กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี
ซีเกท สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอทีร่วมกันพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) จะร่วมกันจัดการแข่งขันระดับประเทศเพื่อคัดเลือกทีมสุดยอดจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ในการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นครั้งที่สอง
“การจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองในประเทศไทยและครั้งที่สองในโลกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในประเทศไทยเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและวิศวกรรมควบคุม การแข่งขันนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มาจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความแปลกใหม่ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาโดยรวมของประเทศไทย” ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว
การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นการแข่งขันออกแบบและพัฒนาจักรยานที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบสองล้อหน้าหลังได้ด้วยตัวเองโดยไม่ล้มไปด้านข้างโดยใช้การควบคุมทางพลศาสตร์ จักรยานหุ่นยนต์ ไร้คนบังคับที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดและเร็วที่สุดจะเป็นทีมชนะเลิศ กติกาการแข่งขันซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สองนี้เหมือนกับกติกาการแข่งขันซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก การแข่งขันที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่สองนี้จะมีขึ้น ณ สนามบางกอก เรซซิ่ง เซอร์กิต (Bangkok Racing Circuit) ถ.ศรีนครินทร์
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยเป็นปีที่สอง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้มีโอกาสอันมหาศาลในการยกระดับศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ นอกจากความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้เรียนรู้ผ่านทางประสบการณ์ของการปฏิบัติจริงในการสร้าง ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ นิสิตนักศึกษาเหล่านี้จะได้มีโอกาสร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและนักอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนพัฒนาทักษะทางด้านความคิด เช่น การคิดอย่างมีตรรกะ การสร้างทีมงานและการจัดการโครงงาน”
“ในขณะที่ความคิดริเริ่มของการแข่งขันนี้มีความสำคัญมากขึ้น ความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยยกระดับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนก็เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ บรรดาผู้ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นผู้นำเพื่อผลักดันให้มีการสร้าง การพัฒนาและการนำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ในอนาคตของประเทศไทย” นางสาวศิริรัตน์กล่าวเสริม
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยและอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า “ผ่านทางการแข่งขันอันท้าทายนี้ นิสิต นักศึกษาซึ่งชื่นชอบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์
ทางด้านหุ่นยนต์เป็นพิเศษจะมีศักยภาพสูงขึ้นตามแนวโน้มล่าสุดของอุตสาหกรรม ในฐานะนักวิชาการ พวกเรา มองหาช่องทางให้นิสิต นักศึกษาได้รับโอกาสต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาของพวกเขาอยู่เสมอ เรามีเป้าหมายในการเปิดมุมมองทางด้านของเทคนิคและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้นำความรู้ทฤษฏีไปปฏิบัติจริง ตลอดจนปลูกฝังให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในอนาคต”
“จากความสำเร็จของการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับครั้งแรกเมื่อปีก่อน ทำให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ดังนั้น ในปีนี้ ทีมที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฯ ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับให้มีความเสถียรมากขึ้น โดยการพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ให้จักรยานหุ่นยนต์มีศักยภาพในการรักษาสมดุลดีขึ้นและเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ กล่าวเสริม
ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน บริษัทซีเกทจะมอบเงินเพื่อเป็นรางวัลสำหรับจักรยานหุ่นยนต์ ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ 150,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 50,000 บาท และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ 50,000 บาท 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับได้รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันฯ และส่งรายงานการออกแบบรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ที่ http://bicyrobo.ait.ac.th นิสิตนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเป็นต้นไปสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ โดยแต่ละทีมมีสมาชิกทีมละ 3 คนและมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน การอบรมผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ชี้แจงกติกาและตอบข้อสงสัยจะมีขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 การแข่งขันรอบคัดเลือกจะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะมีขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555
ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยได้ที่ โทร. 0-2470-9713, 0-2470-9720 หรือ เว็บไซต์ www.trs.or.th
ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกผ่านการศึกษาขั้นสูง การทำวิจัย และ กิจกรรมต่อยอดอื่น ๆ สถาบันเอไอทีซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2502 ได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตชั้นนำของภูมิภาคเอเชียและกำลังทำงานอย่างกระตือรือร้นร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐบาลและเอกชนทั่ว พื้นภูมิภาค และกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
สถาบันฯซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความเป็นนานาชาติและหลากวัฒนธรรม ดำเนินการในลักษณะประชาคมนานาชาติที่มี สิ่งอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อมภายในบริเวณสถาบันฯ ซึ่งตั้งอยู่บน กม.ที่ 40 ทางเหนือของกรุงเทพฯ ประเทศไทย
นอกเหนือจากห้องปฏิบัติการและอาคารเรียนต่างๆ บริเวณของสถาบันฯประกอบด้วยที่พัก สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ ศูนย์การประชุม และห้องสมุดที่มีหนังสือกว่า 230,000 เล่ม วารสารแบบพิมพ์เป็นเล่มและแบบออนไลน์จำนวน 830 รายการ ทุกอย่างมีส่วนช่วยทำให้พันธกิจหลักของสถาบันเอไอทีบรรลุเป้าหมาย
ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูลจาก การนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และแบรนด์โซลูชั่น (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
โทรศัพท์ 0-2524-5229, Email: manukid@ait.ac.th
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919, Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com
บรรยายภาพประกอบ
Picture 1 คณะผู้จัดการแข่งขัน นำโดยผู้บริหาร บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ร่วมแถลงข่าวจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อคัดเลือกทีมสุดยอดจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ในการแข่งขันระดับประเทศที่จะจัดเป็นครั้งที่สอง
ในภาพจากซ้าย ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ศาสตราจารย์วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย รองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) และรองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยและอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)
Picture 2 นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ที่สองจากซ้าย) กล่าวถึงนโยบายและการสนับสนุนการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นที่สองโดยซีเกทได้มอบเงินงบประมาณ จำนวน 1.7 ล้านบาท เพื่อการจัดการแข่งขันและเงินรางวัลสำหรับทีมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทยผ่านทางประสบการณ์ของการปฏิบัติจริงในการสร้าง ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ
Picture 3 รถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับคันสีเหลืองซึ่งสามารถทรงตัวและวิ่งได้โดยอัตโนมัติ จักรยานคันนี้ใช้เทคนิคโมเมนตัมเพื่อรักษาความสมดุลของทั้งสองด้าน
Picture 4 นักศึกษากำลังสาธิตการทำงานของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับคันสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นจักรยานอีกคันเพื่อพวกเขาเพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ ใช้เทคนิคแรงหนีศูนย์กลางเพื่อรักษาความสมดุลของจักรยาน ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มีเซ็นเซอร์ในการบังคับทิศทาง
Picture 5 จักรยานหุ่นยนต์ไร้คนขับรูปแบบต่าง ๆ ที่นิสิต นักศึกษาไทยพัฒนาขึ้นและส่งเข้าแข่งขันในการแข่งขัน จักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีแรก
Picture 6 ผลงานจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยที่จัดขึ้นเป็น ปีแรก โดยความร่วมมือระหว่างบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)
Picture 7 จักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับซึ่งพัฒนาโดยนักศึกษาภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ขณะกำลังเคลื่อนที่ไปบนเส้นทางการแข่งขัน ในการแข่งขันที่จัดขึ้นเมื่อปีก่อน
Picture 8 ทีมนิสิตนักศึกษาไทยและผลงานจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่พวกเขาภาคภูมิใจ