กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผ่อนผันวิธีการจัดซื้อหรือจัดจ้าง ในวงเงินสูงสุด ไม่เกิน 15 ล้านบาท หรือ 30 ล้านบาท ให้ใช้วิธีพิเศษได้ และให้ส่วนราชการขอเบิกเงินจากคลังทันทีที่ส่งมอบงาน โดยไม่ต้องรอกรรมการตรวจรับงานเสร็จก่อน
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง โฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายสมหมาย ภาษี) ให้มาศึกษาเพื่อปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการพัสดุและการเบิกจ่ายเงินจากคลังสำหรับส่วนราชการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จึงได้เสนอมาตรการเพื่อให้การช่วยเหลือ 2 ด้าน โดยเสนอให้ ครม. มีมติเห็นชอบ คือ
1. ด้านการพัสดุ กรณีจัดซื้อที่มีวงเงินเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 15,000,000 บาท หรือกรณีจัดจ้าง ที่มีวงเงินเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000,000 บาท ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบฯ ว่าด้วยการพัสดุ ทั้งนี้ ให้อยู่ในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะพิจารณาได้ตามความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเป็นสำคัญ การตรวจรับงานให้ส่วนราชการดำเนินการโดยเร็ว
2. ด้านการเบิกจ่าย ในกรณีที่คู่สัญญาได้ส่งมอบงานแต่ละงวด และแจ้งความประสงค์ว่า จะขอรับเงิน และนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศ (BANK GUARANTEE) มอบให้แก่ส่วนราชการเพื่อเป็นหลักประกันในแต่ละงวด เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าวงเงินที่ขอรับ ให้ส่วนราชการดำเนินการขอเบิกเงินจากคลังทันที โดยยังไม่ต้องดำเนินการตรวจรับงาน และเมื่อส่วนราชการตรวจรับพัสดุถูกต้องครบถ้วนในแต่ละงวดแล้ว ให้คืนหนังสือค้ำประกันให้แก่คู่สัญญาหรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องต่อไป
โฆษกกรมฯ ยืนยันว่า กรมบัญชีกลางจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับจ้างหรือบัญชีของส่วนราชการได้ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ส่วนราชการขอเบิกเงินผ่านระบบ GFMIS และหากเป็นกรณีที่จ่ายแก่ส่วนราชการ ส่วนราชการจะต้องดำเนินการจ่ายเงินต่อให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา 3 วัน นับจากวันที่รับเงินจากคลัง สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ได้เบิกจ่ายเงินตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 จำนวน 5,828.17 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายเงินในจังหวัดสงขลาไปแล้ว จำนวน 1,986.99 ล้านบาท จังหวัดสตูล 822.43 ล้านบาท จังหวัดปัตตานี 994.99 ล้านบาท จังหวัดยะลา 1,105.96 ล้านบาท และจังหวัดนราธิวาส 1,121.98 ล้านบาท
โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวเพิ่มเติม ว่า ได้เสนอ ครม. ให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตามมติ ครม. ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจังและเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน