Road Mapวิชาชีพท่องเที่ยว ไทยเตรียมพร้อมสู้เสรีแรงงานอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 20, 2011 11:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทีดีอาร์ไอเสนอโรดแมปการเตรียมความพร้อมแรงงานฝีมือสาขาที่พักและการเดินทาง รองรับเสรีแรงงานอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า เน้นเพิ่มสมรรถนะทั้งแรงงานใหม่-เก่า ดึงสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนร่วม พัฒนาหลักสูตร ชูจุดแข็ง เสริมจุดอ่อน พัฒนาให้ถูกกลุ่ม ทำงานได้จริง ควรฝึกงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1-ปี4 สื่อสารได้มากกว่า 3 ภาษา อย่ากังวลต่างชาติแย่งงาน เพราะเงื่อนไขเข้าเมืองไม่ง่าย อีกทั้งผลตอบแทนในกลุ่มอาเซียนด้วยกันยังไม่จูงใจ การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียนจะมีผลเป็นทางการในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยอาเซียนมีกลไกข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพ หรือ MRA (ASEAN Mutual Recognition Arrangement) เป็นคุณสมบัติขั้นต้นของแรงงานฝีมือในสาขาต่าง ๆ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนยอมรับร่วมกันซึ่งจะช่วยให้นักวิชาชีพอาเซียนสามารถเข้าไปทำงานในประเทศสมาชิกได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติพื้นฐาน แต่ยังคงต้องดำเนินการขั้นตอนการเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพแล้ว 7 สาขา คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ ส่วนวิชาชีพท่องเที่ยวอาเซียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่อาเซียนให้ความสำคัญ และสมาชิก 9 ประเทศในอาเซียนมีการลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมฯเมื่อปี 2552 โดยไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่ได้ลงนาม เนื่องจากติดเงื่อนไขต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญของประเทศ แต่ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีอาเซียนได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงดำเนินการเตรียมพร้อมมาเป็นลำดับ และปัจจุบันได้จัดทำมาตรฐานสมรรถนะ (competency standard) และหลักสูตรอบรมเพื่อรองรับสมรรถนะขั้นพื้นฐานของบุคลากรที่ประกอบวิชาชีพท่องเที่ยวใน 32 ตำแหน่ง เสร็จเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีความละเอียดมากกว่ามาตรฐานที่ MRA กำหนด นางสาวสุวรรณา ตุลยวศินพงศ์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ และหัวหน้าโครงการศึกษากรอบความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานไทย ใน 32 ตำแหน่งงาน ภายใต้ข้อตกลงอาเซียน กล่าวว่า บุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวภายใต้กรอบ MRA อาเซียนประกอบด้วย 2 สาขาหลักคือ สาขาที่พักและสาขาการเดินทาง โดยสาขาที่พักประกอบด้วย 23 ตำแหน่งงานในแผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกอาหาร แผนกอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนสาขาการเดินทางประกอบด้วย 9 ตำแหน่งงานในตัวแทนท่องเที่ยวและบริษัททัวร์ข้อตกลง MRA ดังกล่าวครอบคลุมผู้มีงานทำในภาคท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยกว่า 2.7 ล้านคน ที่จะได้รับประโยชน์จากการยกระดับฝืมีอแรงงาน ให้ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองและมีทางเลือกในการทำงานจากตลาดแรงงานที่ใหญ่ขึ้น และแม้ไม่เดินทางไปทำงานประเทศอาเซียน ก็ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านท่องเที่ยวและโรงแรมคุณภาพดีที่พร้อมรับการแข่งขันเมื่อเปิดเสรีอาเซียน การศึกษาพบว่า ในภาพรวมแรงงานด้านท่องเที่ยวของไทย ใน 32 ตำแหน่งงาน ยังมีความขาดแคลนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แรงงานใหม่ที่จบการศึกษาสาขาโรงแรมและการท่องเที่ยวยังมีข้อจำกัดในการทำงานที่รู้แต่ทฤษฎี ซึ่งไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง อีกทั้งงานในบางตำแหน่งโดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติยังมีความขาดแคลน เช่น งานแม่บ้าน พนักงานซักรีด รวมถึงความอ่อนทักษะด้านภาษาในการสื่อสารกับผู้รับบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เป็นต้น การเตรียมความพร้อมเพื่อประกันโอกาสให้กับแรงงานไทยว่าจะได้ประโยชน์หรือไม่สูญเสียผลประโยชน์จากการปฏิบัติตามข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพโดยเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น จึงควรมีการจัดทำกรอบความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานไทย ใน 32 ตำแหน่งงาน ภายใต้ข้อตกลงอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยงานเอกสารและวิชาการ (รวมทั้งหลักสูตรและมาตรฐานสมรรถถะกำลังแรงงานไทย) บุคลากรตลอดจนงบประมาณ รวมถึงการประเมินศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาฝีมือแรงงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเปรียบเทียบกับความต้องการการพัฒนาฝีมือ การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมทั้งระบบฐานข้อมูลผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพแห่งอาเซียนและตำแหน่งงานในสาขาบริการท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดไว้ใน MRA ด้วย การเตรียมความพร้อมต้องทำทั้งแรงงานในระบบการศึกษาและแรงงานที่อยู่ในตลาด โดยควรเร่งรัดการผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากำลังแรงงานด้านการท่องเที่ยวให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเร่งพัฒนาสมรรถนะกำลังแรงงาน ให้มีการจัดทำกรอบความร่วมมือเฉพาะกิจกับสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ให้นำมาตรฐานสมรรถนะวิชาชีพการท่องเที่ยวอาเซียนเป็นบรรทัดฐานในการจัดทำหลักสูตรและการฝึกอบรม ผลิตกำลังแรงงานในสาขานี้ให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านทักษะภาษาต่างประเทศที่ยังเป็นจุดอ่อนของแรงงานไทยนั้น รัฐบาลควรถือเป็นโอกาสที่จะเร่งการพัฒนากำลังแรงงานที่เกี่ยวข้องในสาขาท่องเที่ยวให้มีความสามารถในการสื่อสารด้านภาษาต้องทำให้คนไทยมีทักษะภาษาแบบมืออาชีพสามารถสื่อสารภาษาได้หลายภาษาโดยเฉพาะภาษาอาเซียน น.ส.สุวรรณา กล่าวว่า วิชาชีพท่องเที่ยวเป็นสาขาหนึ่งที่สถาบันการศึกษาจำนวนมากเปิดสอนเนื่องจากคนรุ่นใหม่มีความต้องการเรียน การผลิตกำลังแรงงานในด้านนี้เฉพาะระดับปริญญาตรีแต่ละปีมีมากกว่าหนึ่งหมื่นคน ซึ่งเพียงพอแต่ยังขาดคุณภาพ จากหลักสูตรการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการแท้จริง สถาบันการศึกษาควรมีการทบทวนสาขาที่ผลิตแรงงานด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นสาขาที่เป็นทักษะเชิงลึกตามความต้องการของผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริหารระดับหัวหน้างานและระดับกลางขึ้นไปในสาขาการท่องเที่ยว มีแนวโน้มขาดแคลนเนื่องจากมีอัตราเข้า-ออก (turn over) ในโรงแรมระดับมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องมีการพัฒนาหัวหน้างานระดับต้น กลาง สูง ที่มีสมรรถนะที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน โดยเฉพาะทักษะการบริหาร การวางแผนอย่างเป็นระบบ และควรผลิตบุคลากรด้านแม่บ้านโรงแรม บริหารทั่วไปเพิ่มให้กับกำลังแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงาน เนื่องจากเป็นอาชีพที่ผู้จบการศึกษาใหม่ๆ ไม่สนใจทำ สถาบันการศึกษาควรปรับหลักสูตรด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยวให้เป็นหลักสูตรเชิงลึกมากขึ้น การฝึกงานของนักศึกษาควรเป็นการฝึกร่วมกับสถานประกอบการ โดยให้มีระยะเวลาการฝึกงานตั้งแต่ 3 เดือนต่อเนื่องไปจนถึง 1 ปีหรือฝึกสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 1- ปี 4 และจัดการฝึกงานให้อยู่ในช่วงที่มีความต้องการใช้แรงงานสูงหรือ High Seasonเพื่อได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงและให้เน้นบทบาทสมาพันธ์วิชาชีพในการดำเนินการจะมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐทำเอง “การเตรียมพร้อมแรงงานวิชาชีพท่องเที่ยวอาเซียนของไทยนั้นควรเน้นชูจุดแข็ง เสริมจุดอ่อน และพัฒนาคนให้ถูกกลุ่ม จึงจะสร้างความสมดุลในตลาดแรงงานด้านนี้ทั้งภายในประเทศและเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดเสรีอาเซียนได้ เช่น ผู้ทำงานในสาขาโรงแรมที่พักจำเป็นต้องได้รับการเสริมความรู้ด้านภาษา นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ควรรู้ภาษาอื่นๆ ที่ใช้ในอาเซียน ส่วนผู้ทำงานสาขาเดินทาง เช่น คนที่เป็นผู้แนะนำการเดินทาง หรือผู้จัดการท่องเที่ยว ควรยกระดับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ความเชี่ยวชาญแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย เป็นต้น” อย่างไรก็ตามจากความกังวลว่าหากเปิดเสรีแรงงานอาเซียนแล้วจะทำให้คนต่างชาติเข้ามา “แย่งงาน” คนไทยนั้น นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ไม่ควรวิตกเพราะแม้จะผ่านการรับรองตามมาตรฐานอาเซียนแล้วแต่ผู้ประกอบวิชาชีพยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของประเทศที่เข้าไปทำงานตามปกติ เช่น การสอบ การขึ้นทะเบียน การขอใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว เป็นต้น ในปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายแรงงานสาขาต่าง ๆ อยู่แล้ว ทั้งคนไทยไปทำงานต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่ไปทำงานนอกกลุ่มประเทศอาเซียนขณะที่กลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในสาขาท่องเที่ยวและที่พักนั้นพบว่ามีจำนวนไม่มากเพียงหลักพันคนเท่านั้น ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานตำแหน่ง นักร้อง นักดนตรี เช่น แรงงานจากฟิลิปปินส์นอกจากนี้รายได้ที่ไม่แตกต่างกันมากของประเทศในกลุ่มอาเซียนยังไม่จูงใจให้มีการย้ายไปทำงาน เพราะเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายอาจไม่คุ้ม ส่วนใหญ่จึงนิยมไปทำงานในประเทศที่มีผลตอบแทนสูงเช่น ประเทศในยุโรป และอเมริกา นอกจากนี้ตัวอย่างการรวมตัวของประชาคมยุโรป (EU) ก็พบว่ามีการเคลื่อนย้ายแรงงานในประเทศกลุ่มยุโรปด้วยกันน้อย ประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรวิตกมากนัก แต่ควรตระหนักในการเตรียมความพร้อมเพิ่มศักยภาพฝีมือแรงงานภายในประเทศสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของชาติและเป็นโอกาสให้แรงงานวิชาชีพของไทยมีโอกาสหาประสบการณ์ทำงานในตลาดต่างประเทศ หากเมื่อใดประเทศไทยสามารถลงนาม MRA วิชาชีพท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ และเกิดการผลักดันการพัฒนาฝีมือแรงานวิชาชีพท่องเที่ยวของไทยได้ตามแนวทางที่ได้เตรียมไว้พร้อมแล้ว . เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ โทร.0-2270-1350 ต่อ 113

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ