ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ใหม่วงเงินไม่เกิน 6,750 ล้านบาท และคงอันดับเครดิตองค์กร & ตราสารหนี้เดิม “บ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์” ที่ “A+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 21, 2011 13:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6,750 ล้านบาทของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้เดิม อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการมีตราสินค้า “Chicken of the Sea” ที่เป็นที่รู้จักในธุรกิจปลาทูน่ากระป๋องในประเทศสหรัฐอเมริกาและตราสินค้าในธุรกิจอาหารทะเลกระป๋องอีกหลายตราที่เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากความอิ่มตัวของอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงความเสี่ยงจากความแปรปรวนของราคาปลาทูน่าและความผันผวนของค่าเงินบาท แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและความมีประสิทธิภาพในการผลิต ฐานตลาดส่งออกที่กระจายตัวดีขึ้น รวมถึงสัดส่วนการจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของตนเองมากขึ้นจะช่วยให้กำไรของบริษัทมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบันจะลดลงโดยลำดับและอยู่ต่ำกว่าระดับนโยบายที่ 50% ในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลจันศิริ ผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลมากกว่า 2 ทศวรรษ บริษัทเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งรายใหญ่ของประเทศไทยโดยมียอดขายในปี 2553 อยู่ที่ 71,507 ล้านบาท และมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 220,000 ตัน ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากการรวมงานด้านบรรจุภัณฑ์เข้ากับเครือข่ายกระจายสินค้า ในเดือนตุลาคม 2553 บริษัทได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ MW Brands Holding Group (MWB) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องแบบครบวงจรตั้งแต่การมีกองเรือจับปลาไปจนถึงโรงงานผลิต และช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดยุโรป บริษัทมีโรงงานหลักตั้งอยู่ในประเทศซีเชลล์และกาน่า และมีตลาดหลักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ การซื้อหุ้น MWB ทำให้บริษัทเป็นเจ้าของตราสินค้าที่มียอดจำหน่ายอันดับต้น ๆ ในยุโรป ได้แก่ Petit Navire, John West, Mareblu และ Hyacinthe Parmentier นอกเหนือจาก “Chicken of the Sea” ซึ่งเป็นตราสินค้าที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การซื้อกิจการ MWB ทั้งหมดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ช่วยเสริมความเป็นผู้นำในธุรกิจปลา ทูน่าให้แก่บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ มากยิ่งขึ้น โดยปริมาณผลิตปลาทูน่าเพิ่มขึ้นเป็น 85,000 ตันในไตรมาสแรกของปี 2554 หรือประมาณ 330,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตปลาทูน่าทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดส่งออกของบริษัทก็มีการกระจายตัวยิ่งขึ้น โดยยอดขายในสหภาพยุโรปมีสัดส่วนคิดเป็น 33% ของรายได้รวมในไตรมาสแรกของปี 2554 เทียบกับ 16% ในปี 2553 ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดหลักของบริษัท โดยคิดเป็นสัดส่วน 37% ของรายได้รวมในไตรมาสแรกของปี 2554 ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วน 9% บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าคิดเป็น 52% ของยอดขายรวม ตามด้วยกุ้งแช่แข็ง 17% อาหารสัตว์กระป๋อง 7% และอาหารทะเลกระป๋อง 4% ฐานรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสแรกของปี 2554 บริษัทมียอดขายรวม 743 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายของ MWB เท่ากับ 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 23% ของยอดขายรวม ยอดขายของบริษัทซึ่งไม่รวมของ MWB คิดเป็น 569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดขายของ MWB นั้นเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 7.4% ในไตรมาสแรกของปี 2554 จาก 6.5% ในปี 2553 เนื่องจากการรวม MWB ซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทยังต่ำกว่าคาดเนื่องจากต้นทุนกุ้งและปลาทูน่าที่สูงขึ้น กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนสินค้าคงคลังของ MWB ที่สูงขึ้น 2.8 ล้านยูโรจากการประเมินราคาใหม่เพื่อให้สะท้อนราคาตลาดในช่วงที่บริษัทซื้อกิจการของ MWB อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในไตรมาสแรกของปี 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 1,822 ล้านบาทตามการเติบโตของยอดขาย อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนมีนาคม 2554 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 62.2% จาก 61.7% ณ สิ้นปี 2553 เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นและการอ่อนตัวของค่าเงินบาท อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ในระดับต่ำเพียง 3.5 เท่า ทั้งนี้ คาดว่าความสามารถในการทำกำไรและชำระหนี้ของบริษัทในส่วนที่เหลือของปีจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากบริษัทได้จำหน่ายสินค้าคงคลังราคาสูงที่เกิดจากการปรับปรุงทางบัญชีไปหมดแล้วเมื่อไตรมาสแรกของปี 2554 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทยอยปรับเพิ่มราคาสินค้าตามต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย อีกทั้งการลดระยะเวลาในการรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งจะช่วยให้บริษัทสามารถปรับราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนได้อย่างทันเวลายิ่งขึ้นและช่วยฟื้นกำไรของธุรกิจกุ้งให้กลับคืนสู่ระดับปกติได้ ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (TUF) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: TUF13NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A+ หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 6,750 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ