กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
ความเจริญทางเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับยุคบริโภคนิยมในสังคมปัจจุบัน กำลังทำให้คนไทยขาดภูมิคุ้มกันทางใจและถูกคุกคามด้วย “ปัญหาสุขภาพจิต” เพราะต้องเผชิญกับการแย่งชิง การแข่งขัน เพื่อให้อยู่รอดในสังคม หรือให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่คาดหวัง จนกลายเป็นความกดดัน หากขาดความเข้มแข็งทางจิตใจ อาจทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ เมื่อเกิดข้อผิดพลาด การแก้ไขหรือการที่จะให้อภัยกันก็ลดน้อยถอยลง จนกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ทั้งที่บางเรื่องอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ แต่กลับกลายทะเลาะจนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมอย่างที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวขับรถปาดหน้าจนบันดาลโทสะยิงกันตาย หรือแย่งที่จอดรถกันจนเกิดการทำร้ายร่างกายกัน ถ้าคนเรารู้จักคิดก่อนที่จะทำ รู้จักการมีเมตตา และอภัยให้กันได้ เหตุการณ์แบบนี้คงไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย
นพ.อิทธิพล สูงแข็ง รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสภาพจิตใจของคนที่เปราะบาง การแย่งชิงแข่งขันกันในสังคมยุคปัจจุบัน ทำให้คนเราละเลยที่จะใส่ใจดูแลสภาพจิตใจของตัวเอง เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ต้องการ หรือเรื่องที่ไม่สบอารมณ์ ก็จะก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย เพราะไม่รู้จักวิธีคิดที่ถูกต้องหรือมีสติที่จะแยกแยะเหตุผล ถูกผิด คนที่มีความเครียดเป็นเรื่องปกติ แต่ความเครียดขนาดไหนที่จะต้องจัดการผ่อนคลายออกไป คนที่รู้จักวิธีผ่อนคลายความเครียด จึงเป็นบุคคลที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข คนที่มีความเครียดที่เกิดจากความคิดในทางโลภ โกรธ หลง อิจฉา ริษยา อาฆาต พยาบาท จองเวร หงุดหงิด รำคาญ จะเป็นเหตุให้เกิดอาการทางกายที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มอิ่ม หอบ น้ำตาไหล ซึมเศร้า เบื่อหน่าย หน้าตาหม่นหมอง หมดสง่าราศี อ่อนเพลีย หมดแรงปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ หลัง ปวดขา ปวดแขน ปวดหัว ใจเต้นเร็ว มือเท้าชา หรือมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
มนุษย์เรานั้นไม่ได้มีร่างกายที่ประกอบด้วยวัตถุธาตุเท่านั้น แต่มีจิตใจและจิตวิญญาณที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน สิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์อยู่ที่จิตใจ ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นและตั้งอยู่ที่ใจ จิตที่ดีย่อมส่งผลให้กายมีสุขภาพดีตามไปด้วย รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและอธิบายต่อว่าข้อมูลนี้มีความสอดคล้องกับผลการวิจัยของแพทย์ในยุคปัจจุบันที่บอกว่า ผู้ที่ฉุนเฉียว โกรธง่าย มีโอกาสตายเพราะโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไปร้อยละ 29 ยิ่งคนที่ชอบวิตกกังวลด้วยแล้ว มีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า โดยพบว่า ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า และความฉุนเฉียว เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย จิตดีกายดีจึงอยู่ที่วิธีการบริหาร ซึ่งการบริหารกายนั้นเราสามารถทำได้ด้วยการกินอาหารที่ถูกต้อง ได้สมดุล และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ “ส่วนการบริหารจิต หรือการบริหารสุขภาพจิต ” เราทำได้หลายวิธี การเจริญสติก็เป็นวิธีทางธรรมที่มีผู้ยอมรับว่าได้ผลเป็นจำนวนมาก การทำสมาธิภาวนา มองแง่ดี คิดแง่ดี มีเมตตา รู้จักให้อภัย และหมั่นทำความดี จิตคนเรานั้นมีความคิดเป็นอาหาร ถ้าจิตคิดดี จิตก็ได้อาหารดี สุขภาพจิตก็จะแข็งแรง ถ้าคิดมากฟุ้งซ่าน จิตก็จะอืดอาดอุ้ยอ้ายคิดช้า ซึ่งในทางพุทธศาสนา ถือว่า การทำความดีจะเอื้อให้เราสามารถสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้ใกล้ชิดได้
“ในโอกาสเทศกาลเข้าพรรษานี้กรมสุขภาพจิตจึงขอชวนคนไทยมาร่วมกันสร้างสุขให้กับตัวเองและคนรอบข้าง ด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่เป็นความรู้สึกทางด้านจิตใจ ความสุข ความทุกข์ ความผิดชอบ ความชั่ว ความดี และรู้จักที่จะบริหารจิต ด้วยการคิดดี ทำดี มีเมตตา เพราะคนเราจะทำความดีได้ต้องมีธรรมะ หรือจิตที่เป็นกุศล มีเมตตาและมีสัมมาทิฐิ ฯลฯ การทำความดีนั้นถือว่าเป็นการเสริมสร้างสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง เมื่อได้ทำความดีแล้วย่อมเกิดปีติหรือความอิ่มเอิบใจและเป็นสุข คนเราจะทุกข์จะสุขอยู่ที่ความคิด คิดดี จิตใจสบายมีความสุข คิดร้ายก็เครียดแค้น เก็บกด มีแต่ความทุกข์ จะสุขหรือทุกข์จึงอยู่ที่เราเลือกนั่นเอง” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวปิดท้าย