กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 16 ชัยนาท ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตความรับผิดชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูงระดับกลุ่มจังหวัด ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2554 เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระงับเหตุและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยหากเกิดอัคคีภัยในอาคารสูง
นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 16 ชัยนาท เปิดเผยว่า อัคคีภัยเป็นสาธารณภัยที่เกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดในชุมชนเมืองที่มีการก่อสร้างอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก จะก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัยในอาคารสูง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 16 ชัยนาท จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตความรับผิดชอบ ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ ฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูงระดับกลุ่มจังหวัด ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2554 ณ โรงพยาบาลสิงห์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ในรูปแบบการฝึกซ้อมแผนในที่บังคับการ โดยจัดประชุมเตรียมความพร้อมในการบูรณาการการฝึกซ้อมแผน การแบ่งมอบภารกิจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริง โดยจำลองสถานการณ์เพลิงไหม้ ณ ห้องผู้ป่วยพิเศษ ชั้น 5 (อาคาร 9 ชั้น) หลวงพ่อแพ เขมังกโร
โรงพยาบาลสิงห์บุรี และเพลิงได้ลุกลามไปยังห้องผู้ป่วยพิเศษ ซึ่งสถานการณ์มีความรุนแรงจนต้องประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยและระงับเหตุเพลิงไหม้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนฯ ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอัคคีภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยหากเกิดอัคคีภัยในอาคารสูง รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนได้ฝึกทักษะในการเข้าระงับเหตุและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่งผลให้สามารถนำแนวทางที่กำหนดตามแผนไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ระดับหนึ่ง