ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & ตราสารหนี้เดิม และจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ใหม่ “บ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ที่ “A” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 20, 2011 13:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” บริษัทจะนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกันยายน 2554 อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แบรนด์ที่แข็งแกร่ง ตลอดจนความสามารถของคณะผู้บริหาร การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัทร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง และภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงในระยะปานกลาง แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งดำรงอัตราการเติบโตและสภาพคล่องในระดับที่น่าพอใจเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 50% เป็นเวลาที่นานต่อเนื่องในระดับหนึ่ง ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทยก่อตั้งในปี 2526 โดยตระกูลอัศวโภคิน ณ เดือนกรกฎาคม 2554 ตระกูลอัศวโภคินมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 31% รองลงมาคือ Government of Singapore Investment Corporation (GIC) ในสัดส่วน 16% สินค้าหลักของบริษัทคือบ้านเดี่ยวซึ่งสร้างรายได้ในสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของรายได้รวม แบรนด์ที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่โดดเด่นในคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย การมีสินค้าบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์และราคาที่หลากหลายช่วยให้บริษัทสามารถเลือกเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับกำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละทำเล ความแข็งแกร่งทางการตลาดของบริษัทสะท้อนจากอัตราการเติบโตของยอดขายในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทมีอัตราเติบโตของยอดขายเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2550 อยู่ที่ 5.1% ต่อปี อุปสงค์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในระหว่างปี 2552-2553 ช่วยลดผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงในปี 2551 ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2553 บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์นำเสนอสินค้าที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์ใหม่ 3 แบรนด์สำหรับกลุ่มตลาดระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อหน่วย ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทคงต้องใช้เวลาในการสร้างฐานที่เข้มแข็งในตลาดใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสั้นนี้บริษัทน่าจะสามารถสร้างรายได้จากสินค้ากลุ่มใหม่ในระดับที่น่าพอใจอันจะช่วยเสริมอัตราการเติบโตของบริษัทให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมมากขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์น่าจะเริ่มเติบโตขึ้นจากการที่ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2554 ในขณะที่รายได้จากคอนโดมิเนียมจะเริ่มปรากฎเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2555 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 บริษัทมียอดขายโครงการคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่า 3.9 พันล้านบาท แม้ว่ามูลค่าดังกล่าวจะไม่ถือว่าสูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับระดับรายได้ในอนาคต แต่ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงด้านรายได้ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้เมื่อพิจารณาถึงผลงานความสำเร็จของบริษัทที่ผ่านมาในอดีต บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 18.9% ในไตรมาสแรกของปี 2554 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรดังกล่าวของบริษัทน่าจะอยู่ที่ 18%-19% ในระยะปานกลาง โดยคาดว่าจะมีแรงกดดันระดับหนึ่งจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดสำหรับโครงการ “Terminal 21” อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ เดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ 45.3% โดยอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไปอีกประมาณ 1-2 ปี ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยหลายประการ อาทิ ต้นทุนค่าก่อสร้างโครงการ Terminal 21 ต้นทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายจ่ายเงินปันผลอัตราสูง ทั้งนี้ บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.25 เท่าตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.83 เท่า ทริสเรทติ้งกล่าวถึงสภาพคล่องของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ว่ายังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แม้ว่าจะอ่อนแอลงนับจากปี 2553 จากภาระหนี้ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2553 บริษัทสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ 2.9 พันล้านบาท โดยเงินปันผลจากบริษัทร่วมคิดเป็นสัดส่วน 21% ของกระแสเงินสดดังกล่าว ทั้งนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากปี 2555 เมื่อรายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมเริ่มมีมากขึ้น ความต้องการที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยปกติภาครัฐมักให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากแรงกระตุ้นของมาตรการจูงใจด้านภาษีของภาครัฐในช่วงปี 2551-2553 และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ในสภาวะทรงตัวตลอดปี 2553 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลายรายได้เร่งซื้อที่ดินเพิ่มตั้งแต่ปลายปี 2552 ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของผู้ประกอบการหลายรายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2553 การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2554 และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงวงจรขาขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่คาดว่าจะชะลอความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการเก็งกำไรในตลาดคอนโดมิเนียมลงและลดทอนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้จะต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายน่าจะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้ประกอบการรายเล็กเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่พยายามเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจโดยการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ต่ำลง สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งกว่าในอดีต ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A อันดับเครดิตตราสารหนี้: LH119A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ A LH127A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2557 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ