กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--เอแบคโพล
ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการสร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรงกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่าผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ ในการสร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อ่างทอง ระยอง ราชบุรี นนทบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ หนองบัวลำภู มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น สตูล นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,559 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 13 — 19 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 จากการเลือกตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ค้นพบครั้งนี้คือ
เมื่อนำวิธีการถาม “ระยะห่างทางสังคมต่อผู้ตอบแบบสอบถามด้านการแจ้งความเอาผิดต่อผู้ทุจริตคอรัปชั่น” มาใช้ในการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.4 จะแจ้งความเอาผิด ถ้าพบเห็นแกนนำชุมชนของตน ทุจริตคอรัปชั่น รองลงมาคือ ร้อยละ 72.9 จะแจ้งความเอาผิด ข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 72.2 ระบุจะแจ้งความเอาผิด นักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 71.7 จะแจ้งความเอาผิด รัฐมนตรีที่ทุจริตคอรัปชั่น และร้อยละ 70.8 จะแจ้งความเอาผิดคนที่พักอาศัยในชุมชนเดียวกันที่ทุจริตคอรัปชั่น
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 61.0 จะแจ้งความเอาผิดเพื่อนบ้านสนิทที่พักอยู่ใกล้บ้านเดียวกันที่ทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 51.0 จะแจ้งความเอาผิดญาติพี่น้องของตนเองที่อยู่ในบ้านเดียวกันที่ทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 43.0 จะแจ้งความเอาผิด พ่อ แม่ หรือ ลูกของตนเองที่ทุจริตคอรัปชั่น และเพียงร้อยละ 38.1 จะให้ดำเนินการเอาผิดตนเอง ถ้าตัวผู้ตอบแบบสอบถามเองเกิดทำพลาดไปทุจริตคอรัปชั่น นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.5 คิดว่ายอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย ในขณะที่ร้อยละ 35.5 ยอมรับไม่ได้
เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามออกตามลักษณะเฉพาะตัว พบว่า ส่วนใหญ่ของทุกเพศ ทุกวัย ระดับรายได้ ทุกสาขาอาชีพ และการศึกษา ต่างก็ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย โดย ชายร้อยละ 63.4 และหญิงร้อยละ 65.4 ที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วตนเองได้รับประโยชน์ด้วย และที่น่าเป็นห่วงไปอีกคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.0 ของกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และร้อยละ 70.5 ของผู้อายุ 20 — 29 ปี ต่างก็ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วพวกเด็กและเยาวชนได้รับประโยชน์ด้วย ในขณะที่ ร้อยละ 67.2 ของผู้อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 63.6 ของผู้อายุ 40 — 49 ปี และร้อยละ 61.7 ของผู้อายุ 50 ปีขึ้นไป คิดว่ายอมรับได้เช่นกัน ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วตนเองได้รับประโยชน์ด้วย
นอกจากนี้ คนยิ่งมีรายได้สูงกลับมีสัดส่วนของจำนวนผู้ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วตนเองได้รับประโยชน์ด้วย โดยพบว่า ร้อยละ 64.0 ของผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน ยอมรับได้ ในขณะที่ ร้อยละ 71.0 ของผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ยอมรับได้ เช่นกัน
เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก เมื่อพบว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษา มีสัดส่วนสูงที่สุดคือร้อยละ 72.3 ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริต คอรัปชั่นแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย โดยรองลงมาคือ พ่อค้า กลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนตัว ร้อยละ 67.0 พนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 64.9 กลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานทั่วไปร้อยละ 56.4 และที่น่าสนใจพิจารณาคือ กลุ่มข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ ครึ่งต่อครึ่ง คือร้อยละ 50.9 ที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้รับประโยชน์ด้วย
และเมื่อจำแนกระดับการศึกษา ก็ยังพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับใด ก็ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วตนเองได้รับประโยชน์ด้วย โดยร้อยละ 66.7 ของผู้สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 58.4 ของผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วตนเองได้ผลประโยชน์ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์แนวคิดของ “กลุ่มต่อต้านคอรัปชั่นในทุกกรณี” คือกลุ่มที่ยอมรับไม่ได้ ถึงแม้รัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ตนเองได้รับผลประโยชน์ด้วย แต่รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น เสนอความต้องการต่อรัฐบาลชุดใหม่เพื่อสร้างชาติให้โปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.5 ของกลุ่มต่อต้านคอรัปชั่นในทุกกรณี ระบุให้เพิ่มโทษ ยึดทรัพย์ นักการเมือง ข้าราชการ และของเครือญาติที่รู้เห็นเป็นใจทุจริตคอรัปชั่น รองลงมาคือร้อยละ 87.0 ระบุให้ลงโทษทั้งผู้ให้และผู้รับ ร้อยละ 85.6 เสนอยกเลิกการ “อภัยโทษ” ต่อนักการเมืองและข้าราชการที่ต้องโทษทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 84.2 ระบุไม่ต้องให้โอกาสนักการเมือง และข้าราชการที่ถูกตัดสินลงโทษกลับเข้ามีอำนาจอีก ร้อยละ 73.3 ให้ประกาศบัญชีการใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐต่อสาธารณชนผ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 67.5 ตั้งคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์อิสระภายนอก กระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐ (ไม่ให้ตรวจสอบกันเองภายในเท่านั้น) ร้อยละ 62.7 ระบุต้องปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นผลร้ายของการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 61.8 เปิดเผยที่มาที่ไปของการใช้ เงินค่าปรับต่างๆ ให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ และร้อยละ 45.3 ระบุอื่นๆ เช่น ให้สื่อมวลชน ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ มีระบบฐานข้อมูลปัญหาคอรัปชั่น เพิ่มงบประมาณปราบปรามคอรัปชั่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.8 เห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมาะสมเป็นประธานรณรงค์สร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง อย่างจริงจังต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ระบุว่าไม่เหมาะสม
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทยและนี่คือสัญญาณเตือนภัยว่า คนไทยที่ถูกศึกษามีทัศนคติอันตรายมากอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และสะท้อนให้เห็นถึง “ความเห็นแก่ตัว” หรือ ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องต้องมาก่อนผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยมองแต่เฉพาะสิ่งที่ตนเองจะได้เฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะถ้าพบเห็นคนอื่นทุจริตคอรัปชั่นก็จะเอาเรื่องเอาผิดถึงขั้นแจ้งความร้องเรียนดำเนินคดี แต่กับคนใกล้ชิดที่สนิทสนมด้วยก็จะปล่อยปะละเลยมองข้ามไป และเห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ อนาคตของสังคมไทยจะตกอยู่ในสภาวะวิกฤตได้โดยง่าย เมื่อกลุ่มเยาวชน นักเรียนนักศึกษาเองกลายเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วพวกเขาได้รับผลประโยชน์ด้วย โดยมีกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการและแม้แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยอมรับเช่นนั้น นอกจากนี้ คนยิ่งรวยขึ้นยิ่งมีทัศนคติยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้วพวกเขาได้ผลประโยชน์ตามไปด้วย
แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หลายๆหน่วยงานได้ออกมาขับเคลื่อนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ซึ่งได้เริ่มต้นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ศูนย์คุณธรรม และ 20 เครือข่าย สมัชชาคุณธรรม ได้ผนึกกำลัง จัดงาน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด“สร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง” ในวันที่ 21-23 ก.ค. นี้ ณ ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีสาระสำคัญในการจัดทำแม่บท “ความซื่อตรงแห่งชาติ” หวังเพื่อบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ และสร้างกระแสเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมและความซื่อตรงในสังคมไทย เตรียมดีเดย์ประกาศวันซื่อตรงแห่งชาติ 22 กค พร้อมกันทั่วประเทศ และขับเคลื่อนทุกหน่วยงานภาคีวางเป้าไม่เกิน10 ปี ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจแห่ง “รอยยิ้มและความดีงาม”
“ข้อมูลชุดนี้คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้คนในสังคมไทยต้องช่วยกันคิด กลุ่มต่อต้านคอรัปชั่นในทุกกรณีต้องช่วยกันหาคำตอบและทางแก้ไข” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างร้อยละ 48.4 เป็นชาย ร้อยละ 51.6 เป็นหญิง ร้อยละ 4.1 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 22.4 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 31.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ตัวอย่างร้อยละ 10.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.3 ระบุพนักงานเอกชน ร้อยละ 6.6 ระบุเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ ร้อยละ 8.4 ระบุเป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.9 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ