สปส.แจงแนวการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยประกันสังคม

ข่าวทั่วไป Friday May 18, 2007 13:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงแนวปฏิบัติการให้บริการทางการแพทย์ ระบุให้ผู้ประกันตนได้รับยาไม่ต่ำกว่าบัญชียาหลักและสถานพยาบาลต้องให้บริการรักษาจนถึงที่สุด ไม่จำกัดจำนวนเงินและจำนวนครั้ง
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาสปส.เคยได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกันตนว่า โรงพยาบาลบางแห่งปฏิเสธการรักษา เนื่องจากยารักษาโรคมีราคาแพงและไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สปส.ขอยืนยันว่า สถานพยาบาลประกันสังคม จะต้องให้การรักษาผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา และขอย้ำแนวปฏิบัติการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน กรณีการรักษาโรคด้วยยาที่มีราคาสูง ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งกำหนดว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ โดยให้ได้รับยาและเวชภัณฑ์ที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีสิทธิตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ซึ่งกำหนดว่า สถานพยาบาลมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเต็มกำลังความสามารถของแพทย์ และจัดหายา เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้บริการทางแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเพียงพอจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดจำนวนเงินค่าใช้จ่าย และจำนวนครั้งที่เข้ารักษา โดยสถานพยาบาล จะไม่เก็บค่าบริการทางการแพทย์จากผู้ประกันตน
ดังนั้นเมื่อผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันไม่เนื่องจากการทำงานและเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่าจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาใดๆ ก็ตามแม้เป็นยาหรือเวชภัณฑ์ ที่มีราคาสูง หรือเป็นยานอกเหนือจากบัญชียาหลักแห่งชาติ หากการเจ็บป่วยนั้นมิใช่กลุ่มโรคหรือบริการที่กำหนดยกเว้นไว้ว่า ไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนย่อมมีสิทธิได้รับยาและเวชภัณฑ์ดังกล่าวนั้นได้ โดยสถานพยาบาลจะเรียกเก็บเงินค่ายาและเวชภัณฑ์กับผู้ประกันตนอีกมิได้
ทั้งนี้ในปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีโรงพยาบาลในโครงการจำนวน 266 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 153 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 113 แห่ง โดยสปส.ได้ปรับค่าบริการทางการแพทย์ให้สถานพยาบาลประกันสังคมตามมติคณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม คือ ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายจากเดิม 1,250 บาท/คน/ปี เป็น 1,284 บาท/คน/ปี และภาระเสี่ยงจากเดิมในอัตรา 205 บาทต่อคนต่อปี เป็น 211 บาท/คน /ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.2550

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ