แก้กฎหมายให้ สปส. เป็นนิติบุคคล

ข่าวทั่วไป Monday November 12, 2007 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สปส.
ตามที่นสพ. ผู้จัดการรายวัน วันที่ 8 พ.ย. 2550 ได้นำเสนอข้อมูลว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมหารือสำนักงานคณะกรรมการกฎษฎีกาเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุน และดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กองทุนประกันสังคมสามารถเข้าไปถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนโดยไม่เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะบริษัทจดทะเบียนจนกลายเป็นรัฐวิสาหกิจ นั้น
ประเด็นปัญหาดังกล่าวเกิดจากที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้มีการกระจายเงินลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 477,367 ล้านบาท ไปลงทุนในหุ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.32 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลตอบแทนดีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 กองทุนได้รับผลตอบแทนเฉพาะจากการเงินปันผลและกำไรจากการขายหุ้นจำนวน 2,062 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 30.47 ต่อปี โดยในส่วนของหุ้นที่ลงทุนนั้น มีการลงทุนในหุ้นสามัญของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำนวน 71.34 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.92% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว โดย สปส. ได้เริ่มมีการลงทุนในหุ้นดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2546 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สปส. ได้รับผลตอบแทนจากหุ้นดังกล่าวเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี
ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะบมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 45% สำนักงานประกันสังคม 4.92% ธนาคารออมสิน 2.62% เมื่อนับรวมกันแล้วทำให้มีหน่วยงานของรัฐถือหุ้นเกิน 50% ส่งผลให้สถานภาพของบริษัทอาจกลายเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สปส. คือ สัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ 4.92% ทั้งนี้ หุ้นของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี รายได้ของบริษัทมีความเสี่ยงต่ำ และผลตอบแทนจากเงินปันผลค่อนข้างสูง นับเป็นลักษณะการลงทุนที่เหมาะสมกับกองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นกองทุนระยะยาว การที่มีข้อเสนอให้ สปส. ขายหุ้นดังกล่าวเพื่อลดสัดส่วนการลงทุนนั้น สำนักงานไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเสียโอกาสการลงทุน และอาจทำให้ต้องนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า
ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องและตรงประเด็นนั้น ควรให้กองทุนประกันสังคมเป็นนิติบุคคล ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เห็นด้วยแล้ว ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้รับหากกองทุนมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) คือจะช่วยให้สามารถเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างรายได้จากค่าเช่าได้ โดยอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนจะตกเป็นกรรมสิทธิของกองทุนซึ่งเป็นเงินสมทบจากนายจ้างและผู้ประกันตน แทนที่จะตกเป็นของแผ่นดิน และช่วยให้สามารถดำเนินการจ้างบุคลากรมืออาชีพด้านการลงทุนเพื่อเสริมทีมที่มีอยู่ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ