กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ธนาคารทหารไทย
นโยบาย(ไม่)ประชานิยม... ที่ถูกลืม
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics มีความเห็นว่ารัฐบาลชุดใหม่ไม่ควรมองข้ามปัญหาโครงสร้างระยะยาวของเศรษฐกิจ การคำนึงถึงแต่ปัญหาระยะสั้นสุดท้ายจะเป็นภาระต่อการคลังและบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศได้
การมาของรัฐบาลชุดใหม่พร้อมกับคะแนนเสียงที่ท่วมท้นจากประชาชน ทำให้รัฐบาลชุดนี้น่าจะสามารถดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในระยะยาวซึ่งบางมาตรการและนโยบายอาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดก่อนเป็นผู้เสนอและเริ่มดำเนินการแล้ว แต่ก็มีมาตรการหลายอย่างที่เป็นประโยน์และค้างคามาจากรัฐบาลชุดก่อนที่ควรได้รับการสานต่อ เช่น
1. การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ครม.ชุดก่อนเห็นชอบในหลักการกำหนดภาษีจากประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดมลพิษ และมาตรฐานความปลอดภัย แต่ยังมีความเห็นขัดแย้งในเรื่องอัตราภาษีรถยนต์ที่ใช้เอทานอลกับก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ที่สูงถึง 30% เมื่อเทียบกับรถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทไฮบริดที่เก็บ 20% และรถที่ใช้ไฟฟ้าที่เก็บเพียง 10% ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ควรเร่งพิจารณาต่อเพื่อให้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาปรับตัวและทันกับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
2. พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถึงจะผ่านความเห็นชอบจากครม.ชุดก่อนแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ซึ่งโดยหลักการแล้ว พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และช่วยเพิ่มการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพราะจะจูงใจให้มีการนำที่ดินเปล่ามาสร้างประโยชน์แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มรายได้จากภาษีให้รัฐบาลได้อีกทางด้วย ดังนั้นจึงเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญดำเนินการต่อ
3. การแก้ไขพ.ร.บ.เงินตรา และพ.ร.บ.กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้ธปท. มีรายได้จากการบริหารเงินตราและการขายทรัพย์สินมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนกระทรวงการคลังก็สามารถบริหารสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯที่โอนมา 3 แสนล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายภาระดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งปัจจุบันใช้เงินงบประมาณจ่ายประมาณปีละ 7 หมื่นล้านบาท
นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหาระยะยาวและปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลใหม่ควรรีบแก้ไข ซึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้งในเวทีเสวนาต่างๆ แต่ยังไม่สามารถคลอดนโยบายออกมาเป็นรูปธรรมได้
ความเหลื่อมล้ำของรายได้เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลของไทยปี 2002-2009 กลุ่มผู้มีรายได้สูงมีสัดส่วนรายได้ต่อรายได้รวมทั้งประเทศสูงขึ้นขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนรายได้ลดลง ชี้ให้เห็นถึงการกระจายรายได้ที่แย่ลงอย่างชัดเจน ขณะที่หากเทียบกับประเทศอื่นข้อมูลดัชนีการกระจายรายได้ (Gini index) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เฉลี่ยปี 2005-2009 พบว่าประเทศไทยมีการกระจายรายได้แย่สุดเป็นอันดับ 7 จาก 80 ประเทศทั่วโลก โดยค่า Gini เฉลี่ยทุกประเทศอยู่ที่ 41.1 ขณะที่ของไทยเท่ากับ 53.6 ซึ่งค่าที่มากกว่านี้หมายถึงการกระจายรายได้ที่แย่กว่าประเทศอื่นๆอย่างชัดเจน
การเร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่างพรบ.ภาษีมรดก หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเก็บภาษีจากทรัพย์สินและลดการเก็งกำไรในที่ดิน ซึ่งปัจจุบันมีที่ดินกว่า 70% ของที่ถูกครอบครอง ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไร จึงเป็นหนึ่งในทางออกที่รัฐบาลควรนำมาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในสังคม อีกทั้งยังเพิ่มรายได้เพื่อบรรเทาการขาดดุลงบประมาณได้อีกทางหนึ่ง
กลไกราคาสินค้าเกษตรถูกบิดเบือนมาโดยตลอด การแทรกแซงราคาหรือจำนำสินค้าทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก (โดยเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ของจีดีพีภาคเกษตร ปี 2004-2009) อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาสินค้าได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตามการใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่นำมาใช้แทนการจำนำสินค้าจะลดการใช้งบประมาณได้ดีเพราะสามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 5 เท่า แต่ต้องมีการกำหนดราคาประกันให้เหมาะสม
รัฐควรยกเลิกการพยุงราคาสินค้า แต่ควรช่วยพัฒนาศักยภาพในการผลิตเพื่อให้มีต้นทุนต่ำลง และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับสินค้าในระยะยาว นอกจากนั้นการสนับสนุนเครื่องมือทางการเงินต่างๆเพื่อเป็นช่องทางในการประกันความเสี่ยงด้านราคาของภาคธุรกิจ ก็เป็นอีกทางเลือกที่รัฐบาลควรพิจารณาปัญหาภัยธรรมชาติรุมเร้าภาคธุรกิจและการเกษตร ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อเยียวยา อันจะส่งผลต่อรายจ่ายภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการวางระบบจัดการเพื่อรับมือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาลชุดใหม่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก เช่น การสนับสนุนระบบประกันภัยพืชผลให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด เพราะจะทำให้การตอบสนองและการเยียวยาผู้ประสบปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอผ่านกระบวนระบบราชการและการเมือง และยังเริ่มดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารความเสี่ยงทางภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาครัฐควรใช้โอกาสที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภา เพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังของประเทศ เช่น การลงทุนภาครัฐที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐสามารถเอื้อให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) การลงทุนภาครัฐของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 ต่อ GDP ขณะที่ทั้งโลกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10.6 ต่อ GDP แสดงถึงบทบาทภาครัฐด้านการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ
ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐจากกระทรวงการคลังและธปท.ชี้ให้เห็นว่าหลังจากปี 1997 เป็นต้นมา สัดส่วนรายจ่ายด้านการลงทุนจากส่วนกลางต่อรายจ่ายรวมมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก จากร้อยละ 35 ในปี 1997 เหลือร้อยละ 10 ในปี 2008 ขณะที่สัดส่วนเงินโอนไปสู่ท้องถิ่นและรายจ่ายดอกเบี้ยกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น พัฒนาโครงข่ายขนส่งเชื่อมโยงภูมิภาคโดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งระบบรางภายในประเทศ หรือการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จะทำไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคได้ เป็นตัวอย่างการลงทุนภาครัฐที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในส่วนค่าขนส่งสินค้าที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 9% ของ GDP ซึ่งจะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ ภาระการคลังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเร็วกว่ารายรับของรัฐ รัฐบาลควรเร่งหาเพิ่มรายได้โดยที่สามารถตอบสนองโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไปด้วย พร้อมกับชะลอการเพิ่มขึ้นของรายจ่าย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารายได้ภาครัฐ (รายได้ภาษี + รายได้อื่นๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7%ต่อปี ขณะที่รายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของรายจ่ายรวมและขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 10 ต่อปี อีกทั้งภาระในส่วนดังกล่าวที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายเงินเดือนเริ่มต้นปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ที่จะเริ่มในส่วนของระบบข้าราชการเดือนตุลาคม 2554 นี้ เป็นจำนวนงบประมาณ 10,000 ล้านบาท และเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดที่ประเมินว่าจะต้องใช้งบฯเพิ่มอีก 6,000 ล้านบาท
อีกทั้งรายจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นยังแสดงถึงภาระทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงต่อไปถึงปัญหาความยั่งยืนด้านการคลังอีกด้วย เช่น การที่ภาครัฐต้องเข้ามาแบกรับดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ถึงกว่า 6 แสนล้านบาทแล้ว ดังนั้น การใช้จ่ายเพิ่มเติมในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นอย่างในปัจจุบัน จึงควรเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก และลดการใช้จ่ายผูกมัดที่ไม่จำเป็นลง ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลอยู่เรื่อยๆ แต่งานของรัฐบาลไม่เคยเสร็จ
รัฐบาลใหม่จะเข้ามาทำงานด้วยอำนาจที่ล้นหลามจากคะแนนเสียงประชาชน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะปลดโซ่ตรวนของเศรษฐกิจไทยจากอดีต เพื่อที่เราจะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเราได้ในอนาคต