปรับปรุงแตกต่างกันไป เรื่องที่ 2 คือในการประชุมจะมีการนำเสนอบทเรียนที่สำคัญของแต่ละประเทศ ให้แต่ละประเทศได้ทำความรู้จักกัน จากสภาพปัญหาอุปสรรค์ที่คล้ายคลึงกัน ช่วยให้ประเทศต่างๆสามารถเรียนรู้จากกันได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีความก้าวหน้าในงานด้านสุขภาพจิต เช่น ไทย อินโดนนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และฟิลิปปินส์ ก็พร้อมที่จะจับมือกันช่วยเหลือประเทศที่เหลือในอาเซียน ได้แก่ ลาว พม่า เขมร กัมพูชา ให้ไปด้วยกันได้ส่วนเรื่องที่ 3 คือเรื่องของการทำฐานข้อมูลความรู้และการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตร่วมกัน
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่ออีกว่าในปี 2554 นี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับการรณรงค์ที่การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพจากปัจจัยทั้ง 4 ได้แก่ การออกกำลังกาย ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวที่ 5 ซึ่งเป็นเรื่องที่เครือข่ายด้านสุขภาพจิตต้องการให้มีการผลักดันเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความเครียดเข้าร่วมในกลุ่มด้วย โดยเน้นการป้องกันโรคจิตเวชเป็นหลักและจะมีการกำหนดบทบาทและยุทธศาสตร์ร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิกเครือข่ายและจะผลักดันเข้าสู่วาระการประชุมสหประชาชาติครั้งต่อไป
สำหรับหรับแนวทางในการจัดการความเครียดนั้น ทางมาเลเซียได้เสนอการรณรงค์ที่มีชื่อว่า ASEAN Happy Mind Day เลียนแบบวันไข้เลือดออกของอาเซียน ในส่วนของประเทศไทยก็ได้ เสนอเรื่องของโครงการคืนสู่ชีวิตใหม่ของผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรังที่ถูกกักขังล่ามโซ่ หรือแก้ผ้าอยู่ตามท้องถนน ให้เขาได้คืนชีวิตเป็นคนปกติ มีอาชีพและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่ทุกประเทศต่างก็เห็นด้วยว่าประเทศไทยได้เสนอเรื่องนี้เป็นรูปธรรมมากและรู้สึกว่าเป็นปัญหาต่อประเทศของตนด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยได้มีการนำเสนอนวัตกรรมที่นำมาใช้การจัดการความเครียด คือเรื่องของการฝึกหายใจคลายเครียด เรื่องของการออกกกำลังกายตามมาตรฐานสาธารณสุข การให้การปรึกษาเมื่อมีความเครียด รวมทั้งได้เสนอในเรื่องของจิตสาธารณะ คือ การทำใจ ทำกาย และทำบุญ ซึ่งกลุ่มอาเซียนก็ได้เห็นร่วมกันว่าน่าจะมีวันหนึ่งที่มีการประกาศกันทั้งอาเซียน และทุกคนก็จะรณรงค์พร้อมกัน โดยคิดว่าจะพยายามให้เป็นวันเดียวหรือใกล้เคียงกับวันสุขภาพจิตโลก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอเพื่อรออนุมัติจากที่ประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองหลวงของประเทศพม่าในวันที่ 25 — 28 ก.ค.นี้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025822965 กรมสุขภาพจิต