กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--สสส.
สสส. ชวนเยือนถนนเด็กเดินที่บางหลวง ดูเยาวชนสืบสาน-ส่งเสริมใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นเชื่อมคนสามวัยในชุมชน1 ใน 18 โครงการนำร่องที่จัดขึ้นแล้วงานแรกที่บางหลวง
เมื่อวันที่ 15-16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ชุมชนบางหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม เทศบาลตำบลบางหลวง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และหอการค้านครปฐม ร่วมกันจัดงานถนนเด็กเดินที่บางหลวง “ไปเยือนบางหลวง แล้วคุณจะรักบางหลวง (ร.ศ. 122)” ในโครงการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดบางหลวง ที่ ต.บางหลวง อ.บางเลน จ.นครปฐม
โดย นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ (สสส.) กล่าวว่า ถนนเด็กเดินสายวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นการสร้างมิติการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในชุมชนโดยใช้เครื่องมือที่เป็นรากเหง้า ศิลปวัฒนธรรมในชุนชน มาเป็นกระบวนการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับเยาวชนได้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมชุมชน รู้จักรัก หวงแหน สืบสาน และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงคนสามวัยในชุมชนอย่างผู้เฒ่าผู้แก่ศิลปินต้นแบบ คนวัยทำงาน และรุ่นลูกรุ่นหลานได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ มีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะเข้ามาสู่ชุมชนได้
“นอกจากศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของชุมชนบางหลวงแล้วในงานจะมีขบวนแห่เทียนเข้าพรรษาแบบย้อนยุคโดยเยาวชนไทยภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ซึ่งเป็นขบวนกลองยาวที่ยาวที่สุดในประเทศไทย จำนวน 60 ลูก พร้อมด้วยนางรำที่จะมารำนำขบวนจำนวน 107 คน ผสมผสานกับแตรวงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยมีนักศึกษาลาวแต่งกายชุดประจำชาติ อาทิ ไทย จีน ลาว ไทยทรงดำ ไทยโบราณ ตามด้วยขบวนดนตรีจีนย้อนยุคกว่า 8 ทศวรรศจากชุมชนบางหลวงที่นำนักดนตรีมาบรรเลงด้วยกว่า 60 คน นอกจากนี้ยังจะได้ชมวิถีชีวิตย้อนอดีต 107 ปีของชุมชนบางหลวงที่สัมผัสได้ ทั้งร้านทำฝันที่ใช้เท้าถีบ, ร้านทำทองโบราณ, ร้านตีเหล็กที่มีอายุกว่า 100 ปี หรือแม้แต่รถลากอายุกว่า 80 ปีที่ล้วนแต่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบันแต่สามารถชมได้ที่บางหลวงที่เดียวเท่านั้นอีกด้วย” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
ด้านอาจารย์ไพจิตร ศุภวารี ประธานสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม กล่าวว่า การมาเยือนบางหลวงในครั้งนี้ นอกจากจะได้สัมผัสกลิ่นอายของวัฒนธรรมย้อนยุคที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชุมชนบางหลวงแล้ว ยังมีการแสดงของเยาวชน และการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ การเชิดหนังตะลุง, การขับร้องเพลงฉ่อย, การแสดงของชนเผ่าไทยทรงดำ, การร่ายรำแบบศิลปะดั้งเดิม ฯลฯ ที่น่าชมมากที่สุดคือการฉายหนังไทย 16 ม.ม.ด้วยเครื่องฉายหนังที่มีอายุกว่า 60 ปี ฉายหนังไทยที่นำแสดงโดย มิตร-เพชรา เป็นการพากย์สดและวางแบ็คกราวด์สด ซึ่งจะหาชมจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว สำหรับสถานที่ดูหนังนั้นก็เป็นการจัดฉายในโรงหนังเก่าที่สุดของภูธร ที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 โดยปัจจุบันมีอายุถึง 72 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีหนังสั้นฝีมือของเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในโครงการทำหนังสั้นจากบทความคุณภาพ ผลงานการเขียนของ ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” มาฉายร่วมด้วย ซึ่งเชื่อได้ว่าทุกคนที่มาเยือนบางหลวงในครั้งนี้ จะรักบางหลวง ร.ศ.122 แน่นอน
โดยนายชาลี ศรีพุทธาธรรม ผู้สืบทอดวิธีการตีเหล็กแบบโบราณ และเจ้าของบ้านตีเหล็ก กล่าวว่า ที่บางหลวงมีศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่กว่าร้อยปี ซึ่งสามารถดูประวัติได้จากการเก็บรวบรวมเครื่องอุปโภคเก่าแก่ของชุมชนเอาไว้ที่บ้านเก่าเล่าเรื่อง ซึ่งชาวบ้านที่นี่เรียกกันว่า “บ้านเก่า เหล่าเต๊งไม้” ซึ่งสิ่งของทุกชิ้นนั้นจะมีประวัติศาสตร์บอกเอาไว้ อาทิ แตรเรือเก่า เสื้อคลุมทหารญี่ปุ่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2, เรือเก่า, เครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่า, เก้าอี้ตัดผม และอื่นๆ อีกมาก นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการตีเหล็กแบบสูบลมซึ่งหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบันนี้ ส่วนเรื่องของการแสดงที่โดดเด่นก็คือ การเล่นดนตรีจีนที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานเพราะตัวโน๊ตที่ใช้เป็นตัวโน๊ตที่มีอายุเก่าแก่กว่า 4 พันปี เครื่องดนตรีก็หลากหลาย ที่สำคัญถูกถ่ายทอดออกมาโดยเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านนั่นเอง และทีน่าสนใจอีกอย่างก็คืออาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของบางหลวงอย่างข้าวเกรียบปากหม้อไส้ผักต่างๆ หากมาแล้วไม่ได้ทานจะบอกได้ว่า “มาไม่ถึงบางหลวง”
ทั้งนี้ นายดนัย หวังบุญชัย ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า งานถนนเด็กเดินในครั้งนี้ถือเป็นงานแรกจาก 18 พื้นที่ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศภายในปีนี้ หลังจากได้เกิดถนนเด็กเดินต้นแบบไปแล้วที่ชุมชนนางเลิ้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เยาวชนและชุมชนมีพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกันนำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งในอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ตามโดยบทบาทแล้ว สสส. ทำได้แค่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะช่วยหล่อเลี้ยงเท่านั้น ถ้าหากมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนเห็นความสำคัญและสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็จะสามารถทำให้พื้นที่สร้างสรรค์นั้นมีความเข็มแข็งมากขึ้น ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การเกิดเป็นถนนเด็กเดินที่จัดได้ทุกเดือนทุกสัปดาห์ และมีความต่อเนื่องได้
นอกจากถนนเด็กเดินที่บางหลวง “ไปเยือนบางหลวง แล้วคุณจะรักบางหลวง ร.ศ.122” แล้วในปีนี้ยังจะมีถนนเด็กเดินอีก 17 โครงการที่จะทยอยมาสร้างปรากฏการณ์ “ถนนเด็กเดิน ถนนสายศิลปวัฒนธรรม เพื่อสืบสานรากเหง้าของชุมชนเผยแพร่ผ่านเด็กและเยาวชนในชุมชน” ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป มาให้ประจักษ์แก่สังคมแน่นอน โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและดูรายชื่อของทุกพื้นที่ได้ที่ www.artculture4health.com หรือที่ www.facebook.com/Sponsorship.TH