กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--มทร ธัญบุรี
คณาจารย์ และนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พร้อมใจกันลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลโคกขาม จ.สมุทรสาครตามโครงการแบบมีส่วนร่วม 84 หมู่บ้านชุมชนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา โครงการดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไร ตามไปดูโครงการนี้กันเลย
ผศ.ดร.สิริแข พงษ์สวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง พร้อมใจดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านและชุมชนแบบมีส่วนร่วม จำนวน 84 หมู่บ้าน โดยการดำเนินงานยกระดับคุณภาพชีวิตหมู่บ้าน “โครงการการฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยเทคนิคทางชีวภาพ” หมู่ที่ 3 ตำบลโคกขาม จ.สมุทรสาคร ลักษณะรูปแบบโครงการ คือ การถ่ายทอดเทคนิคการเพาะต้นกล้าไม้เบิกนำด้วยหัวเชื้อราปฏิปักษ์สดและอัดเม็ด Trichoderma ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นการฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยเทคนิคทางชีวิภาพ การเข้าไปถ่ายทอดความรู้ ณ ศูนย์เรียนรู้และปฏิบัติการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ยกตัวอย่าง อบรมการเพาะกล้าไม้เบิกนำบริเวณนากุ้งร้างด้วยเชื้อราปฏิปักษ์อัดเม็ดให้มีความแข็งแรงทนทานต่อโรค บริเวณนากุ้งในภาวะโลกร้อน เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชนและส่งผลดีต่อระบบนิเวศป่าชายเลนสมดุล
“เช” นายสมพล มีพ่วง นักศึกษาระดับปริญญาโท ผู้เข้าร่วมโครงการและทำการศึกษาการนำเชื้อรา Trichoderma มาใช้ เล่าว่า สืบเนื่องอาจารย์ ผศ.ดร.สุกาญจณ์ ขัตนเลิศนุสรณ์ ได้ทำการวิจัยในพื้นที่มาก่อน โดยอาจารย์เป็นที่ปรึกษาจึงได้มีโอกาสเข้าไปศึกษา หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ปลูกและทดสอบการใช้เชื้อราปฏิปักษ์ ผลการทดลองพบว่าไม้โกงกางใบเล็ก กล้าไม้โกงกางใบใหญ่ หรือว่ากล้าไม้แสมทะเล ต่างก็เจริญเติบโตได้ดีหลังจากที่ได้ใส่เชื้อราปฏิปักษ์ อัตราเฉลี่ยความสูงของโกงกางใบเล็กเท่ากับ 54.60 เซนติเมตร โกงกางใบใหญ่เท่ากับ 79.65 เซนติเมตร และไม้แสมเท่ากับ 55.57 เซนติเมตร “นำความรู้ที่ได้มาทำประโยชน์ในพื้นที่ สร้างความสัมพันที่ดีของนักศึกษา ชุมชน และสิ่งแวดล้อม”
“ตี๋” นายอดิศักดิ์ เหมคช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาชีววิทยา เล่าว่า รู้สึกดีที่ได้ลงพื้นที่ในการเข้าร่วมโครงการกับคณะ โดยการนำความรู้ที่ได้เรียนมาพัฒนาช่วยเหลือสังคม “ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น” เป็นการฝึกปฏิบัติลงพื้นที่จริง ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาปรับประยุกต์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม เร่งการเจริญเติบโตของต้นไม้ “ต้นไม้เยอะลดภาวะโลกร้อน” ทำให้สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ยกตัวอย่าง ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น เช่น ปลาตีน ปูเสฉวน “โครงการดังกล่าวยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติได้เข้ามามีส่วนร่วม ทำเพื่อในหลวงของพวกเรา”
เช่นเดียวกับ “แยม” นางสาวสุดารัตน์ ชมรุ่ง และ “อร” นางสาวบังอร แกมรัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาชีววิทยา เล่าว่า ป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ โดยอาศัยความเจริญเติบโตจากพืชป่าชายเลน ซึ่งถ้าป่าชายเลนเจริญเติบโตดีสัตว์ก็จะมีที่อยู่อาศัย “การลงพื้นที่ก็เริ่มตั้งแต่การเก็บฝักของโกงกางมาเพาะขยายพันธุ์ใส่เชื้อราปฏิปักษ์ Trichoderma หลังจากที่ได้ต้นกล้าก็นำไปปลูก” ชุมชนก็เป็นกันเอง ซึ่งรู้สึกผูกพันได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆของชาวบ้าน เช่น เทคนิคการวัดความเค็มของดิน ซึ่งหลักทางวิทยาศาสตร์จะใช้เครื่องวัดความเค็ม แต่ชาวบ้านใช้น้ำลายในการวัด “ถ้าชาวบ้านต้องการจะวัดก็จะถ่มน้ำลายลงไปบนดินถ้าน้ำลายเป็นฟองแสดงว่าดินยังเค็มอยู่” นอกจากความรู้ที่ได้รับมาจากชาวบ้านเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม ได้ทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นำเอาวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ๆมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
“ดิว” นายธนกร นาคสีคร้าม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาชีววิทยา เล่าว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนเองและเพื่อนเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้าน ต.โคกขาม ซึ่งชาวบ้านมีความเป็นกันเองเหมือนพ่อแม่ญาติพี่น้อง ดีใจที่ครั้งหนึ่งได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม และที่สำคัญได้นำเอาวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งไม่เพียงนำไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต ยังนำไปแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย “วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง” โดยต้องนำมาปรับมาประยุกต์แก้ไขสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น “วิถีชาวบ้านวิถีชุมชน ถ้าไม่ได้ลงมาสัมผัสจริงๆ เทคนิคใหม่ๆ หรือวิธีการที่ใช้ตามเทคโนโลยีชาวบ้าน ทุกวันนี้กำลังจะหมดไปจากสังคม “ดังนั้นถ้าเยาชนรุ่นหลังไม่ได้รับการถ่ายทอดก็หมดไป โครงการนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่ามาก”
การฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยเทคนิคทางชีวภาพ ต. โคกขาม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี 1 ในโครงการ 84 โครงการเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา การนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในชุมชน ถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ที่สำคัญได้ตอบแทนสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร ธัญบุรี 02-549-4994