กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตความรับผิดชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ระดับจังหวัด ประจำปี 2554 ณ บ้านทับขอน หมู่ที่ 5 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เพื่อกำหนดแนวทางและขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานในการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือและระบบแจ้งเตือนภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องปลอดภัย
นายปริญญา จาติเสถียร ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการคาดการณ์ลักษณะอากาศฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ พบว่า มีปริมาณน้ำฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ ประกอบกับอาจมีพายุเคลื่อนตัวผ่าน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในช่วงฤดูฝน ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตความรับผิดชอบ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง นครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี 2554 ในรูปแบบการฝึกซ้อมแผนในที่บังคับการ โดยจัดประชุมซักซ้อม เตรียมความพร้อมในการฝึกซ้อมแผนฯ การประสานการปฏิบัติเมื่อเกิดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริง ในวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2554 ณ บ้านทับขอน หมู่ที5 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โดยการจำลองสถานการณ์จริง และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยและระงับเหตุตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนฯ ซึ่งการฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการกำหนดแนวทางและขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย รวมถึงประสานการปฏิบัติการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือและระบบแจ้งเตือนภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องปลอดภัยหากเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มในพื้นที่ อันจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022432200 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย