กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สวทช.
สวทช. เปิดตัว ‘โครงการ SPI @ ease Program’ ยกระดับซอฟต์แวร์ไทย สู่มาตรฐาน CMMI โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
2 หน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผนึกกำลัง จัด “โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ SPI @ ease Program” ขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ภายใต้มาตรฐาน CMMI ตั้งเป้าขั้นต่ำ 15 บริษัท ภายใน 3 ปี โดยโครงการ iTAP ให้เงินสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายแก่บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการสูงสุดถึงร้อยละ 70 เป็นที่ยอมรับกันว่า‘อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์’นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงมากและมีบทบาทสำคัญต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต แต่ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพนั้นจะต้องผลิตจากบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานที่ดี และมาตรฐานที่ว่านั้นต้องเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งมาตรฐานหนึ่งที่เรียกว่า “ Capability Matulity Model Integration : CMMI ” เป็นแนวทางพัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงวิธีการวัดหรือประเมินกระบวนการผลิตที่ทำให้ซอฟต์แวร์มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ของอุตสาหกรรมผลิตซอฟต์แวร์ จึงร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช. จัดทำ “โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ SPI @ ease Program” ขึ้น โดยได้มีการจัดสัมมนาเปิดตัวโครงการพร้อมชี้แจงรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการให้กับบริษัทซอฟต์แวร์ไทย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ ห้องออดิทอเรี่ยม อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยเข้าร่วมรับฟังกันเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร. สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ไทย และเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถได้รับการประเมิน และได้รับการรับรองมาตรฐาน CMMI เนื่องจากปัจจุบัน มีบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ไทยที่ได้รับการประเมินและผ่านการรับรองมาตรฐาน CMMI เพียง 3 รายเท่านั้น อันเป็นผลมาจากความไม่พร้อม โดยเฉพาะเรื่องของเงินทุน เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก ปัจจัยดังกล่าว ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพของซอฟต์แวร์ไทย
“ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้น เบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายให้การสนับสนุนแก่บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 15 บริษัท โดยบริษัทซอฟต์แวร์ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้ 1.ต้องเป็นบริษัทที่มีคนไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51 % ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเกินความคาดหมาย 2.ต้องมีบุคลากรทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์ ( Programmer) ไม่ต่ำกว่า 20 คน 3. ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี และยื่นชำระภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญ จะต้องเป็นบริษัทที่มีความตั้งใจจริงในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง และเข้ารับการประเมินตามมาตรฐาน CMMI โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2550 -2552” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
สำหรับบริษัทซอฟต์แวร์ที่ได้รับการสนับสนุนในโครงการดังกล่าว จะได้รับเงินสนับสนุน 70 % ของค่าใช้จ่ายในการอบรม , การให้คำปรึกษา และการประเมินที่เกิดขึ้นจริงจากโครงการ iTAP และให้ความช่วยเหลือทางด้านการบริหารจัดการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระให้กับภาคเอกชน และเพื่อเป็นแรงจูงใจให้บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ของไทยหันมาพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในเรื่องของการพัฒนากระบวนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้าน ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโส เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน CMMI เป็นกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย Software Engineering Institutle (SEI) แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศต้องส่งเสริมให้บริษัทผู้ผลิตแลพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศหันมาให้ความสนใจ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับสากล นอกจากนั้นยังเป็นการวางรากฐานในการยกระดับขีดความสามารถของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ไทยให้พร้อมแข่งขันในเวทีการค้าเสรี และในระดับสากล
“ แนวทาง CMMI ถือเป็นต้นแบบของกระบวนการปรับปรุงการทำงานเสริมกระบวนการการทำงานหลักขององค์กร เพื่อทำให้กระบวนการทำงานหลักมีขีดความสามารถดีขึ้น มีการทำงานที่ชัดเจน และมีการปรับปรุงได้อย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้มีกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการะบวนการหลักต่างๆมีความเข็มแข็งมากขึ้น รวมถึงสามารถตรวจสอบได้ทุกกระบวนการในการทำงานขององค์กร จึงเป็นระบบที่มีผู้นำไปใช้อย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน CMMI นอกจากจะนำมาใช้สำหรับงานด้านการพัฒนาระบบแล้ว ยังมีการนำมาประยุกต์ใช้สำหรับงานด้านบริการได้อีกด้วย”
นางสาวชไมพร พรพฤทธิอนันต์ รองผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า “การที่ได้เงินช่วยเหลือจากโครงการ iTAP เข้ามาสนับสนุนโครงการดังกล่าว จะทำให้จูงใจและกระตุ้นผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ของไทยเข้าสู่มาตรฐาน CMMI มากขึ้น เนื่องจากผู้ที่ผ่านการประเมินและผ่านการรับรองมาตรฐาน CMMI ได้นั้น จะต้องใช้ความอดทน เพราะนอกจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ที่ผ่านมาไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทผลิตซอฟต์แวร์มากนัก จึงหวังว่า การจัดโครงการครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และเป็นแรงจูงใจให้บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ไทย เข้ามาร่วมโครงการฯ กับทางซอฟต์แวร์พาร์ค เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และเพื่อให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยเติบโตและก้าวหน้าต่อไปในที่สุด รวมทั้งต้องการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ในประเทศ เพิ่มมากขึ้นจากโครงการนี้”
สำหรับบริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองมาตรฐาน CMMI ได้แก่ บริษัท รอยเตอร์ ซอฟต์แวร์ ประเทศไทย จำกัด , บริษัท CSI ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท อัพวาแลนท์ จำกัด โดย นายอัตรพล บุญวรเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อัพวาแลนท์ จำกัด กล่าวยอมรับว่า “สาเหตุที่บริษัทฯ ต้องการทำมาตรฐานดังกล่าว เพื่อต้องการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ และที่เลือกมาตรฐาน CMMI เข้ามาใช้ในการปรับปรุงากระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ของบริษัทฯ เพราะเห็นว่าเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากที่สุด”
ขณะที่ นายพิชัย ลีลุเดช Productivities Improvement Department Manager บริษัท CSI ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์นั้น มาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต้องการให้บริษัทเป็นบริษัทที่อยู่แถวหน้าและเติบโตในธุรกิจนี้อย่างมั่นคง จึงให้ความสนใจทำ CMMI ก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับ ดังนั้น หากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์รายใดที่ไม่ทำ CMMI จะทำให้ไม่สามารถเติบโตหรือขยายตัวออกไปแข่งขันกับตลาดโลกที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นได้
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าโครงการสามารถ download ใบสมัครได้ที่ www.swpark.or.th/spi@ease และจัดส่งพร้อมเอกสารประกอบการสมัครมาที่ SPI Center เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย 99/31 ชั้น 4 อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 ( ปิดรับสมัครวันที่ 20 เมษายน 2550 )
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net