กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กระทรวงพลังงาน
ปลัดกระทรวงพลังงานนำทีมสื่อมวลชนเยี่ยมชม " โครงการพัฒนาสาธิตระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลระดับชุมชน" โครงการในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ณ โรงสีข้าวและตลาดกลางสหกรณ์การเกษตรลำลูกกา จ.ปทุมธานี
วันนี้(21 มิ.ย.50) ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าการเยี่ยมชมในครั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการพัฒนาสาธิตระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลระดับชุมชน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการออกแบบ วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิง ( เครื่องจักร GasiFier 100 กิโลวัตต์) ซึ่งสามารถผลิตก๊าซเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 80 kW โดยระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงนี้สามารถผลิตก๊าซเชื้อเพลิงที่สะอาด และระบบนี้ได้ดำเนินการทดสอบมาแล้วมากกว่า 300 ชั่วโมง จากการวิเคราะห์ทางการเงินในเบื้องต้น ระบบผลิตไฟฟ้าขนาด 80 kW นี้ ใช้เงินลงทุน 4 ล้านบาท สามารถทดแทนน้ำมันดีเซลได้ 80 % ผลิตไฟฟ้าได้ที่ราคาหน่วยละ 2.80 บาท แต่หากเปลี่ยนไปใช้กับเครื่องยนต์ก๊าซ ต้นทุนการผลิตๆไฟฟ้าจะลดลงเหลือ หน่วยละ 1.90 บาท ทำให้มีผลตอบแทนการลงทุน 18 % และคืนทุนภายใน 4 ปี จะทำให้โรงสีสหกรณ์/ชุมชน ประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ปีละไม่น้อยกว่า 560,000 บาท ซึ่งเป็นกำไรเพิ่มที่สามารถปันผล เพิ่มไปสู่สมาชิกสหกรณ์/ชุมชน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้นำระบบฯ ขึ้นกราบบังคมทูลถวายรูปแบบจำลองภาพพิมพ์ระบบผลิตแก๊สเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยความร้อน แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการผลิตด้านพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อที่กระทรวงฯ จะได้นำไปพัฒนาให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและพึ่งพาพลังงานได้ด้วยตนเองและให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริต่อไป
ดร.พรชัย กล่าวอีกว่า ในปี 2554 กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล จำนวน 2,800 MW หรือคิดเป็นพลังงานได้ประมาณ 940 ktoe และใช้ผลิตพลังงานความร้อนเชิงพาณิชย์ 3,660 ktoe และในปัจจุบันสามารถผลิตได้อยู่ที่ 1,977 MW ซึ่งในประเทศไทยมีศักยภาพในการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมน้ำตาล ปาล์ม กระดาษ ยางพารา และโรงสีข้าว มาผลิตเป็นไฟฟ้าได้ถึง 3,300 MW หรือคิดเป็นพลังงานได้ประมาณ 4,600 ktoe
นายนเรศวร์ ชิ้นอินมณู (ผู้จัดการโรงสีข้าว) กล่าวว่า "โครงการพัฒนาสาธิตระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลระดับชุมชน ของ พพ. มีประโยชน์กับผู้ประกอบการที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นอย่างมาก ซึ่งโรงสีข้าวชุมชน CP-R500 มีกำลังการผลิต 12 ตัน/วัน และมีเป็นเศษวัสดุที่ได้จากการสีข้าวที่นำมาผลิตพลังงานถึงวันละ 2.5 ตัน ซึ่งถ้านำมาผ่านระบบผลิตไฟฟ้าแล้ว จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,000 หน่วยไฟฟ้า (kWh) หรือคิดเป็นพลังงานได้ปีละประมาณ 120 toe และสำหรับอีกหนึ่งจุดเด่นของโรงสีข้าวชุมชน CP-R500 ในเรื่องพลังงานคือระบบของระยะทางการนำข้าวเปลือกเข้าสู่กระบวนการจนสีเป็นข้าวยาวเพียง 27 เมตร ขณะที่โรงสีขนาดใหญ่มีระยะรวมกว่า 300 เมตร จึงสามรถประหยัดพลังงานได้ 50 %ในขั้นตอนนี้"