บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติแนวทางส่งเสริมสภาพคล่องหลักทรัพย์

ข่าวทั่วไป Thursday March 1, 2007 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ตลท.
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติอนุมัติแนวทางการส่งเสริมสภาพคล่องการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะทำงานร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สนับสนุนให้คำแนะนำเพิ่ม Free float แก่ บริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) ต่ำกว่าเกณฑ์ เผยแนวทางเพิ่มสภาพคล่องทำได้ทั้งการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน การแตกมูลค่าหุ้น หรือการจ่ายหุ้นปันผล ส่วนบริษัทที่มีปัญหา ให้เวลาแก้ไข 3 ปีก่อนย้ายไปอยู่ในกลุ่ม NPG หรือ Non Performing Group และขึ้นเครื่องหมาย SP ก่อนพิจารณาเพิกถอน พร้อมยกเลิก Call Market หวังกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเร่งแก้ไขปัญหา Free float
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ได้มีมติอนุมัติแนวทางในการส่งเสริมสภาพคล่องการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเห็นชอบให้มีการทำงานร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้คำแนะนำและสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหา เพื่อเพิ่มสัดส่วน Free float ของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสนอขายหุ้นต่อประชาชน การแตกมูลค่าหุ้น หรือการจ่ายหุ้นปันผล เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้บริษัทที่มี Free float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มความน่าสนใจแก่ตลาดหุ้นไทย และที่สำคัญคือไม่ส่งผลกระทบต่อ ผู้ถือหุ้นรายย่อย
“คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าการเพิ่มสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียนเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ในการเพิ่มสภาพคล่องของการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเพิ่มความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยต่อผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์กับบริษัทเอง ดังนั้น การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง การกำหนดแนวทางดูแลบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาเรื่อง Free float ของบริษัทที่ต่ำกว่าเกณฑ์ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพดี มีสภาพคล่องและเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น” นายสุทธิชัยกล่าว
สำหรับแนวทางดำเนินการกับบริษัทจดทะเบียนที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ (150 รายถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ15 ของทุนชำระแล้ว) นั้นจะยกเลิกมาตรการ Call Market (การจับคู่ซื้อขายโดยอัตโนมัติในคราวเดียว ณ ราคาเดียว) และให้ซื้อขายโดยระบบจับคู่ซื้อขายอัตโนมัติตามปกติ โดยจะให้เวลาบริษัท 3 ปี แก้ไขปัญหาก่อนที่จะย้ายบริษัทจดทะเบียนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ไปอยู่ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ภายในกำหนด (NPG หรือ Non Performing Group) โดยหากยังไม่สามารถแก้ไขได้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาเพิกถอนบริษัทดังกล่าวต่อไป
สำหรับแนวทางการดำเนินการกับบริษัทที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งให้บริษัทที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเมื่อครบปีที่ 1 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศ ชื่อบริษัท และเมื่อครบปีที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและขึ้นเครื่องหมาย NC (Non — Compliance) พร้อมทั้งหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวของบริษัท และหลังจากนั้น บริษัทจะมีเวลาอีก 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นับจากวันที่ประกาศให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน
หากบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ได้เมื่อครบปีที่ 3 จะมีการย้ายบริษัทไป NPG และขึ้นเครื่องหมาย SP จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากบริษัทตั้งใจที่จะแก้ปัญหา และหลักทรัพย์ของบริษัทยังมีสภาพคล่อง เป็นที่น่าสนใจของผู้ลงทุน ก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกย้ายเข้าไปในกลุ่ม NPG ทั้งนี้ บริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศชื่อจะต้องแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะๆ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา
สำหรับมาตรการใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศใช้นี้ จะขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนและเมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จะมีผลบังคับใช้กับบริษัทที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมด
ทั้งนี้ บริษัทที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์ 1 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศชื่อบริษัทดังกล่าว และให้ซื้อขายโดยระบบจับคู่ซื้อขายอัตโนมัติตามปกติ และให้เวลาแก้ไขภายใน 1 ปี หากไม่สามารถแก้ไขได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศว่าบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ส่วนบริษัทที่มี Free Float น้อยกว่า 1 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งบริษัทและ ให้เวลาแก้ไขตามขั้นตอนข้างต้นต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน 15 บริษัท ที่มี Free float ต่ำกว่าเกณฑ์มานานกว่า 1 ปี และซื้อขายในระบบ Call Market
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร.0-2229—2036 / ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร.0-2229—2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร.0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร.0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ