กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
นายประพันธ์ ตั้งจารุวัฒนชัย อุปนายกคนที่ 1 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณผลผลิตสุกรของไทยและในภูมิภาคเอเชียลดลงเข้าสู่ภาวะขาดแคลน ส่งผลให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เช่น ไต้หวัน จากเดิมราคากิโลกรัมละ 112 บาท ขยับขึ้นเป็น 118 บาท จีนจาก 100 บาทเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขยับเป็นกิโลกรัมละ 102 บาท กัมพูชากิโลกรัมละ 92-94 บาท และลาวกิโลกรัมละ 88-92บาท เป็นต้น ที่สำคัญคือราคายังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สุกรของไทย 70 บาท ต่อกิโลกรัม เป็นราคาต่ำสุดในนภูมิภาคนี้ และยังถูกคุมราคาโดยภาครัฐ
ผลผลิตสุกรที่ลดลงเป็นจำนวนมากดังกล่าว เกิดจากฟาร์มเลี้ยงสุกรในประเทศแถบเอเชียหลายแห่งรวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะฟาร์มรายย่อยที่ระบบป้องกันโรคยังไม่เพียงพอต่างประสบปัญหาโรคระบาด ทั้งโรคในระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัส PRRS สายพันธุ์จีน ที่เป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2553 และโรค FMD หรือปากเท้าเปื่อยที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จึงส่งผลโดยตรงให้สุกรแม่พันธุ์หายไปจากวงจรการผลิตจำนวนมาก และกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณสุกรขุนที่หายไปจากระบบมากกว่า 3,000 ตัวต่อวัน ประกอบกับยังประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่ซ้ำเติมให้สุกรมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ จากปัจจัยความเสียหายนี้ จึงทำให้ปริมาณเนื้อสุกรในท้องตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการ
นายประพันธ์กล่าวต่อด้วยว่า “สำหรับประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆก็คือ ราคาหน้าฟาร์มของไทยยังถูกรัฐบาลควบคุมอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งที่ในความเป็นจริงควรเห็นใจเกษตรกร โดยมองว่าเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะได้ขายผลผลิตในราคาที่อยู่ได้และพอมีกำไร จะได้มีโอกาสยกระดับมาตรฐานฟาร์มและพัฒนาระบบการป้องกันโรคให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ปริมาณสุกรก็จะเพิ่มขึ้น ดีมานด์-ซัพพลายในตลาดก็จะสมดุลกัน ราคาก็จะปรับตัวเองโดยอัตโนมัติ ในทางกลับกันหากฝืนกลไกตลาด ที่สุดแล้วเกษตรกรไม่สามารถอยู่ได้ต้องเลิกกิจการไป”