สรุปการสัมมนา “สื่อเสรี...ความเป็นไปได้ในสังคมไทย?”

ข่าวทั่วไป Thursday March 22, 2007 10:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--สป.
วันที่ 21 มี.ค. 50 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยคณะทำงานสื่อสารกับสังคม ได้จัดสัมมนา เรื่อง “สื่อเสรี ... ความเป็นไปได้ในสังคมไทย” ณ อาคารพญาไทพล่าซา โดยมี ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เป็นวิทยากร และนายธีรพันธ์ นาทีกาญจนลาภ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร. สมเกียรติฯ ได้นำเสนอความแตกต่างระหว่างสื่อของรัฐ สื่อพาณิชย์ สื่อสาธารณะ และสื่อเสรี ในเรื่องของใครเป็นเจ้าของ และการดำเนินงาน โดยสื่อของรัฐจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐ สื่อพาณิชย์เสมือนการตลาดที่เน้นกำไรสูงสุด มักจะถูกแทรกแซงโดยกลุ่มทุน ส่วนสื่อสาธารณะจะพิจารณาได้จากการที่สื่อสาธารณะมองพลเมืองเป็นเจ้าของประเทศ และดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ปราศจากการแทรกแซงจากทั้งรัฐและกลุ่มทุน นอกจากนั้น สื่อสาธารณะจะเชื่อมกับผู้ชมโดยผ่านโทรศัพท์ และจะให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของสังคม
สำหรับสื่อเสรีจะเป็นสื่อที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ แต่มีรายได้จากการโฆษณา ทำให้ไม่มีอิสระจากกลุ่มทุนและไม่ถือเป็นสื่อเสรีอย่างแท้จริง เช่น ITV เนื่องจากกลุ่มทุนเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง และมีการขยายหรือผสมผสานบทบาทเข้าไปมีอิทธิพลต่อสื่อ เช่น กลุ่มทุนทางการเกษตร กลุ่มทุนข้ามชาติ กลุ่มทุนโทรคมนาคม ทำให้สื่อเสรีเป็นอิสระจากรัฐ แต่ไม่ได้เป็นอิสระจากกลุ่มทุน การดำเนินงานจึงไม่เป็นกลาง และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม แต่จะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุน หรือดำเนินงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จะเห็นได้จากกรณีไอทีวีที่มิได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ทีวีนำเสนอรายการที่มีสาระ 70 % และรายการบันเทิง 30 % โดยนำรายการประเภทบันเทิงบางรายการ ไปจัดอยู่ในกลุ่มของรายการสาระ
สำหรับทีวีเสรี เป็นส่วนหนึ่งของสื่อสาธารณะ เป็นอิสระในการดำเนินงาน ปลอดจากการแทรกแซงของรัฐ ของกลุ่มทุน ประเทศไทย วิธีที่จะทำให้ทีวีออกจากกลุ่มทุน คือ ออกกฎหมายเก็บภาษีจากการดูรายการทีวี ก็จะไม่มีการโฆษณา ทำให้สื่อมีความเป็นเสรีโดยแท้
กรณีสื่อยักษ์ใหญ่ ( ไทม์) ได้รับผลกระทบจากกลุ่มทุน ทำให้เสนอข้อมูลข่าวสารไม่เป็นกลาง และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุน ดังนั้น หากสื่อยักษ์ใหญ่ ยังได้รับผลกระทบจากกลุ่มทุน แล้วสื่อเล็กๆ จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร
การแก้ไขปัญหาไอทีวี ดร. สมเกียรติ เห็นควรว่า ควรที่จะมีทีวีเสรี เช่น ไอทีวี แต่ที่ผ่านมาไอทีวี ถูกออกแบบมาผิด ควรมีการปรับรูปแบบการดำเนินการใหม่ และต้องพิจารณาประเด็นที่ไอทีวี มีรายได้จากการโฆษณา ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกลุ่มทุนได้ ย่อมถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน หากเป็นไปได้ในประเทศไทย ควรจะมีทีวี 2 ช่อง ในประเทศไทย ที่เป็นทีวีเสรี เช่น ไอทีวี และมีทีวีสาธารณะ เช่น ช่อง 11 ดังนั้น ไอทีวีกำหนดทิศทาง การดำเนินงานภายใน 30 วันข้างหน้า ฝ่ายการเมืองควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายสื่อเสรี
ดังนั้น ถ้าเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเห็น ทีไอทีวี เป็นทีวีสาธารณะ ที่ปราศจากกลุ่มทุนได้จริง หรือควรแปลงช่อง 11 เป็น
ทีวีเสรี โดยต้องทำให้เกิดทีวีสาธารณะซึ่งรัฐจะต้องสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งต้องใช้งบประมาณ ปีละ 1,000 - 1,700 ล้านบาท จากนั้นทำเป็นทีวีเสรีซึ่งรัฐบาลจะทำการประมูล โดยนำเงินประมูลเข้ารัฐ ซึ่งจะทำให้รัฐมีแรงจูงใจในการดำเนินการ
สื่อสาธารณะ ที่เป็นสื่อเสรีที่แท้จริง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะนี้ มีความรู้พอที่จะสร้างทีวีสาธารณะ มากกว่า การก่อตั้ง ไอทีวี เมื่อ 10 ปีก่อน ที่คนไทยอยากมีทีวีสาธารณะ แต่ไม่เข้าใจกระบวนการในการตั้ง โดยมี 4 ประเด็นที่จะนำเสนอ ดังนี้
1. นายกรัฐมนตรีควรแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทีวีสาธารณะประกาศ “วาระแห่งชาติด้านการปฏิรูปสื่อ”
2. คณะรัฐมนตรีด้านสังคม ควรนำร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
3. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ
4. ประชาชนควรรวมตัวกันอย่างน้อย 100,000 คน เพื่อเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เห็นว่า สื่อเสรี ไม่มีในโลก แต่ในความเป็นจริงสื่อเสรี เป็นสื่อที่ปลอดจากการแทรกแซงจากรัฐ และ
กลุ่มทุนมากที่สุด สามารถที่จะเกิดขึ้นได้แต่หากสังคมถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนก็จะทำให้ไม่มีสื่อเสรีที่แท้จริง แม้แต่ สื่อ USA ก็ถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุนเช่นกัน
สื่อเสรีของไทยในรูปแบบทีวีเสรี เน้นปราศจากจากการแทรกแซงของรัฐ เกิดจากผลพวงของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่มีการเรียกร้องให้มีสื่อเสรี เพื่อให้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงต่างๆ ต่อสาธารณะ ที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ แต่ไม่ได้กล่าวถึงการปราศจากกลุ่มนายทุน จึงได้มีการกำหนดให้เจ้าของสื่อเสรีมีหุ้นส่วนในกิจการ ไม่เกิน 10% ซึ่งผลตอบแทนที่ไอทีวี เสนอให้รัฐ สูงกว่า ทีวีช่องอื่นๆ ในประเทศ ต่อมามีการแก้ไขกฎหมาย ให้ผู้ถือหุ้น เกิน 10 % ได้ มีการนำไปขายควบรวมกับชินคอร์ป ทำให้ไอทีวีถูกแทรกแซงโดยกลุ่มทุนมากขึ้น และถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น
สื่อ ถือเป็นธุรกิจทุนที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ สื่อจึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการเสนอข่าวสาร วัฒนธรรมและการสร้างเอกลักษณ์ของชาติ การสร้างสื่อเสรีจึงมีความเป็นจำเป็นต่อสังคม ซึ่งสื่อเสรีที่ควรจะเป็น ควรปลอดจากการแทรกแซงของรัฐ และนายทุน ทำให้เกิดสื่อสาธารณะ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง
โครงสร้างการเป็นเจ้าของสื่อ สื่ออยู่ในความดูแลของราชการเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ กองทัพ และ อสมท. รวมทั้ง สื่อรัฐสภา ก็มีวิทยุเป็นขององค์กร ทำให้เกิดการถือครองสื่ออย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันการเกิดสื่อขึ้นมากมายที่อยู่นอกเหนือ ทำให้การควบคุมทำได้ยากมากขึ้น เช่น วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี วิทยุ แต่สังคมไทยเรียกร้องสื่อเสรีที่ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ กลุ่มทุน โดยต้องการสื่อสีขาว หรือสื่อที่เป็นอุดมคติ ซึ่งต้องไม่มีผู้ที่มีอำนาจอยู่เหนือสื่อที่จะทำให้ไม่มีสื่อที่จะมารับใช้สังคมอย่างแท้จริง ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการปฏิรูปสื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลได้ตั้ง กรรมการ 2 ชุด เพื่อกำหนดประเด็น เพื่อสอบถามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะนำไปกำหนดเป็นกฎหมายในการควบคุมวิทยุทีวี และเพื่อพัฒนาสื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมือง ซึ่งหากมีการผลักดันกฎหมายออกมาได้ จะทำให้มีการปฏิรูปสื่อได้ นอกจากนั้น ควรพูดถึง การทำให้สื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร และคนทำสื่อเอง ควรเป็นหลักในการดำเนินการ จึงควรที่จะกระตือรือร้นในการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง และมีความพร้อมในการทำสื่อสาธารณะ
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กล่าว่า วิกฤตด้านสื่อในประเทศไทย เกิดจากทีวี ที่มีการปิดกั้นสื่อ ด้านสื่อหนังสือพิมพ์อยู่ใน กลุ่มทุน ที่ช่วยในการสร้างความสมดุลของข่าว ควรมีการตรวจสอบการดำเนินงานกันเอง แต่หนังสือพิมพ์ ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เท่ากับทีวี ทีวี 4 ช่อง ส่วนใหญ่เกิดจากอำนาจรัฐ โดยให้สัมปทานกับผู้ที่เกี่ยวโยงกับเจ้าของสัมปทาน เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีอิทธิพลมากกว่าสื่อหนังสือพิมพ์ (ช่อง 3 - ช่อง 7) มีการใช้สื่อทีวีทุกช่อง เพื่อโน้มน้าวให้เชื่อถือการดำเนินงานของรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลชุดที่แล้ว ใช้พื้นที่ของช่องรายการทีวี ทุกช่วงเวลา ทุกรูปแบบ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน ทำให้อิทธิพลของสื่อทีวีเอกชน ทำให้สื่อเสรี ไม่สามารถสู้ได้
การปฏิรูปสื่อ ควรมองภาพรวมทั้งหมด ที่เป็นของรัฐ เอกชน การใช้คลื่นความถี่สาธารณะ ตามมาตรา 40 ทั้งนี้ การจัดสรรคลื่นความถี่ ตามมาตรา 39 และ 40 ควรมีการทำความเข้าใจกันใหม่ ควรมองทีวี ในรูปแบบใหม่ ที่สามารถเข้าถึงคนไทยได้มากขึ้น เช่น เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น (ที่เป็นความต้องการของท้องถิ่น ที่นอกเหนือจากการดูฟรีทีวี)
ปัจจุบัน ทีวีช่องที่เป็นธุรกิจของเอกชน คือ ช่อง 3-ช่อง 7 มีการผูกขาดของกลุ่มทุน การตลาด ทำให้สังคมถูกกำหนดจากรายการที่ทีวีทั้ง 2 ช่อง ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนควรมีทางเลือกมากขึ้น ในการเลือกชมจากทีวีสาธารณะ หรือทีวีช่องปกติในปัจจุบัน นอกจากนั้น ทีวีช่องบันเทิง ไม่มีข้อจำกัดในการนำเสนอรายการ ดังนั้น อุดมคติในการสร้างทางเลือกในการจัดตั้งทีวี โดยมีทั้งทีวีสาธารณะ และทีวีของภาคธุรกิจ ควรใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโทรคมนาคม ไม่ควรใช้เฉพาะระบบโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว ซึ่ง ทศท. ควรใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการสื่อสารของประเทศ
จากนั้น วิทยากรทั้ง 3 ได้นำเสนอในรอบ 2 สรุปได้ดังนี้
1. สื่อเสรีเป็นประเด็นสาธารณะจึงควรยกเป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะในวงวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
2. ควรกำหนดการค่าใช้จ่ายในการซื้อรายการในกรณีต่างประเทศ และควรซื้อรายการในประเทศเท่ากัน
3. ควรสร้างผู้ผลิตรายการและรายการสารคดี ในประเทศให้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากภาควิชาการและภาควิชาชีพให้เพิ่มมากขึ้น
4. ควรกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ในการกำหนดภาพรวมในการจัดตั้งทีวีสาธารณะ
5. แนวโน้มของภาคธุรกิจ มีการกำหนดหน้าที่ในความรับผิดชอบสังคมอยู่แล้วแต่จะสร้างจิตสำนึกต่อให้หน้าที่ความรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
6. กรณีทีไอทีวี เป็นเรื่องเล็กมาก ควรที่จะให้ความสำคัญต่อประเด็นการปฏิรูปสื่อทั้งระบบ
7. ควรมีกำหนดองค์กร เพื่อดูแลสื่อทั้งหมด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น กทช.
8. ควรให้ช่อง 11 เป็นทีวีสาธารณะที่ไม่มีโฆษณา และให้ออกจากกรมประชาสัมพันธ์ แต่ควรใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของช่อง 11 แต่หากช่อง 11 อยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ จะทำให้ไม่การเกิดทีวีสาธารณะได้เลย เพราะหากทีวีสาธารณะ พึ่งงบประมาณของรัฐ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้โดยปราศจากการแทรกแซงโดยรัฐ
9. ควรนำทีไอทีวีออกมาจาก สปน. โดยเร็วที่สุด รวมทั้ง ควรเสนอผู้เสนอผังรายการใหม่ ซึ่งประกอบด้วย รายการที่เป็นสาระ 70% รายการบันเทิง 30 %
10. ปัญหาใหญ่ของรายการทีวี คือ ต้องเสียค่าเวลาสูง ในการปรับเปลี่ยนผังรายการของช่องต่างๆ เช่น ช่อง 5 มีการปรับเปลี่ยนผังรายการทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้อำนวยการ
11. ควรมีข้อกำหนดการประมูลและการผลิตรายการ อย่างน้อย 3-5 ปี และให้มีโฆษณา เพื่อผู้ประกอบการสามารถที่จะคำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้
12. ควรตั้งกองทุนพัฒนาสื่อให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ