กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ครั้งที่ ๔ โดยมี นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพีระ ฟองดาวิรัตน์ รองผู้ว่าการฝ่ายอาชีพและสิทธิประโยชน์ การกีฬาแห่งประเทศไทย นายวิมล กาญจนะ อุปนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้ด้วย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
นายสมบัติ กล่าวว่า กล่าวว่า ที่ประชุมมีแนวคิดที่จะทำแผนการพัฒนาฟุตบอลไทยให้เป็นกีฬาที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจกีฬา โดยเห็นได้จากรายได้ของสโมสรต่างๆ อีกทั้งยังต้องการที่จะสานต่อแนวคิดที่จะนำพาฟุตบอลไทยไปสู่ฟุตบอลโลก และปรับปรุง พรบ.กีฬาอาชีพ พร้อมเสนองบประมาณพัฒนากีฬาแห่งชาติเพิ่มขึ้นอีกกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อเตรียมนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ โดยมีการหารือร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย และสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้จากในปัจจุบัน กีฬาฟุตบอล กำลังเป็นที่ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแข่งขันรายการต่างๆในประเทศ ซึ่งถือเป็นการดีที่จะพัฒนามาตรฐาน ทั้งในส่วนของมาตรฐานในการจัดการแข่งขัน ผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงมาตรฐานสโมสรฟุตบอลที่เข้าร่วมทำการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการสโมสร สนามแข่งขัน และแฟนบอล ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะก่อให้เกิดรายได้กับทางสโมสรฟุตบอลนั้นเอง รวมถึงสร้างรายได้การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) ให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย โดยในขณะนี้รัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด จำนวน ๑๕ จังหวัด และจะต้องผลักดันให้สนามกีฬาเหล่านี้ ได้มาตรฐานเทียบเท่าตามมาตรฐานที่ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC (Asian Football Confederation) เพื่อยกระดับมาตรฐานฟุตบอลลีกของไทย และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ในส่วนของแนวทางการพัฒนาของสโมสรฟุตบอลที่จะให้ได้มาตรฐานนั้นจะต้องมีภาพรวมในการพัฒนาด้านการบริหารจัดการเช่น มีสำนักงาน มีอุปกรณ์สำนักงาน มีเจ้าหน้าที่ประจำฝ่ายต่างๆ รวมถึงมีแผนประชาสัมพันธ์ให้กับแฟนคลับ ด้านการพัฒนาฟุตบอล คือ มีระบบพัฒนาเยาวชน มีนักเตะอาชีพที่มีสัญญาจ้างประจำ มีสวัสดิการและประกันภัยให้กับนักเตะ และมีโค้ชที่ได้การรับรองจาก AFC เท่านั้น ในด้านการจัดการแข่งขันจะต้องมีการพัฒนาสนามให้ได้รับการรับรองเป็นระดับ A Class จาก AFC คือมีห้องและอุปกรณ์ตามมาตรฐาน มีแผนรองรับการจลาจล การอพยพคน มีระบบรักษาความปลอดภัย ด้านการบัญชีและการเงิน คือมีการทำบัญชีรับ-จ่าย มีการทำกระแสเงินสด มีใบรับรองการตรวจบัญชีจากสำนักงานตรวจบัญชี และด้านกฎหมาย คือมีการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งกรรมการบริษัทจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสโมสรฟุตบอลอื่นๆใดอีก เป็นต้น ซึ่งหากว่า สโมสรฟุตบอลต่างๆของไทย สามารถพัฒนามาตรฐานในด้านต่างๆเหล่านี้ จนสามารถผ่านการรับรองของ AFC ได้นั้น จะทำให้เพิ่มสิทธิในการเข้าแข่งขันในรายการสำคัญ ต่างๆของ AFC ได้ ก่อให้เกิดวงจรเศรษฐกิจที่เกิดจากกีฬาฟุตบอล คือสโมสรมีรายได้จากค่าผ่านประตู ค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด สปอนเซอร์ สินค้าที่ระลึก ค่าตัวจากการซื้อ — ขายแลกเปลี่ยนตัวนักกีฬา และจะทำให้นักกีฬามีรายได้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆมีรายได้ และพัฒนาได้ตามเป้าหมายและมาตรฐานของ AFC คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า ๘๐ — ๑๐๐ ล้านบาทต่อปี ในแต่ละสโมสร เป็นมูลค่ารวมกว่า ๑๒,๓๐๐ ล้านบาทต่อปี
นายสมบัติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จะใช้ฟุตบอลอาชีพเป็นเครื่องมือภายใต้แนวคิด “ฟุตบอลอาชีพ สร้างสุขสังคม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง จะต้องดำเนินการเร่งด่วนใน ๓ ด้าน ประกอบด้วย ๑.การยกระดับสโมสรฟุตบอลและองค์กรที่เกี่ยวข้องให้มีศักยภาพการบริหารจัดการเทียบเท่ามาตรฐานสากล (ตาม club licensing — AFC) ๒.การสร้างกระแสความนิยม และวัฒนธรรมในการมีส่วนร่วมของฟุตบอลอาชีพจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการให้เอื้อต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับฟุตบอลอาชีพ ๓.การสร้างและพัฒนานักกีฬาและบุคลากรเป็นมืออาชีพและได้มาตรฐาน เชื่อว่า หากพัฒนาได้อย่างเป็นรูปแบบตามแนวคิดดังกล่าว จะทำให้คำว่า “บอลไทย ไปบอลโลก” จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลา ๑๐ — ๑๕ ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน