กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
กรมส่งออกฯแนะร่วมแจมงานแฟร์โชว์สินค้าป้องกันภัยพิบัติ ชี้ผู้ประกอบการต้องเน้นมาตรฐานสูง ได้รับการรับรองเพิ่มความมั่นใจกลุ่มเป้าหมาย ตลาดสหรัฐฯตื่นตัวภัยพิบัติโลก 2 ทศวรรษคนเดือดร้อนราว 4 พันล้านคนทั่วโลก ส่งผลถึงจีดีพีชะงัก
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปี 2553 และ 2554 รวมทั้งภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีรองรับและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรองรับภัยพิบัติ ดังนั้นจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุปกรณ์การป้องกันภัยและรักษาความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้นในทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ
“สหรัฐฯเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับมาตรการการป้องกันความปลอดภัยต่อสินค้าอุปโภค/บริโภค ที่ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบ มาตรฐาน ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หากพบว่า สินค้าไม่มีความปลอดภัย ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ สินค้าจะถูกเรียกเก็บทันที และสั่งห้ามมิให้มีการจำหน่ายในตลาด จนกว่าจะมีการปรับปรุง ผ่านการทดสอบว่า ปลอดภัย หรือหากสินค้านั้น ทำให้ผู้ใช้ได้รับบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต ฯลฯ ผู้ผลิตอาจจะถูกฟ้องร้องทางกฏหมายอีกด้วย” นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้การขยายตลาดสินค้าและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ควรพิจารณาในมาตรฐานของอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ สินค้าต้องผลิตได้มาตรฐาน และ ได้รับการรับรองจาก องค์กรอิสระ เช่น UL หรือ Intertek หรือการรับรอง อาทิ จากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯ นอกจากนั้นแล้ว ใบประกันรับรองสินค้าจะทำให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจต่อสินค้า ยิ่งขึ้น
“ขณะที่รายงานภัยพิบัติโลก (World Disaster Report) ชี้ว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีผู้ประสบภัยพิบัติทั่วโลก 4 พันล้านคน มีผู้เสียชีวิต 2 ล้านคน ซึ่งภัยพิบัติขนาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันลดลง การลงทุนหยุดชะงัก งบประมาณและเงินทุนถูกใช้ในการฟื้นฟูความเสียหาย โดยธนาคารโลกระบุว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทำให้รายได้ประชาชาติ(จีดีพี)ของประเทศต่างๆ ลดลง 1-15%”นางนันทวัลย์ กล่าวและว่า แม้ในสหรัฐฯจะมีหน่วยงานจัดการภัยพิบัติระดับชาติ คือ Federal Emergency Management Agency หรือ FEMA และญี่ปุ่นมีสภาการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระบบป้องกันภัยที่ได้เตรียมพร้อมและมีประสิทธิภาพสูง ยังไม่บรรเทาความเสียหายนั้นให้ลดลงได้
นางสมรรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยาผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทยควรให้ความสำคัญด้วยการให้การสนับสนุนเงินทุนด้านวิจัย ทดสอบมาตรฐาน สินค้า หรือด้านการตลาด เพื่อเป็นการผลักดันให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าปลอดภัย และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการส่งออก ซึ่งจะเห็นได้ว่าความต้องการสินค้าอุปกรณ์การป้องกันภัยและรักษาความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น
“ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่สนใจจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้ามหกรรมความปลอดภัย (Safety Exposition) สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.asse.org การจัดงานฯจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน 2555 ณ เมือง เดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ”นางสมรรัตน์ กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปเยี่ยมชมเพื่อทดสอบตลาด มีรายงานผลของการจัดงานที่น่าสนใจในปีนี้ ดังนี้ ภายในงานมีบริษัทที่นำเสนอเทคโนโลยีด้านนี้เกือบ 500 บริษัท ในขณะที่มีผู้เข้าชมงานกว่า 5,500 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 41% ซึ่งผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่เป็นคนอเมริกันจากกลุ่มอาชีพ/ภาคธุรกิจ/ อุตสาหกรรมที่สำคัญๆ อาทิ ตำแหน่งผู้อำนวยการ ผู้จัดการ,วิศวกร และมีอำนาจในการสั่งซื้อสินค้า โดยอยู่ในทุกแถบจะทุกสายธุรกิจหลัก อาทิ การผลิต ภาครัฐ/บริหาร ธุรกิจก่อสร้าง บริการ การเงิน การประกันภัย สื่อสาร สาธารณูปโภค เป็นต้น และถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูง โดยคาดว่าภายใน 1 ปี ธุรกิจเหล่านี้เกือบ 30% จะมีแผนใช้งบประมาณซื้อสินค้าต่อเนื่องงานนี้มากกว่า 1 แสน — 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนที่เหลือมีแผนการใช้เงินเช่นกันแต่น้อยกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐฯ
อนึ่งสำหรับสถิติที่น่าตกใจที่รวบรวมในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2551 ภัยภิบัติที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วมจำนวน 1,050 ครั้ง ไฟป่า 77,000 ครั้ง พายุทอร์นาโด 1,156 ครั้ง พายุเฮอริเคน กว่า 10 ครั้ง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 568 คน จำนวนการเกิดขึ้นในอัตราสูงในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความสูญเสียมาก และแนวโน้มจะทวีความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายและถือเป็นภัยคุกคามใหม่ที่ทุกประเทศต้องเผชิญ