กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--วอลล์ ดิสนีย์ สตูดิโอ
“ผมโตขึ้นมากับความรักในรถยนต์และวัฒนธรรมรถยนต์ของแคลิฟอร์เนียตอนใต้
พ่อผมเป็นผู้จัดการฝ่ายอะไหล่ที่เชฟโรเล็ต ดังนั้น ‘Cars’ ก็เลยเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ สำหรับผม
ทั้งตัวละคร เมืองเล็กๆ ความรักและกำลังใจที่มีให้ต่อกันและกันของพวกเขา และวิถีชีวิตของพวกเขา
ผมหยุดคิดเรื่องของพวกเขาไม่ได้เลย ผมอยากจะเดินทางอีกครั้งไปยังสถานที่ใหม่ๆ ทั่วโลก และผมก็คิดว่า
หนทางในการเข้าสู่โลกใบนั้นน่าจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมรัก นั่นคือหนังสายลับ ผมอดไม่ได้ที่จะผสมผสานโลกสองใบที่แตกต่างกันของเรดิเอเตอร์ สปริงส์ และแวดวงสายลับระดับโลกเข้าด้วยกัน และนี่คือผลที่ได้ครับ”
--ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์
เกี่ยวกับงานสร้าง
พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์และวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ พร้อมลงสนามอีกครั้งใน “Cars 2” เมื่อไลท์นิง แม็คควีน ดาวเด่นแห่งโลกรถแข่ง (พากย์เสียงโดยโอเวน วิลสัน) และรถลากเพื่อนซี้ของเขา เมเตอร์ (พากย์เสียงโดยแลร์รี เดอะ เคเบิล กาย) ได้สตาร์ทเครื่องการผจญภัยครั้งใหม่ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก
ทั้งคู่ได้รับการสนับสนุนจากทีมงานจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์ เมื่อพวกเขาเดินทางไปต่างแดนเพื่อสนับสนุนไลท์นิงในการลงชิงชัยเวิลด์ กรังปรีซ์ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ตัดสินตำแหน่งรถที่เร็วที่สุดในโลก แต่หนทางสู่เส้นชัยก็เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ทางอ้อมและเรื่องเซอร์ไพรส์เมื่อเมเตอร์ถูกดึงตัวเครื่องเข้าไปพัวพันกับการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นของเขาเองในแวดวงสายลับระดับโลก
เมเตอร์พบว่าตัวเองต้องเลือกระหว่างการช่วยเหลือไลท์นิง แม็คควีนในการแข่งขันระดับโลก และการถูก “ลาก” เข้าไปพัวพันกับปฏิบัติภารกิจลับสุดยอดที่ควบคุมโดยซูเปอร์สายลับชาวอังกฤษ ฟินน์ แม็คมิสไซล์ (พากย์เสียงโดยไมเคิล เคน) และสายลับฝึกหัดคนสวย ฮอลลีย์ ชิฟท์เวล (พากย์เสียงโดยเอมิลี มอร์ติเมอร์) การเดินทางที่เต็มไปด้วยแอ็กชันของเมเตอร์นำเขาไปสู่การไล่ล่าสุดมันส์ในท้องถนนของญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศสและอังกฤษ ไล่ตามมาโดยเพื่อนพ้องและถูกจับตามองจากรถทั่วโลก ความสนุกสนานสายฟ้าแลบนี้ร่วมสนุกโดยบรรดารถ เรือ รถไฟและเครื่องบินใหม่หลากสีสัน ที่มีทั้งผู้ร้ายที่น่าสะพรึงกลัวและผู้เข้าแข่งขันจากนานาชาติ
กำหนดเข้าฉายของ “Cars 2” ภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องที่ 12 ของพิกซาร์ ตรงกับการครบรอบปีที่ 25 ของสตูดิโอชื่อดังแห่งนี้ และตามหลังจากภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ปี 2010 “Toy Story 3” จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ ผู้กำกับเจ้าของอคาเดมี อวอร์ด หัวหน้าทีมครีเอทีฟของพิกซาร์ นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสตูดิโอ และซีซีโอของวอลท์ ดิสนีย์ และพิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ ได้หวนคืนสู่เก้าอี้คนขับอีกครั้งสำหรับการผจญภัย “Cars” ครั้งล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมกำกับโดยแบรด ลูอิส (ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์รางวัลออสการ์ “Ratatouille”) ผู้เป็นผู้นำในการค้นคว้าและการพัฒนาเรื่องราวเริ่มต้นจนกระทั่งลาสเซ็ทเตอร์สามารถหวนคืนสู่เก้าอี้ผู้กำกับได้ “Cars 2” อำนวยการสร้างโดยเดนิส รีม ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวิชวล เอฟเฟ็กต์ (ผู้ช่วยอำนวยการสร้าง “Up”, ผู้ควบคุมงานสร้างฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ “Star Wars: Episode III — Revenge of the Sith”), คอมโพสเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์ ไมเคิล จิอัคคิโน (“The Incredibles,” “Up”) เป็นผู้สร้างดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่มีกลิ่นไอเซิร์ฟร็อคปะทะทริลเลอร์สายลับ ผสมผสานแนวดนตรีจากทั่วโลก กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ลึกลับและอารมณ์ แบรด เพสลีย์, ร็อบบี้ วิลเลียมส์, วีซเซอร์, เบนาบาร์ นักร้องชาวฝรั่งเศสและเกิร์ลแบนด์ญี่ปุ่น เพอร์ฟูม ได้ร่วมร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
ผู้ที่ช่วยเสริมสร้างความสนุกและความตื่นเต้นให้กับ “Cars 2” คือทีมนักแสดงชั้นนำที่พากย์เสียงบรรดารถ เรือและเครื่องบินในการผจญภัยทั่วโลกครั้งนี้ โอเวน วิลสันกลับมาพากย์เสียงไลท์นิง แม็คควีน รถแข่งซิ่งสายฟ้าเจ้าของพิสตัน คัพสี่สมัย ที่บัดนี้กำลังจะลงชิงชัยในศึกเวิลด์ กรังปรีซ์ แลร์รี เดอะ เคเบิล กายพากย์เสียงเมเตอร์ (เจ้าของโทว์ เมเตอร์ โทว์อิ้ง แอนด์ ซัลเวจ) เพื่อนซี้ของไลท์นิง แม็คควีน ผู้เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของเรดิเอเตอร์ สปริงส์ บอนนี ฮันท์กลับมาพากย์เสียงแซลลี รถปอร์เช 911 คาร์เรรา สีฟ้าคันสวย ผู้ซึ่งมอเตอร์ของเธอหมุนเพื่อไลท์นิงเท่านั้น นักแสดงชื่อดังไมเคิล เคน เปิดตัวในภาพยนตร์พิกซาร์ในบทฟินน์ แม็คมิสไซล์ สายลับอังกฤษระดับแนวหน้า ผู้เข้าใจผิดว่าเมเตอร์เป็นสายลับอเมริกาที่พรางตัวอยู่อย่างยอดเยี่ยม เอมิลี มอร์ติเมอร์ใส่เอาเสน่ห์ ความเฉลียวฉลาดและความเก่งกาจของเธอเข้าไปในบทฮอลลีย์ ชิฟท์เวล สายลับมือใหม่ ที่รู้จักเคล็ดลับทุกอย่างในคู่มือ จอห์น ทูเทอร์โร นักแสดงผู้คร่ำหวอดในวงการปล่อยล้อฟรีในการพากย์เสียง ฟรานเซสโก้ เบอร์นูลลี แชมเปี้ยนอิตาลี ผู้เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของไลท์นิง โทนี แชลลูบ์, กุยโด้ คัวโรนี, พอล ดูลีย์, ชีช มาริน, จอห์น แรทเซนเบอร์เกอร์, โจ แมนเทนา, ปีเตอร์ จาค็อบสัน, เจสัน ไอแซ็คส์, เอ็ดดี้ อิซซาร์ด, ฟรังโก้ นีโรและวาเนสซา เร้ดเกรฟร่วมพากย์เสียงในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ลูอิส แฮมิลตัน แชมเปี้ยนรถสูตร 1 ตัวจริงและเจฟฟ์ กอร์ดอน นักแข่งนาสการ์ ได้ช่วยเสริมสร้างความสมจริงให้กับเรื่อง ด้วยบทคามีโอของพวกเขา
“Cars 2” นำเสนอในรูปแบบ Disney Digital 3D? และใช้เทคโนโลยีล่าสุดอย่างเต็มพิกัดเพื่อทำให้ผู้ชมได้นั่งอยู่แถวหน้า (และผ่านมุมมองของรถ) สำหรับแอ็กชันสุดมันส์และฉากตระการตาจากทั่วโลก ช่างเทคนิคที่มากความสามารถของพิกซาร์ได้นำสื่อชนิดนี้ขึ้นไปอีกระดับ ด้วยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์สมัยใหม่ในการสร้างโมเดล ให้แสง เงาและการเรนเดอร์ภาพ
จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์: หวนคืนสู่เก้าอี้คนขับอีกครั้ง
ผู้กำกับไม่อาจต้านทานเสน่ห์การแข่งรถหรือการชิงไหวชิงพริบของแวดวงสายลับได้
หลังจากเสร็จงานจาก “Cars” แล้ว จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ก็รู้ว่าเขาอยากจะบอกเล่าเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่งกับตัวละครพวกนี้ ที่เขาและผู้ชมรัก และไอเดียสำหรับ “Cars 2” ก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างก่อนที่งานสร้างภาพยนตร์จะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก
“ระหว่าง ‘Cars’” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “เรากำลังพัฒนาซีเควนซ์ที่ไลท์นิง แม็คควีนพาแซลลี รถปอร์เช ไปเดทครั้งแรก และมันก็จะเป็นที่โรงหนังไดรฟ์อิน เพราะมันเกี่ยวข้องกับรถอย่างมาก แล้วเราก็คิดว่า 'แล้วหนังที่ฉายอยู่เป็นเรื่องอะไรล่ะ' ผมชอบหนังสายลับและผมก็คิดว่ามันคงน่าสนุกถ้าจะได้เห็นว่าหนังสายลับจะออกมาเป็นยังไงในโลกของรถยนต์ เราคิดตัวละครชื่อฟินน์ แม็คมิสไซล์ ผู้ซึ่งจะได้แสดงในหนังภายในหนังเรื่องนี้ ขึ้นมา
“ผมเป็นแฟนหนังสายลับครับ” ลาสเซ็ทเตอร์เล่า “ผมโตขึ้นมากับการดูซีรีส์ ‘The Man from U.N.C.L.E.’ และลูกชายห้าคนของผมกับตัวผมก็ชอบดูหนังสายลับด้วยกัน เราได้ดูซีรีส์ ‘Bourne’ เป็นร้อยๆ รอบเลยครับ ดังนั้น แม้ว่าซีเควนซ์นี้จะเปลี่ยนไป และไลท์นิงและแซลลีก็ไปขับรถเล่นชมวิวในเดทครั้งแรกแทน ผมก็ไม่เคยลืมไอเดียของฟินน์ แม็คมิสไซล์และหนังสายลับเลย ผมคิดในใจว่า 'มันมีศักยภาพเยอะนะ'”
จากนั้นในปี 2006 ระหว่างการเดินทางไปประชาสัมพันธ์ “Cars” ในทั่วโลก ลาสเซ็ทเตอร์ก็รู้ว่า ประเทศที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นฉากที่เพอร์เฟ็กต์ในการทำให้ตัวละครใน “Cars” ได้มาพัวพันกับเรื่องราวสายลับ
“มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้พาเมเตอร์ไปรอบโลกและนำเขาเข้าไปสู่สถานการณ์ที่จะแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “ส่วนที่สองของเรื่องราวได้รับการจุดประกายขึ้นมาในตอนที่ผมเดินทางอยู่ครับ ผมมีภาพตัวละครทั้งหมดในหัว แล้วผมก็มักจะหัวเราะกับตัวเองเสมอในตอนที่ผมอยู่ในประเทศต่างๆ เหล่านั้น และจินตนาการถึงว่าเมเตอร์จะทำตัวยังไงในสถานการณ์ต่างๆ หรือประเทศต่างๆ เหล่านั้น ตอนที่ผมอยู่ในปารีส ผมก็จะจินตนาการว่า เมเตอร์จะวนรอบวงเวียนที่ประตูชัยอาร์ค เดอ ทริออมป์ได้ยังไง มันไม่มีสัญญาณแถมไม่มีเส้นแบ่งเลนอีกต่างหาก เมเตอร์จะทำยังไงกับการต้องขับขี่ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับท้องถนนในลอนดอน เมเตอร์จะทำยังไงถ้าไปหลงทางในท้องถนนที่ซับซ้อนของกรุงโตเกียว ที่ไม่มีป้ายจราจรเป็นภาษาอังกฤษเลย แล้วเมเตอร์จะทำยังไงในอิตาลี ที่ซึ่งสัญญาณไฟจราจรเป็นเพียงแค่ข้อเสนอแนะน่ะครับ”
นอกเหนือจากโอกาสในการได้นำตัวละครเหล่านี้ไปทั่วโลกและได้สำรวจโลกรถแข่งและสายลับระดับโลกแล้ว สิ่งที่ลาสเซ็ทเตอร์ชื่นชอบมากที่สุดคือหัวใจและอารมณ์ขันที่ปรากฏในตัวละครและเรื่องราว
“อารมณ์ขันใน ’Cars 2’ มาจากบุคลิกลักษณะของตัวละคร” ผู้กำกับบอก “และการได้เห็นพวกเขาในสถานการณ์ปลาพ้นน้ำที่น่าสนใจครับ แต่แกนกลางด้านอารมณ์ของเรื่องคือมิตรภาพระหว่างไลท์นิง แม็คควีนและเมเตอร์ ที่ถูกทดสอบในลักษณะที่แตกต่างและน่าสนใจครับ มันเป็นเรื่องที่ว่าสายใยมิตรภาพที่แน่นแฟ้นจะถูกทดสอบได้อย่างไร สิ่งที่อาจจะมั่นคงในที่หนึ่งแลดูแตกต่างไปมากในอีกที่หนึ่ง การนำมิตรภาพไปผ่านการทดสอบภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกันและสถานที่ที่แตกต่างกัน มิตรภาพนี้จะเป็นของแท้และลึกซึ้งขนาดไหนน่ะครับ”
ลาสเซ็ทเตอร์เอ็นดูเมเตอร์เป็นพิเศษ “เมเตอร์เป็นตัวละครที่พิเศษสุด เขาซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และพูดจาแบบขวานผ่าซาก เขาทั้งสนุกและน่ารัก ในตอนที่ตัวละครที่ไร้เดียงสาแบบนั้นพบว่าคนไม่ได้หัวเราะไปกับเขา เหมือนอย่างที่เขาคิดมาตลอดชีวิต แต่กลับหัวเราะเยาะเขา มันก็เป็นภาพที่ทำให้หัวใจสลายที่ได้เห็นว่าเขาเริ่มรับรู้และเรียนรู้ถึงความจริงเกี่ยวกับตัวเอง หรือสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความจริงเกี่ยวกับตัวเอง มันน่าประทับใจมากๆ เพราะการเดินทางของเขาทำให้มิตรภาพระหว่างเขากับไลท์นิง แม็คควีนแน่นแฟ้นขึ้นไปอีก พวกเขาต่างก็ตระหนักดีถึงเรื่องนั้น เมเตอร์เป็นตัวของเขาเอง มันไม่ใช่เมเตอร์หรอกครับที่ต้องเปลี่ยน แต่เป็นโลกต่างหากที่ควรจะเปลี่ยน”
แบรด ลูอิส ผู้กำกับร่วมกล่าวว่า “การทำงานร่วมกับจอห์นสร้างแรงบันดาลใจให้เราเสมอ เขามีจินตนาการที่บรรเจิด และคุณก็บอกได้ว่ามีโลกใบใหญ่อยู่ในสมองของเขา ในกรณีของ ‘Cars 2’ แล้ว ตัวละครเหล่านี้พิเศษสำหรับจอห์นมาก เรามีความหลังดีๆ ร่วมกันและมีมิตรภาพที่ดี การได้ร่วมงานกับเขาในหนังเรื่องนี้เป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่มีความสุขและวิเศษสุดจริงๆ”
ผู้อำนวยการสร้างเดนิส แรมบอกว่า การได้ร่วมงานกับลาสเซ็ทเตอร์เป็นเหมือนฝันที่เป็นจริง และก็ไม่เฉพาะสำหรับเธอคนเดียวด้วย “นับตั้งแต่จอห์นเสร็จจากงานกำกับ ‘Cars’ พิกซาร์ก็เติบโตขึ้นมาก ดังนั้น นักวาดภาพหลายคนที่นี่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมงานกับเขาในตำแหน่งนั้นมาก่อน มันวิเศษสุดจริงๆ ค่ะ” รีมบอก “เป็นเรื่องเยี่ยมจริงๆ ที่ได้เห็นจอห์นกำกับนักวาดภาพและอนิเมเตอร์และได้ร่วมงานกับแผนกต่างๆ เหล่านี้ ในฐานะผู้กำกับ เขาเป็นคนที่รู้ในสิ่งที่ต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง เขามีความรักอย่างเข้มข้น และการได้ร่วมงานกับคนที่มีความรักให้กับสื่อนี้อย่างเข้มข้นก็เป็นเรื่องสนุกมาก และเราก็คงต้องยอมรับว่าเขาเป็นนักเล่าเรื่องที่น่าทึ่ง เขามีหนังเรื่องนี้ในหัวอยู่แล้ว และการมีส่วนร่วมในการเนรมิตภาพนั้นให้กลายเป็นจริงบนหน้าจอก็สนุกมาก มันท้าทายมากๆ แต่ด้วยความที่การร่วมงานกับเขาสนุกมาก มันก็เลยกลายเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานสำหรับทุกคน”
ออกถนนอีกครั้ง: การสร้างเรื่องราวสำหรับ “Cars 2”
ทีมผู้สร้างเนรมิตเรื่องราวจารกรรมข้ามชาติที่เต็มไปด้วยแอ็กชัน
การจารกรรมข้ามชาติ การแข่งรถทั่วโลก มิตรภาพ แต่ละธีมล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญใน “Cars 2” และแบรด ลูอิส ผู้กำกับร่วม, มือเขียนบท เบน ควีนและทีมงานเรื่องราวของพิกซาร์ ที่นำทีมโดยนาธาน สแตนตัน ก็ได้รับมอบหมายให้หาส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับเรื่องราว บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนโดยควีน จากเรื่องราวโดยลาสเซ็ทเตอร์, ลูอิสและแดน โฟเกลแมน
“นี่ไม่ใช่หนังที่ล้อเลียนหนังสายลับ” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “นี่เป็นหนังสายลับจริงๆ เพียงแค่มีรถเป็นตัวละครแทน มันเป็นแนวหนังที่แตกต่าง ที่ทำให้เรามีโอกาสที่จะเล่นกับอุปกรณ์มากมาย ความเป็นเด็กในตัวผมออกมาในหนังเรื่องนี้มากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ เสียอีก ทำนองว่ามาสนุกกับโลกใบนี้ สนุกกับอุปกรณ์เหล่านี้ดีกว่าน่ะครับ”
ควีนกล่าวว่า “เมื่อคุณได้เห็นซีเควนซ์เปิดตัวฟินน์ แม็คมิสไซล์ มันจะเป็นไปในทำนองตรงไปตรงมาและจริงจัง แบบที่อันตรายจริงๆ ในซีนนั้น แล้วฉากถัดไปก็จะเป็นเรดิเอเตอร์ สปริงส์ ซึ่งเป็นคอเมดี สิ่งที่เวิร์คอย่างงดงามคือความขัดแย้งระหว่างทั้งสองซีนนี้เป็นตัวเซ็ทโทนให้กับหนังเรื่องนี้ มันเป็นทริลเลอร์สายลับก็จริง แต่ก็มีอารมณ์และคอเมดีแฝงอยู่ สำหรับส่วนที่เหลือ เราก็จะพาคุณไปสู่เรื่องราวและแนวหนังที่กระชับฉับไวครับ”
สำหรับควีน ผู้ที่เคยเขียนบทและอำนวยการสร้างซีรีส์ฟ็อกซ์เรื่อง “Drive” เกี่ยวกับการแข่งรถครอสคันทรีผิดกฎหมาย ที่มีตัวละครที่สะท้อนถึงรถของพวกเขาเองด้วย “Cars” เป็นผลงานการเขียนบทอนิเมชันเรื่องแรกของเขา “’Cars’ ภาคแรกตอกย้ำมิตรภาพระหว่างเมเตอร์และไลท์นิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมเข้าถึงได้จริงๆ” ควีนบอก “สิ่งที่เราอยากทำคือการนำสิ่งนั้นออกมาจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์และจับมันเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ซึ่งพวกเขาเป็นปลาพ้นน้ำ มันเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งของมิตรภาพนั้นอย่างแท้จริงครับ”
“เราได้ข้อสรุปที่ว่ามิตรภาพของพวกเขาเป็นแก่นสำคัญจริงๆ ของเรื่อง” ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราว นาธาน สแตนตันบอก “เราคิดกันว่า หลังจากหนังเรื่องแรกก็ผ่านมาสี่หรือห้าปีแล้ว มิตรภาพระหว่างไลท์นิงและเมเตอร์ก็น่าจะแน่นแฟ้นดีแล้ว ที่คุณเห็นอยู่ตรงนี้คือรถแข่งชื่อดัง ผู้ซึ่งเพื่อนสนิทของเขาอยู่ในโลกแคบและไร้เดียงสาต่อโลกที่อยู่นอกเหนือเมืองเล็กๆ ในขณะที่พวกเขาเป็นเพื่อนซี้ย่ำปึ้กในขอบเขตของเรดิเอเตอร์ สปริงส์ แต่มิตรภาพของพวกเขายังไม่เคยถูกทดสอบเลย เราชื่นชอบไอเดียของการสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมิตรภาพระหว่างพวกเขาเกิดรอยร้าวขึ้นครับ”
ลูอิสเล่าว่า “ผมคิดตั้งแต่เริ่มต้นว่า คนตื่นเต้นกับหนังเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็สงสัยกันว่า ‘คุณจะทำแบบนั้นได้จริงรึเปล่า คุณจะสร้างหนังที่เป็นทั้งหนังสายลับข้ามชาติสเกลใหญ่และหนังสมคบคิด ที่เป็นหนังแข่งรถด้วยได้รึเปล่า เราเลือกจะสร้างเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ และสิ่งที่วิเศษสุดก็คือทุกคนที่พิกซาร์ต่างก็ทุ่มเทหัวใจและจิตวิญญาณเข้าไปให้กับกับการสร้างหนังเรื่องนี้ และผมก็คิดว่าผลที่ได้ก็คือหนึ่งในหนังที่งดงามที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมาครับ”
“Cars 2” จากดิสนีย์และพิกซาร์โกอินเตอร์
ขบวนรถจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์มุ่งหน้าสู่ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศสและอังกฤษ
ในตอนที่ “Cars” แล่นเข้าโรงภาพยนตร์ในปี 2006 บรรดาคอหนังต่างก็ตกหลุมรักเรดิเอเตอร์ สปริงส์ จากเสน่ห์ ความเรียบง่ายและเวทมนตร์เมืองเล็กๆ ที่ดูเหมือนสะกดใจทุกคนที่ได้พบมัน เพราะมันเป็นเมืองเล็กๆ ที่น่ารักที่สุดในคาร์บูเรเตอร์ เคาน์ตี้นั่นเอง นั่นเป็นคำพูดจากรถบรรทุกลากคนดังประจำเมือง และเมเตอร์ก็รู้เรื่องพวกนี้ดี
แต่เมื่อถึงเวลาที่จะไปเยี่ยมเยือนแก๊งรถจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์อีกครั้ง ทีมผู้สร้างก็สงสัยว่า กลุ่มรถขวัญใจผู้ชมเหล่านี้จะเป็นอย่างไรหากต้องอยู่ต่างเมือง แต่เป็นที่ไหนดี
ก็ทั่วโลกยังไงล่ะ “ไม่ว่าคุณจะสามารถไปที่ไหนได้ในโลกของเรา” ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ บอก “เราก็สามารถไปได้ในโลก ‘Cars’ ด้วยเช่นกัน”
และนั่นก็เป็นเรื่องที่เจ๋งทีเดียว ลาสเซ็ทเตอร์บอก “ถ้าคุณดู ‘Toy Story’ ทั้งสามภาค พวกมันมีธีมที่แตกต่างกันมาก เพียงแต่ทั้งหมดเกิดขึ้นในห้องของแอนดี้และรอบๆ โลกของเล่น สิ่งที่แตกต่างอย่างมากเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือโลกของ ‘Cars 2’ กว้างใหญ่พอๆ กับโลกที่เราอาศัยอยู่เลยครับ”
นอกจากนี้ ทีมผู้สร้างยังสนใจแวดวงการแข่งรถระดับโลก จนพวกเขาตัดสินใจที่จะแนะนำรถแข่งคันโปรดของพวกเขาเข้าสู่โลกใหม่ใบนี้ “ไลท์นิง แม็คควีนถูกเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ เพื่อลงชิงชัยกับรถที่เร็วที่สุดในโลก ในสามประเทศด้วยกันคือญี่ปุ่น อิตาลีและอังกฤษ แน่นอนว่าเมเตอร์ ผู้ไม่เคยย่างล้อออกจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์เลย รู้สึกผิดที่ผิดทางอย่างสิ้นเชิงในสถานที่ที่มีวัฒนธรรมโดดเด่นเหล่านี้ ซึ่งก็นำไปสู่สถานการณ์น่าขบขันมากมายครับ”
ออกถนนใหญ่
การผจญภัยรอบโลกอย่าง “Cars 2” ก็มีความท้าทายในตัวเองเช่นกัน ผู้อำนวยการสร้างเดนิส รีมบอกว่า ในฐานะที่เป็นซีเควล ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีฐานอยู่แล้ว เพราะตัวละครหลักหลายตัวและโลกของพวกเขาเคยเป็นที่รู้จักมาก่อนแล้วใน “Cars” “ในการสร้าง ‘Cars 2’” รีมบอก “มันก็เป็นประโยชน์จริงๆ ที่ได้รู้ว่า มีลุคที่เฉพาะเจาะจงสำหรับหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เราก็ขยายโลกใบนี้ออกเพื่อนำเสนอสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น แม้ว่าจะมีการกำหนดสุนทรียะด้านความงามของเรื่องไปแล้ว แต่มันก็มีการเสริมสโคปขนาดใหญ่เข้าไป การที่เราต้องรวมเอาโลเกชันทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน นั่นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดค่ะ หนังเรื่องนี้มีจำนวนโลเกชันมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ของพิกซาร์เกือบสองเท่าเลยนะคะ”
“คุณต้องปรับเปลี่ยนโลกเสียใหม่ครับ” แบรด ลูอิส ผู้กำกับร่วมบอก “คุณจะต้องทำให้อาคาร อุปกรณ์ประกอบฉากและตัวละครทั้งหมด ‘มีความเป็นรถ’ เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นเข้าสู่โลกของ ‘Cars’ และทุกอย่างก็เป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยเรื่องคอเมดีและอารมณ์ ผมจำได้ว่าตอนที่เราเสนองานให้กับทีมงานที่จะเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและสโคปของหนังเรื่องนี้ พวกเขาจะมีสีหน้าทำนองว่า ‘คุณจะต้องล้อเล่นแน่ๆ!’ น่ะครับ”
“นอกจากนี้ ‘Cars 2’ ยังมีช็อตฝูงชนมากกว่า สเปเชียล เอฟเฟ็กต์มากกว่า และตัวละครมากกว่าค่ะ” รีมบอก “มันมีสเกลใหญ่โตมาก เราโชคดีที่ได้ผู้ออกแบบงานสร้างมากประสบการณ์อย่างฮาร์ลีย์ เจสซัพ มาดูแลทีมงานแผนกศิลป์ที่มากพรสวรรค์ ผู้ซึ่งผลงานการออกแบบในหนังเรื่องนี้เกินกว่าความคาดหวังของเราอีกค่ะ”
บรรดานักวาดภาพและนักเล่าเรื่องที่พิกซาร์ต่างก็พร้อมรับงานนี้ ก้าวแรกของพวกเขาคือการค้นคว้าและทีมงานนี้ก็ชื่นชอบการค้นคว้รา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันหมายถึงการเดินทางไปสู่สถานที่สวยงามต่างๆ ทั่วโลกและซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พวกเขาได้สำรวจเมืองต่างๆ ในยุโรปและญี่ปุ่นเพื่อเรียนรู้รายละเอียดของพล็อตและทำให้แน่ใจถึงความสมจริงในเรื่องลุคและความรู้สึกของฉากต่างๆ ทั่วโลกเหล่านี้
ลอนดอน
สมาชิกหลายคนของทีมงาน “Cars 2” ได้ไปทัวร์ทั่วยุโรปในเดือนพฤษภาคม ปี 2009 และพวกเขาก็ได้เยี่ยมชมเมืองต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงการเยือนลอนดอนนานสองวันด้วย
เจสซัพกล่าวว่า ทีมผู้สร้างได้สังเกตถึงสีสันที่ปรากฏในแต่ละประเทศ “เราได้ใช้ท้องฟ้าสีเทาและโครงสร้างหินของลอนดอนเป็นตัวค้านกับสีสันสดใสของบรรดารถ และรถบัสสองชั้นและตู้โทรศัพท์สีแดง มันมีสีแดงและน้ำเงินสอดแทรกอยู่ในลอนดอนมากมายเลยครับ”
การเที่ยวชมเมืองลอนดอนครั้งนี้ยังรวมถึงสก็อตแลนด์ ยาร์ด, รัฐสภา, หอนาฬิกาบิ๊กเบน, วิหารเวสต์มินสเตอร์และลอนดอน อาย แต่เจย์ ชูสเตอร์ ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายตัวละคร ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตามมุมถนน “มีตอนหนึ่งที่ผมยืนอยู่ตรงขอบฟุตบาธในลอนดอนระหว่างช่วงเวลาเร่งด่วนในยามเช้า บันทึกภาพรถทุกคันที่ผมเห็น ซึ่งรวมถึงรถบรรทุกและรถโดยสาร เพื่อพยายามซึมซับความรู้สึกของสิ่งแวดล้อมนั้นน่ะครับ”
ข้อสังเกตของชูสเตอร์ทำให้ทีมงานสามารถสร้างยานพาหนะต่างๆ ที่จะอยู่ตามโลเกชันทั่วโลกได้อย่างแม่นยำ “สปีซีส์พื้นเมือง” อย่างที่เขาเรียก
นักวาดภาพสนุกสนานกับการแปลงลักษณะของเมืองต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คล้ายกับรถ เจสซัพบอก “เราใช้แบบโมเดลและลักษณะของรถจากปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ในการตกแต่งอนุสาวรีย์และสถานที่สำคัญที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง”
ยกตัวอย่างเช่น ภายในลอนดอนใน “Cars 2” ยอดโดมของวิหารเซนต์ปอลมีรูปร่างเหมือนกระปุกเกียร์รถ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ทีมงานชื่นชอบมากที่สุดคือหอนาฬิกาบิ๊กเบน ที่ถูกเรียกว่าบิ๊กเบนท์ลีย์ใน “Cars 2” “นั่นอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของอนุสาวรีย์ที่เหมาะสมที่สุดกับโลกของเรา” เจสซัพ ผู้มีโอกาสที่หาได้ยากยิ่งในการทัวร์ภายในหอนาฬิกาบิ๊กเบน กล่าวว่า “บิ๊กเบนท์ลีย์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องราวนี้ ในการทำให้มันเหมาะกับโลกของ ‘Cars’ เราได้เพิ่มสเกลมันขึ้นอีกประมาณ 250% แม้กระทั่งนาฬิกา ซึ่งจริงๆ แล้วมีขนาดพอดีกับห้องประชุม ก็ถูกเพิ่มสเกลให้ใหญ่กว่าขนาดปกติอีกอย่างน้อย 50 เท่า” นอกจากนี้ สถานที่สำคัญที่ถูกแต่งเติมลักษณะของรถเข้าไปก็ยังมีกระจังหน้าและของประดับกระโปรงรถของเบนท์ลีย์ด้วย
ลูอิสกล่าวว่า มีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของลอนดอน ที่อยู่ในลิสต์สิ่งที่ขาดไม่ได้ของพวกเขา “เรารู้ว่าเราจะต้องนำเสนอพระราชวังบัคกิ้งแฮมครับ” ผู้กำกับร่วมกล่าว “เราคิดเสมอว่า มันน่าจะเป็นสถานที่ที่งดงามในการนำเสนอในสนามแข่ง และถ้าคุณสามารถทำให้การแข่งรถจบลงใกล้ๆ กับทางเข้าพระราชวังบัคกิ้งแฮมได้ คงไม่มีอะไรยิ่งใหญ่อลังการไปกว่านั้นได้ ผมกับจอห์นมองว่าไอเดียของการที่เมเตอร์พยายามทำให้ยามบีฟีเตอร์หัวเราะเป็นเรื่องตลกมากจนเราต้องมาทำเวอร์ชันของเราเองสำหรับหนังเรื่องนี้ครับ”
ปารีส
จินตนาการของลาสเซ็ทเตอร์นำเมเตอร์ไปอยู่ในปารีสนานแล้ว “เมเตอร์จะวนรอบวงเวียนที่ประตูชัยอาร์ค เดอ ทริออมป์ได้ยังไง” เขาถาม “มันไม่มีสัญญาณแถมไม่มีเส้นแบ่งเลนอีกต่างหาก”
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพมอนเทจของปารีส ที่รวมถึงช็อตของอนุสาวรีย์ดัง ขณะที่เมเตอร์พยายามจะแทรกตัวเข้าไปในกระแสการจราจร ในขณะที่ในลอนดอน ทีมงานได้เปลี่ยนอาร์ค เดอ ทริออมป์ให้มีลักษณะเป็นรถด้วยการออกแบบส่วนยอดให้มีรูปร่างเป็นบล็อกเครื่องยนต์และใช้ไฟหน้าเป็นส่วนประดับด้านหน้า นอกจากนี้ ภาพมอนเทจที่ว่ายังรวมถึงฉากรถจูบกันบนสะพานโรแมนติก ที่คล้ายกับปองต์ เดส อาร์ตส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ลาสเซ็ทเตอร์และแนนซี ภรรยาของเขามักจะไปเยือนเสมอในตอนที่พวกเขาไปนครแห่งความรักนี้ ลาสเซ็ทเตอร์ถึงขั้นบอกด้วยว่า “รถสาวน้อย” คันนั้นถูกออกแบบให้มีสีม่วง ซึ่งเป็นสีโปรดของภรรยาเขา
และแน่นอน สะพานปองต์ เดส อาร์ตส์ใน “Cars 2” ก็ถูกทำให้มีลักษณะคล้ายรถ เหมือนกับอนุสาวรีย์สำคัญอื่นๆ ของเมือง โดยมันจะถูกสร้างด้วยชิ้นส่วนสปริงแผ่น แบบที่ใช้ในระบบกันสะเทือนของรถ ยอดหอคอยไอเฟลใน “Cars 2” มีรูปร่างเหมือนสปาร์คปลั๊กยุโรปยุค 30s และฐานของมันก็มีลักษณะเหมือนซี่ล้อของฝรั่งเศส ส่วนวิหารนอร์ทเธอดามในเรื่องถูกประดับประดาด้วยรูปปั้น “คาร์กอยล์” 24 ตัวและเสาค้ำยันผนังรอยในรูปร่างของท่อไอเสีย
ระหว่างการถ่ายทำ ทีมงาน “Cars 2” ได้สำรวจห้องโชว์รูมรถยนต์ในชอมป์ เอลิเซส์ และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กรองด์ ปาเลส์ และลูฟร์ พวกเขาได้ไปดูบาสติลล์ โอเปราและพิพิธภัณฑ์ออร์เซย์ และตื่นเต้นกับการได้ใส่เล อาลส์เข้าไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย แม้ว่าตลาดอาหารแบบเก่าจะถูกรื้อถอนออกไปในยุค 70s แต่มันก็ถูกบูรณะขึ้นใหม่สำหรับ “Cars 2” และถูกเปลี่ยนให้เป็นตลาดสำหรับอะไหล่รถยนต์ “มันลงเอยด้วยการเป็นพื้นที่ที่กระตุ้นอารมณ์ได้อย่างดี” เจสซัพบอก “มันเป็นโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ที่กว้างขวางพอสำหรับการไล่ล่าทางรถยนต์ และมันก็มีตลาดยิปซีข้างใน ที่มีเท็กซ์เจอร์ที่น่าทึ่งจริงๆ ด้วยครับ”
“สำหรับผมแล้ว การได้ทำงานในปารีสอีกครั้งเป็นเรื่องสนุกจริงๆ” เจสซัพบอก “เราได้ศึกษามันอย่างละเอียดสำหรับ ‘Ratatouille’ ดังนั้น การได้กลับไปที่นั่นอีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ปารีสเป็นเมืองที่สวยงามจริงๆ”
อิตาลี
ในการพัฒนาเมืองชายทะเลปอร์โต้ คอร์ซาในอิตาลีขึ้นมาจากความว่างเปล่า ทีมงาน “Cars 2” ได้เยี่ยมเยือนสถานที่ต่างๆ ตามชายฝั่งของทั้งอิตาลีและฝรั่งเศส ด้วยการขับรถชมวิวจากปอร์โตฟิโน ประเทศอิตาลี ไปยังเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะไปแวะชมการแข่งรถในโมนาโก
“พอเราตัดสินใจว่าเราจะสร้างเมืองอิตาลีขึ้นมาเอง” ลูอิสบอก “เราก็อยากให้มันเป็นจดหมายรักสำหรับการแข่งรถในอิตาลีของเรา การแข่งรถในอิตาลีเป็นความรักอย่างยิ่งครับ เราอยากจะบันทึกหัวใจและจิตวิญญาณของมัน จากชายหาดที่งดงามไปสู่ยอดมงกุฎของการแข่งรถ นั่นคือการแข่งรถสูตร 1 ในโมนาโก และแน่นอนครับ มอนติ คาร์โล ซึ่งเป็นคาสิโนหรูด้วย”
ปอร์โตฟิโนเป็นแรงบันดาลใจสำหรับปอร์โต คอร์ซาอย่างมาก “ริเวียราในอิตาลีจะเป็นอาคารที่มีหลังคาดินสีน้ำตาล ทาสีสดใส และหินกรวดสวยๆ มีพืชพันธุ์แบบเมดิเตอร์เรเนียนและน้ำทะเลสีฟ้าครามที่สวยงามครับ” เจสซัพบอก ทีมงานได้ค้นหาลุคและความรู้สึกชั้นสูงสำหรับเมืองปอร์โต คอร์ซาา พวกเขาก็เลยใส่เอาสถาปัตย์สไตล์เฟรนช์ริเวียราเข้าไปในฉากแบบปอร์โตฟิโนของพวกเขาด้วย
ปอร์โต คอร์ซา มารินา ซึ่งถูกทำให้มีลักษณะคล้ายรถที่มีส่วนประกอบของรถอิตาเลียนคลาสสิก มีรูปร่างเหมือนล้อรถ และคาสิโนแห่งนี้ก็ได้ถูกสร้างขึ้นบนชั้นหินที่มีรูปร่างเหมือนรถ 1948 เฟียต 500 โทโปลิโน ส่วนโต๊ะแคร็ปในคาสิโนปอร์ตา คอร์ซา มีการใช้ลูกเต๋านุ่มขนาดใหญ่ เหมือนกับลูกเต๋าที่มักแขวนประดับตรงกระจกหลังรถยนต์
“การแปลงสถานที่ที่งดงามเหล่านี้ให้มีลักษณะเหมือนรถก็เหมือนตัวละครในตัวมันเองเหมือนกันครับ” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “มันช่วยเสริมสร้างระดับอารมณ์ขันและความบันเทิงให้กับหนังเรื่องนี้ ในแบบที่ฉากของหนังพิกซาร์ไม่เคยทำมาก่อนครับ”
โตเกียว
การผจญภัยข้ามทวีปใน “Cars 2” ได้เริ่มต้นขึ้นในญี่ปุ่น และทีมผู้สร้างก็ตื่นเต้นที่ได้นำเสนอสีสันเจิดจ้า ที่ทำให้กรุงโตเกียวสว่างไสวในยามราตรี “ป้ายและสีสันสดใสในกินซาเป็นอะไรที่พิเศษครับ” เจสซัพบอก
หลังจากที่ได้ไปเยือนญี่ปุ่นมาหลายครั้งแล้ว ทั้งลาสเซ็ทเตอร์และลูอิสต่างก็ตื่นเต้นที่ได้นำขบวนรถของพวกเขามาสู่โตเกียว “เราคิดกันว่าถ้ารถแข่งพวกนี้ไปที่โตเกียว พวกเขาจะได้พบกับวัฒนธรรมที่ต่างออกไปอย่างมาก” ลูอิสบอก “ไลท์นิง แม็คควีนและเมเตอร์ก็จะถูกจับเข้าไปในสถานการณ์สุดเหวี่ยง ที่ไลท์นิงจะรู้สึกชิลล์ๆ กับแสงสีและการเป็นจุดสนใจของรถทั่วโลก แต่มันจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมเตอร์ เขาอาจจะกลายเป็นแกะดำหน่อยๆ ครับ”
ลาสเซ็ทเตอร์กล่าวเสริมว่า “คนที่เคยไปญี่ปุ่นและได้เดินเข้าไปในห้องน้ำของญี่ปุ่นจะรู้ว่าโถส้วมของพวกเขาทำอะไรได้มากกว่าโถส้วมของอเมริกา เราได้แต่คิดว่า ‘เมเตอร์จะมีปฏิกิริยายังไง’ และ ‘ห้องน้ำสำหรับรถจะเป็นยังไง’ เราบอกได้แค่ว่าเราสนุกกันมากครับ”
ทีมงานสร้างกลุ่มเล็กๆ ได้เดินทางไปโตเกียวในเดือนตุลาคม ปี 2009 ที่ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับฉากสำหรับหนึ่งในซีนช่วงแรกๆ หนึ่งในผู้ค้นคว้ากลุ่มนั้นคือชารอน คาลาฮัน ผู้กำกับภาพฝ่ายแสง “โตเกียวเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่ฉันไปที่นั่นค่ะ” คาลาฮันบอก “แต่เรื่องดีก็คือการที่ฉันได้ไปในบริเวณอื่นๆ ของเมืองที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน สถานที่ที่ไม่ได้เป็นสถานที่ยอดนิยมน่ะค่ะ มันแตกต่างกันอย่างน่าสนใจกับส่วนที่เต็มไปด้วยป้ายนีออนสีสันเจิดจ้า เราสามารถสำรวจได้อย่างอิสระเพื่อหาแรงบันดาลใจ ซีเควนซ์ปาร์ตี้เปิดงานเวิลด์ กรังปรีซ์เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ และศูนย์ศิลปะแห่งชาติในโตเกียวก็อยู่ด้านล่างโรงแรมของเรา เราไม่ได้วางแผนที่จะใช้มันเป็นแรงบันดาลใจ แต่เราก็ได้เห็นมันแล้วก็คิดว่า ‘ว้าว ดูอาคารที่สวยงามนี้สิ’ น่ะค่ะ”
“มันถูกปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะเหมือนรถได้อย่างรวดเร็ว” ลูอิสบอก “มันทั้งดงามและโมเดิร์น และให้ความรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับฉากปาร์ตี้เปิดงานเวิลด์ กรังปรีซ์อย่างยิ่งครับ”
ระหว่างที่อยู่ในโตเกียว ทีมงานก็สามารถติดตามเส้นทางการแข่งรถในท้องถนนของเรื่องได้จริงๆ ด้วยแรงบันดาลใจจากการแข่งขันรถสูตร 1 ตอนกลางคืน ที่เกิดขึ้นในท้องถนนของสิงคโปร์ ลาสเซ็ทเตอร์และลูอิสก็ได้อาศัยฟุตเตจการแข่งรถนั้นเป็นข้อมูลอ้างอิง “ระหว่างการแข่งขันนั้น คุณก็จะได้เห็นหลอดไฟสว่างสีขาวทั่วเส้นทางไปหมด” ลูอิสบอก “มันสวยจริงๆ ผมกับจอห์นคิดว่าถ้าเราใช้หลอดไฟนีออนแบบโตเกียวและทำให้มันเป็นการแข่งขันยามราตรี ด้วยไฟสว่างสีขาว มันคงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมสำหรับหนังเรื่องนี้ มันเป็นภาพที่ตรงข้ามกันอย่างดีกับเรดิเอเตอร์ สปริงส์ ซึ่งแสดงถึงความเป็นอเมริกันแท้ๆ การนำเสนอภาพศูนย์ที่มีแสงไฟส่องสว่างแบบไฮเทคแบบนี้แสดงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างดีครับ”
“หนังเรื่องนี้แตกต่างจาก ‘Cars’ ในแทบจะทุกทาง แต่มันก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของโลกของ "Cars” อยู่ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มันสนุกมาก ฉากต่างๆ ทั่วโลก ความเลิศหรู อลังการ ความเจ๋งสุดเนี้ยบของเมืองในยุโรปและญี่ปุ่น เรื่องราวสายลับ การแข่งรถ รถแข่งที่มี ทุกสิ่งในเรื่องเจ๋งมาก และการสร้างหนังเรื่องนี้ก็สนุกมากด้วย”