นักวิทย์รุ่นเยาว์เจ๋ง พบ“น้ำมะพร้าวหมัก” ช่วยน้ำยางจับตัวดีกว่า “กรด”

ข่าวทั่วไป Thursday July 21, 2011 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--สวทช. ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. นักวิทย์รุ่นเยาว์จากโครงการJSTP พบ “น้ำมะพร้าวหมัก” มีประสิทธิภาพช่วยน้ำยางพาราจับตัวเร็วกว่าการใช้กรดแอซิติก (กรดน้ำส้ม) ถึง 8 เท่า เผยแผ่นยางพาราดิบที่ได้มีคุณภาพดี เหมาะต่ออุตสาหกรรมยางพาราในครัวเรือน เสนอเป็นทางเลือกใหม่ใช้สารจากธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี เพื่อสุขภาพที่ดีของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม นางสาวศรีสุดา โรจน์เสถียร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี และเยาวชนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน ( Junior Science Talent Project : JSTP ) สวทช. เปิดเผยว่า ยางพาราเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งในขั้นตอนการผลิตยางแผ่นดิบจะต้องมีการนำน้ำยางพารามาผสมกับสารละลายกรด เช่น กรดฟอร์มิก หรือ กรดแอซิติก (กรดน้ำส้ม) เพื่อให้เนื้อยางจับตัวกันเป็นก้อนก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นยางแผ่น แต่ด้วยสารละลายกรดเป็นสารเคมีที่นอกจากจะมีราคาแพงแล้ว การที่เกษตรกรสัมผัสสารละลายกรดบ่อยครั้งอาจมีผลเสียต่อสุขภาพได้ในอนาคต จึงทำให้เกิดความสนใจศึกษาหาสารจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเป็นกรดมาช่วยในการจับตัวของน้ำยางพาราแทนสารเคมี “เมื่อลองหาวัตถุดิบในภาคใต้พบว่า พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่นอกจากเป็นสวนยางพาราแล้ว ชาวบ้านมักปลูกสวนมะพร้าวในบริเวณใกล้เคียงกันด้วย โดยส่วนใหญ่จะเน้นขายเนื้อมะพร้าวและทิ้งน้ำมะพร้าวไว้ เพราะขายไม่ได้ราคา น้ำมะพร้าวที่เหลือทิ้งบางส่วนชาวบ้านจะนำมาใช้ถนอมอาหารด้วยการดองผักตามภูมิปัญหาดั้งเดิม เช่น ผักเสี้ยนดอง ซึ่งจะมีรสเปรี้ยว เนื่องจากปกติสารที่มีรสเปรี้ยวมักมีสมบัติเป็นกรด จึงตั้งสมมุติฐานว่า หากนำน้ำมะพร้าวมาหมักก็จะมีฤทธิ์เป็นกรด และอาจนำมาใช้แทนสารเคมีในกระบวนการผลิตแผ่นยางดิบได้ จุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยเรื่อง “ผลของน้ำมะพร้าวหมักและกรดแอซิติกต่อการจับตัวของยางพาราในการผลิตยางแผ่นดิบ” โดยมี นางสาวคณิตา สุขเจริญ อาจารย์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี เป็นที่ปรึกษา และ นางฉวีวรรณ คงแก้ว นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ( MTEC ) สวทช. เป็นนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง” นางสาวศรีสุดา กล่าวว่า ในงานวิจัยได้ทดลองนำน้ำมะพร้าวหมักผสมกับน้ำยางพาราในภาชนะขนาด 5x10x16 ลูกบาศก์เซนติเมตร พบเนื้อยางพารามีการจับตัวกันได้ดี จึงทำการทดลองต่อในภาชนะขนาด 8x20x35 ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งเป็นภาชนะมาตรฐาน โดยศึกษาหาอัตราส่วนของน้ำมะพร้าวหมัก (น้ำมะพร้าวต่อน้ำตาล) และอัตราส่วนการผสมของน้ำมะพร้าวหมักต่อน้ำยางพารา ว่าอัตราส่วนใดที่จะมีผลให้เนื้อยางพาราจับตัวได้ดีและใช้เวลาน้อยที่สุด “ผลการทดลองพบว่า อัตราส่วนของน้ำมะพร้าวหมักที่ช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวกันดีที่สุดคือ คือนำมะพร้าว 16 ส่วน ต่อ น้ำตาล 1 ส่วน ระยะเวลาการหมัก 22 วัน มีผลให้น้ำยางพาราจับตัวกันอย่างสมบูรณ์ได้เร็วเฉลี่ย 18 นาที แผ่นยางที่ได้มีคุณภาพดี มีสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อนสม่ำเสมอทั้งแผ่น ส่วนอัตราส่วนของน้ำมะพร้าวหมักผสมกับน้ำยางพารา พบว่า อัตราส่วนน้ำยางพารา:น้ำมะพร้าวหมัก:น้ำ ที่ใช้ทดลองทั้งสามแบบ คือ 4:2:1, 4:1.5:2, และ 4:2:2 นั้น ช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวได้ดีในเวลาที่ไม่ต่างกันมากนัก จึงใช้ได้ทุกอัตราส่วน โดยพิจารณาตามความเหมาะสม นอกจากนี้ในงานวิจัยยังได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการจับตัวของน้ำยางพาราที่ใช้น้ำมะพร้าว และกรดแอซิติก ที่มีการควบคุมค่าความเป็นกรด-เบส หรือค่า pH ให้เท่ากัน พบว่า น้ำมะพร้าวหมักที่อัตราส่วน 16:1 (น้ำมะพร้าวต่อน้ำตาล) ช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวได้เร็วกว่าการใช้กรดแอซิติกถึง 8.11 เท่า และเมื่อนำยางแผ่นที่ได้จากน้ำมะพร้าวหมักไปทดสอบคุณภาพกับสถาบันวิจัยยางพารา กรมวิชาการเกษตร พบว่ายางแผ่นที่ได้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทั้งในส่วนของสี (Lovibond scale) ที่ได้ ค่าความอ่อนตัวแรกเริ่ม ปริมาณไนโตรเจน สิ่งระเหย และเถ้ามีค่าใกล้เคียงกัน” นางสาวศรีสุดา กล่าวว่า ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวหมักช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวได้ดี และแผ่นยางที่ได้มีคุณภาพใกล้เคียงกับการใช้กรดแอซิติก ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปทดลองใช้ได้ เพียงแต่ในเบื้องต้นยังเหมาะต่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมครัวเรือนเท่านั้น ส่วนแผนงานวิจัยต่อจากนี้จะมีการศึกษาว่าสารชนิดใดในน้ำมะพร้าวที่ช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาไปสู่การนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมยางพาราขนาดใหญ่ในอนาคต อย่างไรก็ตามหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “น้ำมะพร้าวหมัก” จะเป็นสารจับตัวของน้ำยางพาราทางเลือกใหม่ เพราะนอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าน้ำมะพร้าวที่ถูกทิ้งไว้อย่างน่าเสียดายด้วย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. โทร 0-2564-7000 ต่อ 71185-6 ,6112 หรือ thaismc@nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ