กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน รายงานว่าสำนักงานตรวจสอบอนามัยสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection: APHIS) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯได้เสนอแก้ไขระเบียบ (Interim Rule) การใช้วัสดุไม้ (Wood Packaging Material) ที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯใหม่ โดยเพิ่มเวลาของการรมควัน(Fumigation) วัสดุไม้ด้วย Methyl
Bromideในห้องที่ปิดมิดชิด จากเดิมอย่างน้อย 16 ชั่วโมง เป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งการแก้ไขระเบียบใหม่นี้มีผลบังคับใช้ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นต้นมา และสหรัฐฯได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย ให้ข้อคิดเห็นการแก้ไขระเบียบดังกล่าวจนถึง วันที่ 31 กรกฎาคม 2550
ระเบียบการใช้วัสดุไม้เพื่อบรรจุสินค้านำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯเป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชระหว่างประเทศ (ISPM 15) โดยเป็นระเบียบที่ใช้กับไม้หรือผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการรองรับ ป้องกัน หรือขนส่งสินค้าต่างๆ รวมถึงไม้รองหรือกั้นสินค้าในลัง ซึ่งสาระสำคัญของระเบียบสรุปได้ดังนี้
1. ก่อนนำวัสดุไม้มาทำเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ จะต้องใช้วิธี อบไม้ด้วยความร้อน จนอุณหภูมิที่แก่นไม้เท่ากับ 56 องศาเซลเซียส หรือ 132.8 องศาฟาเรนไฮด์ นาน 30 นาที หรือใช้วิธีรมควัน(Fumigation) ด้วย Methyl Bromideในห้องที่ปิดมิดชิดนาน 24 ชั่วโมง ภายใต้เงื่อนไขปริมาณ Methyl
Bromide ที่กำหนดและอยู่ในอุณหภูมิที่ไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส หรือ 50 องศาฟาเรนไฮด์
2. ต้องทำเครื่องหมายบนไม้ในจุดที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งประกอบด้วย Logo และอักษรย่อ IPPC (International Plant Protection Convention)
ระบุรหัสประเทศที่เป็นสถานที่จัดการไม้ ระบุ ISO Code และระบุหมายเลขที่หน่วยงานควบคุมโรคพืช (National Plant Protection Organization: NPPO) ออกให้ ซึ่งในประเทศไทยคือกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และระบุอักษรย่อ HT (Heat Treatment) หรือ MB (Methyl
Bromide)
3. หากสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ถูกตรวจพบว่ามีแมลงศัตรูพืชปะปนมากับบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าบรรจุภัณฑ์ไม้นั้นจะมีเครื่องหมายรับรองตามข้อ 2 แล้วก็ตาม
สินค้านั้นจะถูกส่งกลับ โดยผู้นำเข้าไม่มีสิทธิที่จะแยกตัวสินค้าออกจากบรรจุภัณฑ์ไม้ดังกล่าว รวมทั้งหากใน shipment เดียวกันมีบรรจุภัณฑ์ไม้ที่มีปัญหาเพียงบรรจุภัณฑ์เดียว สินค้าจะถูกส่งกลับหมดทั้ง shipment
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ระเบียบใหม่ดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาอุปสรรคแก่ผู้ส่งออกไทยที่ใช้วัสดุไม้เป็นบรรจุภัณฑ์มากนัก เพราะเป็นการเพิ่มเติมข้อกำหนดเฉพาะระยะเวลาการรมควันเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯควรเพิ่มความร0ะมัดระวังในการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันการมีแมลงติดไปกับวัสดุไม้ที่ใช้ทำเป็นหีบห่อสินค้า มิให้เกิดปัญหาสินค้าต้องถูกปฏิเสธการนำเข้าเนื่องมาจากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลียและจีน ต่างก็มีระเบียบนี้บังคับใช้ด้วยเช่นกันรายละเอียดของระเบียบดังกล่าว สามารถหาเพิ่มเติมได้ที่http://www.aphis.usda.gov/ppq/wpm/import.html
อนึ่ง สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกของไทยที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 650,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 740,702.34 ล้านบาท และในปี 2550 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 210,370.03 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.03