กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ทีวีบูรพา
รถสามล้อ ชื่อเรียกที่อาจจะคุ้นหู ในบางสถานที่อาจเป็นเพียงแค่รถธรรมดา และกำลังจะสูญหายไป แต่ในบางสถานที่กลับกลายเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ ความจริงแล้วรถสามล้อในประเทศไทยมีมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็ได้มีการพัฒนา ดัดแปลง ปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้ตามความต้องการ แต่จุดเริ่มต้นอาจจะเรียกได้ว่ามีจุดร่วมเดียวกันนั่นก็คือ “ สามล้อถีบ ” สามล้อถีบนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยนาวาอากาศเลื่อน พงษ์โสภณ นำรถลากของจีนมาดัดแปลงเข้ากับจักรยาน ทำให้สามารถช่วยผ่อนแรงในการรับส่งผู้โดยสารลงได้ จนกลายเป็นที่นิยม และกระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
หลังจากนั้นก็มีการพัฒนารูปแบบ และประโยชน์ใช้สอยของรถสามล้อเกิดขึ้น เช่น ในบางท้องที่แถบจังหวัดภาคใต้ มีการนำจักรยานมาเพิ่มล้อ และกระบะพ่วงเข้าที่ด้านข้าง ติดตั้งเก้าอี้หวายยึดแน่นกับกระบะ ออกวิ่งรับจ้าง กลายเป็นต้นแบบของ " สามล้อพ่วงข้าง " หรือรถสามล้อบางชนิดถูกดัดแปลง เพื่อให้เกิดความสะดวกให้การบรรทุกขนสิ่งของ จึงใช้กระบะติดไว้ที่ด้านหน้าของจักรยาน ก็เกิดเป็น “ สามล้อแดง ” หรือที่เรียกว่า “ รถซาเล้ง ” ต่อมาเพื่อทุ่นแรงของคนถีบรถสามล้อจึงมีการนำเครื่องรถจักรยานยนต์มาติดไว้เพื่อใช้แรงของเครื่องยนต์แทนการใช้แรงคนปั่น จนได้ชื่อว่า “ สามล้อเครื่อง ” ซึ่งวิวัฒนาการของสามล้อเครื่องนั้นสามารถเห็นได้ชัดจากจังหวัดแถบภาคอีสาน ซึ่งเป็นพัฒนาการขั้นต่อมาของรถสามล้อนั่นก็คือ “ รถสกายแลป ” ซึ่งเริ่มแรกนั้นเกิดจากรถสามล้อถีบที่มีกระบะอยู่ด้านหลัง แล้วนำเอาเครื่องรถจักรยานยนต์มาติดไว้ที่ด้านข้าง ทำให้สามารถขนของ และวิ่งได้ไกลขึ้น จึงได้รับความนิยม ส่วนรูปทรงของตัวรถได้มีการปรับปรุงเรื่อยมาจนเป็นแบบที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนชื่อที่ค่อนข้างแปลกหูนั้น เป็นชื่อของ สถานีอวกาศ ที่มีชื่อว่า สกายแลป ที่ถูกส่งไปโคจรในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่รถชนิดนี้เกิดขึ้นพอดี ถึงแม้จะไม่เกี่ยวข้องกัน หรือไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาที่เหมือนกันแม้แต่น้อย แต่ด้วยความแปลกใหม่ และเป็นข่าวที่โด่งดัง ทำให้สกายแลปถูกนำมาเรียกเป็นชื่อรถชนิดนี้ และเป็นที่ติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้
สุดท้ายรถสามล้อที่เป็นเหมือนการต่อยอดจนเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย นั่นก็คือ “ รถตุ๊ก-ตุ๊ก ” รถตุ๊ก-ตุ๊กนั้น จุดเริ่มต้นทีเดียวเป็นรถกระบะสามล้อที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งได้มีการดัดแปลงเป็นรถนั่งโดยสาร เพื่อทดแทนรถสามล้อถีบที่ถูกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งรถตุ๊ก-ตุ๊กยุคแรกนั้น จะมีลักษณะคล้าย และเป็นต้นแบบของรถตุ๊ก-ตุ๊กหน้ากบ ในแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดตรัง ซึ่งต่อมาทางญี่ปุ่นเลิกผลิตรถสามล้อชนิดนี้ ชาวไทยเราจึงต้องดัดแปลงรถขึ้นใช้เอง ส่วนชื่อเรียกของรถนั้น ก็มาจากเสียงของรถตุ๊ก-ตุ๊กนั่นเอง แต่รถสามล้อชนิดใดที่ยังมีใช้อยู่เพียงในไม่กี่จังหวัด และเกือบจะสูญหายไปจากบ้านเมืองเรา รถสามล้อชนิดใดที่ถูกจำกัดจำนวน รถสามล้อชนิดใดที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย และสามารถขายส่งออกไปยังต่างประเทศได้
ร่วมเดินทางตามหาอารยธรรมสามล้อในประเทศไทย ได้ในกบนอกกะลา คืนวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคมนี้ 20.40 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี