กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--ตลท.
บริษัทจดทะเบียนทำกำไรงวดปี 2549 รวมกัน 469,354 ล้านบาท และมียอดขายรวม 5,609,734 ล้านบาท กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังครองแชมป์กลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงสุด โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 รองลงมาได้แก่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ตามด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ในขณะที่ PTT SCC PTTEP BBL และ PTTCH ครองแชมป์บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก
นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) 519 บริษัท หรือร้อยละ 98 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 532 บริษัท (รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 13 กองทุน) ได้ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549 แล้ว โดยมีกำไรรวม 469,354 ล้านบาท ลดลง 66,063 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 12 ทั้งนี้ หากไม่รวมกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 37,013 ล้านบาท ( เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ 60,269 ล้านบาท ) จะมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 9 ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนโดยรวมสามารถทำยอดขายได้ 5,609,734 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 18
สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ส่งงบการเงินประจำปี 2549 จำนวน 476 บริษัท (จากทั้งหมด 489 บริษัท) มีกำไรสุทธิรวม 467,369 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12 โดยมีบริษัทที่มีกำไร 388 บริษัทและขาดทุนสุทธิ 88 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 82 ต่อ18 ยอดขายรวม 5,574,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18
“สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนโดยรวมมีกำไรลดลงจากปี 2548 มาจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นมีเพียงร้อยละ 20 ลดลงจากปี 2548 ที่อยู่ที่ร้อยละ 22 ประกอบกับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทำให้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 รวมทั้ง ยังมีผลส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS39) ด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนยังสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 18” นางนงรามกล่าว
สำหรับบริษัทในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิ 357,095 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (469,354 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 17 ทั้งนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จึงทำให้กำไรขั้นต้นลดลงเป็นร้อยละ 21
ส่วนบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 370,537 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (469,354 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 19 เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จึงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเป็นร้อยละ 21
ทั้งนี้ หากพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมีกำไรสุทธิ 39,991 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มีกำไรสุทธิ 82,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ตามด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มีกำไรสุทธิ 7,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มียอดรวมกำไรสุทธิสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH)
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) ที่นำส่งงบการเงิน ไม่รวมบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (Non-Compliance: NC) และบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group : NPG) รวม 457 บริษัท มียอดขายเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม โดยมีกำไรสุทธิ 460,664 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (469,354 ล้านบาท) โดยผลการดำเนินงานเรียงตามกลุ่มที่มีกำไรสุทธิสูงสุด มีดังนี้
1. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค 20 บริษัท และหมวดเหมืองแร่ 1 บริษัท รวม 21 บริษัท มีกำไรสุทธิ 177,891 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 เท่ากับ 46,596 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ทั้งนี้หากไม่นับรวมกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคในปี 2548 จำนวน 46,393 ล้านบาท ผลประกอบการของกลุ่มทรัพยากรในปี 2549 จะลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.1 ทั้งนี้กลุ่มทรัพยากรมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เนื่องจากการความผันผวนของราคาของผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้อัตราขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 16 เหลือเพียงร้อยละ 14
2. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 53 บริษัท หมวดวัสดุก่อสร้าง 29 บริษัท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 11 กองทุน รวม 93 บริษัท มีกำไรสุทธิ 82,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 เท่ากับ 20,430 หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ส่วนหนึ่งมาจากบมจ.ธนายง (TYONG) มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 24,441 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ผลประกอบการของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างจะลดลง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เนื่องจากการปรับราคาวัตถุดิบ และราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้น
3. กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและ ประกันชีวิต รวม 67 บริษัท มีกำไรสุทธิ 65,633 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 40
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 55,664 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 เท่ากับ 38,770 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 41 โดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39) ทำให้ธนาคารมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากปี 2548 เท่ากับ 37,559 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 131 แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 17
ส่วนบริษัทในหมวดธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) 19 บริษัท มีกำไรสุทธิ 3,969 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 เท่ากับ 2,584 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 39 เนื่องจากบริษัทเงินทุนมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากปี 2548 เท่ากับ 813 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 136 ซึ่งเป็นการตั้งสำรองตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39) เช่นเดียวกับธนาคาร ทั้งนี้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมลดลง ส่งผลให้กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์มีรายได้ค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมสุทธิจากธุรกิจหลักทรัพย์ลดลงร้อยละ 6 และมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปี 2548
สำหรับบริษัทประกันภัย 17 แห่ง และประกันชีวิต 1 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 3,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เทียบกับปี 2548 ที่มีกำไรสุทธิ 3,315 ล้านบาท เนื่องจากมีเบี้ยประกันภัยรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และมีกำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16
4. กลุ่มบริการ ประกอบด้วย 6 หมวดธุรกิจ รวม 85 บริษัท มีกำไรสุทธิ 48,248 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 1 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทั้งนี้หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งมีกำไรสุทธิคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของกลุ่มบริการ มีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 4 เนื่องจากผลประกอบการของกลุ่มขนส่งทางเรือลดลงจากอัตราค่าระวางเรือที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนค่าน้ำมันที่ยังคงมีระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2548 แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 12,066 ล้านบาท หมวดพาณิชย์มีกำไรสุทธิคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของ กลุ่มบริการ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายสาขาในธุรกิจ ค้าปลีก หมวดการแพทย์มีกำไรสุทธิคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของกลุ่มบริการ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เนื่องจากการขยายตัวของรายได้ค่ารักษาพยาบาลจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น สำหรับหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ซึ่งมีกำไรสุทธิคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของกลุ่มบริการ มีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 29 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบมจ.ไอทีวี (ITV) จะต้องจ่ายเพิ่มค่าสัมปทานส่วนเพิ่ม ส่วนหมวดท่องเที่ยวสันทนาการมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 21 เนื่องจากปี 2548 มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 1,525 ล้านบาท
5. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 5 หมวดธุรกิจ รวม 70 บริษัท มีกำไรสุทธิ 39,991 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 63 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 23 ประกอบกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนรวม 5,190 ล้านบาท ทั้งนี้หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 73 ของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 109 ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มกำไรสุทธิของบมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) จำนวน 16,309 ล้านบาท (ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2548) โดยหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ
6. กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 25 บริษัท และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 11 บริษัท รวม 36 บริษัท มีกำไรสุทธิ 26,457 ล้านบาท ลดลงจากปี 2548 เท่ากับ 9,916 หรือคิดเป็นร้อยละ 27 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ประกอบกับมีภาระจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 39 แต่ได้รับผลดีจากการที่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 6,844 ล้านบาท ประกอบกับบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และชินแซทเทลไลท์ (SATTEL) มีกำไรสุทธิลดลงจากปี 2548 เท่ากับ 5,215 2,469 และ 1,383 ล้านบาท
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 23 บริษัท และหมวดธุรกิจการเกษตร 20 บริษัท รวม 43 บริษัท ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 12 เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น รวมทั้งการปรับราคาวัตถุดิบ และต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง โดยมีกำไรสุทธิ 13,140 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23
8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย 3 หมวดธุรกิจ 43 บริษัท มีกำไรสุทธิ 7,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 เท่ากับ 710 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (Non-Compliance: NC) และบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มที่แก้ไข การดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group: NPG) จำนวน 27 บริษัท นำส่งงบการเงินจำนวน 19 บริษัทโดยบริษัทที่ขึ้นเครื่องหมาย NC ในหมวดธุรกิจปกติ นำส่งงบการเงิน 6 บริษัท มีกำไรสุทธิ 6,124 ล้านบาท เนื่องจากมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ด้านบริษัทในกลุ่ม NPG นำส่งงบการเงินจำนวน 13 บริษัท มีกำไรสุทธิ 581 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายลดลงร้อยละ 25
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร.0-2229—2036 / ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร.0-2229—2037/ ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797