ปภ.ร่วมมือทางวิชาการกับญี่ปุ่น เลือกภูเก็ตนำร่องจัดการภัยสึนามิ

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday January 16, 2007 17:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันฯ ร่วมกับประเทศญี่ปุ่นจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการภัยพิบัติ เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถ ของกรมป้องกันฯ ในการจัดการกับภัยพิบัติ โดยเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการสำหรับภัยอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์ภัยพิบัติซึ่งนับวันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินและยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการและรับมือกับภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ร่วมมือทางวิชาการกับประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการภัยพิบัติขึ้น โดยคัดเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการสำหรับภัยอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกรมป้องกันฯให้เป็นองค์กรหลักของรัฐที่มีบทบาทและความรับผิดชอบด้านการจัดการภัยพิบัติ เพิ่มศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติทั้งระดับชาติและท้องถิ่น พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้แก่หน่วยงานในระดับภูมิภาคของกรมป้องกันฯ และกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกพื้นที่นำร่องเพื่อการป้องกันสาธารณภัย ได้ใช้วิธีการอาศัยชุมชนเป็นฐาน คือ การพัฒนาศักยภาพการวางแผนป้องกันในระดับหมู่บ้าน โดยคณะทำงานพิจารณาจากประวัติในการเกิดภัยพิบัติ ตำบลและชุมชนมีความเต็มใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนำร่อง มีแนวโน้มที่จะเกิดภัยพิบัติ สามารถเดินทางเข้าถึงได้ ไม่เคยเข้าร่วมโครงการในลักษณะดังกล่าวมาก่อน มีโรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนและมีความเต็มใจที่จะเข้าร่วมกับโครงการ ที่สำคัญควรมีความปลอดภัยให้กับคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้พิจารณาไว้ 3 พื้นที่เพื่อคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ พื้นที่แหลมตุ๊กแก ต.รัษฎา, พื้นที่กะรน ต.กะรน และพื้นที่หมู่ 6 ต.กมลา โดยจะคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพียงพื้นที่เดียวเพื่อดำเนินโครงการนำร่องดังกล่าว ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน 2 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ระหว่าง ก.ย. 49 — มี.ค. 50 เป็นช่วงการเตรียมการและการเริ่มต้น ระยะที่ 2 ระหว่าง เม.ย. 50 — มี.ค. 51 เป็นการดำเนินกิจกรรม ระยะที่ 3 ระหว่างเม.ย. 51 — ส.ค. 51 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง และเป็นช่วงที่โครงการดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ เมื่อเสร็จสิ้นโครงการดังกล่าวแล้ว กรมป้องกันฯ จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาในพื้นที่นำร่องมาขยายผลและดำเนินการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติ ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ให้กับพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นๆ ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ