กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--กกร.
ความเห็นของภาคเอกชน เรื่อง “การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ”
ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของแรงงาน โดยเฉพาะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันการปรับ ขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงาน รวมทั้งประชาชน สามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่ง ภาคเอกชน มีความห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าว
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล) ยืนยัน แนวทางการพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้
1. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ เนื่องจากกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกลไกตลาด
3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง
4. หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ส.อ.ท. เสนอให้รัฐบาลหาแนวทางจ่ายส่วนต่างของค่าจ้างดังกล่าว
ประธาน หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (นายดุสิต นนทะนาคร) กล่าวเสริมและแสดงข้อกังวล ดังนี้
1. ระยะสั้น ธุรกิจของประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นขนาดเล็ก (SMEs) จะได้รับผลกระทบอย่างมากต่อการปรับค่าจ้าง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวได้
2. ระยะยาว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท จะทำให้ค่าจ้างแรงงานของไทยสูงโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นประเทศไทยอาจสูญเสีย ความสามารถในการแข่งขันในการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะปรับลดได้ปีละ 25% หรือ 1 แสนล้านบาท และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก
เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย (ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล) กล่าวเสริมว่า ภาคเอกชน สนับสนุนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคมไทย แต่เนื่องจากธุรกิจเอกชนมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก หากมีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันจะมีผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆมากน้อยไม่เท่ากัน ภาคเอกชนเห็นว่าการขึ้นค่าแรงจะต้องมีมาตรการเสริมเพื่อรองรับอย่างเหมาะสมเพื่อประกอบการตัดสินใจในการปรับตัวและวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ จึงขอความชัดเจนในประเด็นต่อไปนี้
1. หากมีการขึ้นค่าแรงจะมีขอบเขตคลอบคลุมพื้นที่ต่างๆ อย่างไร ? และจะมีขั้นตอนการขึ้นอย่างไร?
2. รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ ( productivity) ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลดความเลื่อมล้ำอย่างไร ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
3 สำหรับธุรกิจที่อาจจะต้องลดการจ้างงาน หรือเลิกกิจการ รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาและรองรับคนที่ตกงานอย่างไรบ้างหรือไม่
ความเห็นของที่ประชุม กกร. นัดพิเศษ
เห็นว่ามีผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมทั้งประชาชน จึงพร้อมจะหารือกับภาครัฐหาแนวทางร่วมกัน เพื่อประโยชน์กับทุกภาคส่วน