กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ส.อ.ท.
ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าภูมิภาค) ได้มีหลักเกณฑ์การเรียกเก็บเงินค้ำประกันการใช้ไฟฟ้ากับผู้ประกอบการ โดยมีการวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า 5 ประเภท ได้แก่ เงินสด พันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ หนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศ หนังสือค้ำประกันของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหนังสือค้ำประกันของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภายในประเทศ และมีการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้ากรณีที่ผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า โดยกำหนดเป็นจำนวนเท่าของค่าไฟฟ้าต่อเดือน (1.25 เท่า, 1.5 เท่า หรือ 2 เท่าของวงเงินค้ำประกันเดิม) เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวถือว่าเป็นหลักประกันระยะยาวหรือสินเชื่อระยะยาวประเภทหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ คือ ได้รับวงเงินสินเชื่อลดลง นั้น
ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ส่งแบบสอบถามข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและหลักทรัพย์ค้ำประกันการใช้ไฟฟ้า ให้สมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ โดยตอบกลับจำนวน 747 แห่ง พบว่า มีหลักทรัพย์ที่วางกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เป็น Bank Guarantee สูงสุดประมาณ 76 % และเป็นเงินสด ประมาณ 18 % ตามลำดับ และถ้าพิจารณาอัตราค่าประกันการใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 1.36 เท่าของค่าใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นเงินกว่า 2,900 ล้านบาท
ในเรื่องนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาเห็นว่า เป็นภาระต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง และอาจส่งผลทำให้โอกาสในการแข่งขันของประเทศลดลง
ประเด็นนำเสนอของสภาอุตสาหกรรมฯ
- ขอยกเลิกหรือลดเงินค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- เปลี่ยนหลักทรัพย์ค้ำประกันการใช้ไฟฟ้ามาเป็นกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงไม่ต้องนำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันที่ธนาคารเพื่อทำ Bank Guarantee ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีวงเงินสินเชื่อเหลือเพิ่มขึ้น สามารถนำไปลงทุนหรือเพิ่มศักยภาพในด้านอื่นต่อไป