กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ.ชนเมธ เตชะแสนสิริ
หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบ และโรคปอดบวมในเด็ก นอกจากนั้นเชื้อนิวโมคอคคัสยังทำให้เกิดไอพีดีได้ เชื้อทั้งสองเชื้อนี้อาจพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของคนเราทั่วไป โดยที่ไม่เกิดโรคใดๆ แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ 2 เชื้อร้ายนี้ก็อาจจะก่อให้เกิดโรคอันตรายได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ จะมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อมากที่สุด
1. โรคหูชั้นกลางอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักมองข้าม โดยไม่ทราบว่า 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีมีโอกาสเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง โรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ให้สังเกตว่าเด็กจะมีอาการปวดหู เจ็บหู เอามือจับหรือกุมหูบ่อยๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะทำให้เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือหูน้ำหนวกได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการที่สมบูรณ์ของลูกน้อย
เนื่องจากหูอยู่บริเวณฐานสมอง และมีช่องทางเชื่อมถึงกันได้หมดตั้งแต่สมองจนถึงปอด ดังนั้นหากเด็กเป็นหูชั้นกลางอักเสบ การที่เชื้อจะกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ จึงเป็นเรื่องง่าย เช่น จากหูไปสมองทำให้เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองได้
2. โรคปอดบวม ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า โรคนี้ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตมากที่สุด เป็นอันดับ 1 ในแต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตถึง 2 ล้านคน โดยเด็กที่ป่วยจะมีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หรือมีเสียงผิดปกติขณะหายใจ หากปล่อยไว้อาจจะนำไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลวหรือภาวะช็อกได้
3. โรคไอพีดี เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อนิวโมคอคคัส ทำให้ลูกน้อยมีโอกาสพิการ และเสียชีวิตสูงมาก ประกอบด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โดยเด็กมักมีไข้สูง ซึมหรืองอแง ชัก พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากลูกมีอาการผิดปกติรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
การป้องกันลูกน้อยจาก 2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตรายนี้ พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการพาเข้าไปที่แออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดูแลความสะอาดเครื่องใช้ของลูกน้อย ล้างมือบ่อยๆ ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม นอกจากนี้ปัจจุบันมีวัคซีนไอพีดี พลัส ปอด-หูอักเสบ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรครุนแรงเหล่านี้ โดยจัดเป็นวัคซีนเสริมที่คุณพ่อคุณแม่อาจพิจารณาให้ลูกน้อยได้