กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--เอสซีจี
ต่างชาติทึ่งเด็กไทยโชว์ฟอร์มสุดยอด สร้างชื่อหุ่นยนต์กู้ภัยโลกอีกครั้งiRAP_Judy จากพระนครเหนือฯ รักษาแชมป์โลกสมัยที่ 6 ให้ไทยสำเร็จทีมจากราชมงคลพระนครและราชมงคลรัตนโกสินทร์ คว้าอันดับ 3 และ 4
ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทย iRAP_Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างชื่อก้องโลกอีกครั้ง รักษาแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยให้ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 6 ในการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2011 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ด้วยผลงานโดดเด่นโดนใจผู้ชมทั้งสนาม ทำคะแนนนำตลอดตั้งแต่รอบคัดเลือกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ชนะทีมจากประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเยอรมัน โดยมีทีม Stabilize และทีม SUCCESS ครองอันดับสามและสี่ตามลำดับ ส่วนทีมจากอิหร่านได้อันดับสองและอันดับห้า ต่างชาติยกนิ้วชื่นชมในความสามารถเยาวชนไทย กำหนดเดินทางกลับถึงเมืองไทย วันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เวลา 13.15 น.
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทีมเยาวชนไทย iRAP_Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยได้อย่างสมศักดิ์ศรี นับเป็นการรักษาแชมป์โลกให้ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 6 ในเวทีหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก ทำคะแนนนำทิ้งห่างทีมอื่น ๆ ตลอดทุกรอบการแข่งขัน โดยในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศรวม 3 สนาม ทีม iRAP_ Judy สามารถค้นหาผู้ประสบภัยได้รวม 25 ราย มีคะแนนรวมสูงสุด 835 คะแนน ส่วนอันดับสองเป็นทีม MRL จากอิหร่าน มีคะแนนรวม 430 คะแนน อันดับสามทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีคะแนนรวม 405 คะแนน อันดับสี่ ทีม SUCCESS จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มีคะแนนรวม 395 คะแนน และทีม YRA จากอิหร่านได้อันดับที่ห้า เอสซีจี รู้สึกยินดีและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้ต่างชาติทึ่งและยอมรับในศักยภาพและความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันรอบรองชนะเลิศและชิงขนะเลิศในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยอย่างแท้จริง โดยในรอบรองชนะเลิศมีทีมที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 8 ทีม ได้แก่ ทีม iRAP_Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทีม SUCCESS จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทีม MRL และทีม YRA จากอิหร่าน ทีม SEU-REDSON จากจีน ทีม CASualty จากออสเตรเลีย และทีม UP จากเม็กซิโก ซึ่งแต่ละทีมจะต้องลงแข่งขันเก็บคะแนนทีมละ 2 สนาม เพื่อคัดเลือก 5 ทีมที่มีคะแนนสูงสุดผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยทีม iRAP_Judy ซึ่งทำคะแนนนำมาตลอด ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำคะแนนสูงสุดลอยลำเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ พร้อมด้วยทีม SUCCESS และทีม Stabilize จากประเทศไทย ส่วนอีก 2 ทีมเป็นทีมจากประเทศอิหร่าน คือ ทีม MRL และทีม YRA โดยในรอบชิงชนะเลิศ ทีม iRAP_Judy ยังคงสร้างผลงานโดดเด่นโดนใจผู้ชมทั้งสนาม ทำคะแนนนำสูงสุดและคว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกสมัยที่ 6 ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งการเป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่การรักษาแชมป์โลกสมัยที่ 6 เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า เพราะคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ มีความสามารถและความพร้อมสูง ทั้งยังเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยี และทีมเหล่านี้ได้ให้ความสนใจบันทึกภาพและข้อมูลทีมไทยเพื่อนำไปศึกษาด้วย ทางสมาคมฯ รู้สึกภูมิใจในความสามารถเด็กไทยอย่างมาก และจะต่อยอดการพัฒนาหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานด้านต่าง ๆ ในอนาคตต่อไป
นายวาทิต ภูสุวรรณ หรือน้องแน่น หัวหน้าทีม iRAP_Judy นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจภายหลังได้รับชัยชนะว่า พวกเราทุ่มเทและเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขันมากกว่า 6 เดือน โดยทีมงานได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันเป็นอย่างดี ทำให้สามารถทำงานภายในเวลาอันสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังชัยชนะเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือ ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน และความรู้เพิ่มเติมที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกับทีมต่างชาติ หลังจากนี้ก็จะมีรุ่นน้องมาสานต่อองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถถนะหุ่นยนต์ให้ดีและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ด้าน นายกัญจนัศ แสนบุญศิริ หรือน้องแตม ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับหุ่นยนต์และงานเครื่องกล ทีม iRAP_Judy นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า รู้สึกดีใจมากที่สามารถรักษาแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 6 ให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ จากผลงานในสามวันที่ผ่านมา ทีมเรามีคะแนนนำทิ้งห่างจากทีมอันดับที่สอง และทีมอื่น ๆ ค่อนข้างมากในทุกรอบ ทำให้ไม่เกิดความกดดันในการบังคับหุ่นยนต์เท่าใดนัก แต่ทีมเราก็ไม่ประมาท เราทุกคนในทีมมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อรักษาตำแหน่งแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 6 ให้กับประเทศไทย พอเราทำได้สำเร็จก็รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก
World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup@Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยปีนี้ การแข่งขัน World RoboCup 2011 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 10 กรกฎาคม 2554 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี มีผู้สมัครเข้าแข่งขันรวมทุกประเภทกว่า 3,000 คน จาก 43 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าแข่งขันในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย 17 ทีม จาก 13 ประเทศ ทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย อิหร่าน จีน เม็กซิโก กรีซ อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ตุรกี และไทย โดยเอสซีจีสนับสนุน ทีม iRAP_Judy มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (แชมป์ประเทศไทย Thailand Rescue Robot Championship ปี 2553) เข้าร่วมการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยอีก 2 ทีมที่ส่งหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ ทีม SUCCESS จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และ ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
Thailand Rescue Robot Championship โครงการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม ที่เอสซีจีริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547 มีเป้าหมายในการสนับสนุน และส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ที่ผ่านมาเอสซีจีได้สนับสนุนทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมแข่งขันระดับโลกมาโดยตลอด และตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาได้ถึง 5 สมัยซ้อน