เภสัชกรออกโรงเตือน! พ่อแม่ควรรู้วิธีใช้ยาลดไข้ ดูแลลูกน้อยใกล้ชิด ป้องกันโรคชัก พร้อมรักษาไอคิว

ข่าวทั่วไป Friday July 22, 2011 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ เภสัชกรออกโรงเตือน!! พ่อแม่ควรรู้วิธีใช้ยาลดไข้ ดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และควรระวังเมื่อลูกมีไข้สูงอย่านิ่งนอนใจ ส่งผลให้เกิดโรคชักและลดไอคิวได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก ควรกระตุ้นให้พ่อแม่ใส่ใจและเตรียมพร้อมในการรับมือดูแลลูกเมื่อมีไข้ พร้อมเผย ยาลดไข้ประโยชน์สูง ช่วยป้องกันชักและรักษาไอคิวได้ ภญ.รศ.ดร.บุษบา จินดาวิจักษณ์ อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย จึงเป็นสาเหตุทำให้เด็กเล็กเกิดเจ็บป่วย ไม่สบายได้ง่ายๆ เป็นไข้มีอาการตัวร้อน เมื่อใช้ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกายจะมีค่าสูงกว่าปกติ หากวัดทางรักแร้ได้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะถือว่ามีไข้ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อโรคเช่น หวัด ท้องเสียจากการติดเชื้อ เป็นต้น ไม่ควรจะปล่อยให้เด็กมีไข้สูงติดต่อกันนาน เพราะอาจส่งผลให้ชักได้ เนื่องจากสมองของเด็กไวต่อการกระตุ้นจากไข้ โดยมากอาการชักพบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน — 5 ปี และส่วนใหญ่จะเกิดการชักเมื่อมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส พบว่าเมื่อเด็กๆ เกิดอาการชักครั้งหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่จะมีโอกาสชักครั้งต่อไปได้อีกถ้ามีไข้สูง โดยพบได้ประมาณ 20-40 % ในเด็กเล็กที่เคยชัก ซึ่งหากเด็กมีอาการชักเกร็ง 1-2 นาที จะไม่อันตรายร้ายแรงและไม่มีผลต่อสติปัญญา แต่หากเด็กชักนานเกิน 15 นาที ชักบ่อยๆ หรือหลังจากที่ชักแล้วเด็กมีอาการซึม แขนขาอ่อนแรง หรือชักในขณะไม่มีไข้ ถือเป็นสัญญาณอันตราย อาจเกิดความเสียหายต่อสมอง ทำให้เด็กมีไอคิวต่ำ หรือทำให้สมองเสื่อม หรือปัญญาอ่อนได้ ดังนั้นเมื่อเด็กมีไข้ผู้ปกครองควรช่วยลดไข้เด็กเป็นอันดับแรกก่อนพาไปพบแพทย์ โดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การเช็ดตัวเด็ก โดยทั่วไปใช้น้ำจากก๊อกก็พอ ไม่ต้องใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่น แต่หากเด็กเกิดอาการหนาวสะท้านหลังการเช็ดตัว ควรหาเสื้อผ้าหนาๆ ให้ใส่ด้วย นอกจากนี้การใช้ยาลดไข้ก็เป็นตัวช่วยที่ดีและมีประโยชน์อย่างมาก แต่จะต้องใช้ให้เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา ซึ่งยาลดไข้ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ พาราเซตามอล แอสไพรินและไอบูโพรเฟน 1.พาราเซตามอล เป็นตัวเลือกแรกที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ มีทั้งชนิดเม็ด ชนิดน้ำ และชนิดฉีด ชนิดเม็ดมี 2 ขนาด ขนาดเม็ดละ 325 และ 500 มิลลิกรัม ชนิดน้ำส่วนใหญ่เป็นยาน้ำเชื่อมมีปริมาณพราราเซตามอล 120 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนชา หรือ 160 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา หรือ 250 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา โดยที่ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 ซีซี นอกจากนี้ยังมียาน้ำเชื่อมที่มีปริมาณพราราเซตามอล 500 มิลลิกรัม/ 5 ซีซี อีกด้วย โดยจะมีหลอดหยดยาแนบมาในกล่อง ยานี้ใช้สำหรับเด็กเล็กที่กินยายากและสามารถกินได้ครั้งละไม่มาก การป้อนยาจะต้องใช้หลอดหยดยาเสมอ ห้ามใช้ช้อนตวงยาเด็ดขาด การตวงยานี้ก็ทำเหมือนปกติคือดูดยาตามปริมาตรที่แพทย์สั่ง เช่น ดูดยาขึ้นมาหนึ่งหลอดหยด แล้วนำไปหยอดใส่ปากเด็ก สำหรับขนาดยาพาราเซตามอลจะให้ตามขนาดน้ำหนักตัวเด็ก กล่าวคือ หากเด็กทารกหนัก 10 กิโลกรัม ก็หยอดยาน้ำเชื่อมที่มีปริมาณพราราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ต่อ 5 ซีซี ใส่ปาก 1 — 1.5 ซีซี ทุก 4-6 ชั่วโมง เวลามีไข้ ขนาดยาสูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง ด้วยเหตุที่ยาน้ำพาราเซตามอลเป็นยาน้ำเชื่อม จึงมีรสหวาน น่ากิน แต่กลับเป็นอันตรายหากไม่เก็บยาให้พ้นมือเด็ก กล่าวคือ เด็กอาจเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำหวาน และหยิบมากิน อาจกินจนหมดขวดในคราวเดียวและทำให้ได้รับยาในปริมาณสูงมากจนเป็นอันตราย 2.แอสไพริน เป็นยาเม็ด มีขนาดเม็ดละ 60 มิลลิกรัม ขนาดยาจะแปรไปตามอายุของเด็ก กล่าวคือ เด็กอายุ 1 ปีให้ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 8 ชั่วโมง และให้ได้สูงสุดไม่เกินครั้งละ 5 เม็ด แต่การใช้ยาแอสไพรินมีข้อห้ามใช้ในเด็กหรือคนไข้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ตลอดจนเด็กที่เป็น ไข้หวัดใหญ่ โรคอีสุกอีใส เพราะอาจเกิดความผิดปกติรุนแรงของสมองและตับ โดยเป็นโรคที่เรียกว่า ไรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) 3.ไอบูโพรเฟน เป็นยาเม็ด มี 4 ขนาด ขนาดเม็ดละ 200, 400, 600, และ 800 มิลลิกรัม สำหรับชนิดน้ำทำเป็นยาน้ำเชื่อม ขนาด 100 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา ขนาดยาปกติจะต้องให้ตามน้ำหนักตัว กล่าวคือ ถ้าเด็กหนัก 20 กิโลกรัม ก็กินยาน้ำเชื่อม 1 - 2 ช้อนชาทุก 8 ชั่วโมง ขนาดยาเพิ่มได้อีกแต่ห้ามเกิน 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ข้อระวังในการใช้ยาชนิดนี้ ไม่ควรให้ยาไอบูโพรเฟนตอนท้องว่าง เพราะยาระคายกระเพาะอาหาร และไม่ควรหยอดยาลงในนม เพราะยาอาจทำให้รสชาติของนมเปลี่ยนไป และเด็กอาจไม่ยอมกินนม ไม่ให้ใช้ยานี้ในเด็กที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากยาจะทำให้มีภาวะเลือดออกรุนแรงขึ้น และไม่ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ดังนั้น... เมื่อเด็กมีไข้สูงพ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด รู้จักใช้ยาลดไข้ให้ประโยชน์ ใช้ให้ถูกขนาด ถูกวิธี เพื่อให้ปลอดภัยในการใช้ยาควรปรึกษาเภสัชกร พร้อมกันนี้ควรเช็ดตัวเด็กควบคู่ไปด้วย หากไข้ไม่ลดควรรีบพาไปพบแพทย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมฝ่ายประชาสัมพันธ์ 0-2718-3800 ต่อ 132/136
แท็ก เภสัชกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ