ย้อนมองตำนานเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ ต้นแบบการนำเชียร์ของเชียร์ลีดเดอร์ในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Monday November 12, 2007 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย
ทุกสิ่งย่อมมีจุดเริ่ม เช่นเดียวกับตำนานเชียร์ลีดเดอร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ซึ่งเป็นต้นแบบของท่านำเชียร์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั้งเชียร์ลีดเดอร์ในระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษาในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่ง “คุณบุญเกษม เสริมวัฒนากุล หรือ พี่เจ็ง” ผู้บุกเบิกเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯยุคใหม่ได้ถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของตำนานนี้ในระหว่างรอผลการคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ รุ่นที่ 64 เมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
เมื่อพูดถึงงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งในวันที่ 19 มกราคม 2551 จะเป็นครั้งที่ 64 แล้วที่ทั้ง 2 สถาบันได้ร่วมกันจัดมา นับได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่เป็นรูปธรรมในการสืบสานสามัคคีของนิสิตนักศึกษาและศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบันมาจนกระทั่งปัจจุบันนิสิตนักศึกษาหลายต่อหลายคน หลายต่อหลายรุ่นต่างก็เติบโตกล้าแกร่งเป็นคนทำงานที่มีคุณภาพอันเป็นผลมาจากการร่วมกิจกรรมนี้นั้นเอง และเมื่อพูดถึงงานฟุตบอลประเพณี เราอาจจะนึกถึงภาพการแข่งขันฟุตบอล การแปรอักษร การร้องเพลงเชียร์ และขบวนพาเหรดต่างๆซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบของงาน หากเราจะไม่กล่าวถึง “เชียร์ลีดเดอร์” ก็อาจจะทำไม่ครบถ้วนกระบวนความ หลายคนจึงอาจจะอยากทราบประวัติความเป็นมา ประเพณี ลีลาท่าทางและที่สำคัญคือ การแสดงความสามารถในการสร้างสรรค์ โดยในยุคแรกๆนั้นยังไม่มีเชียร์ลีดเดอร์เช่นปัจจุบัน ส่วนใหญ่ตัวประธานเชียร์หรือกลุ่มผู้นำเชียร์ที่คอยให้จังหวะปรบมือแก่กองเชียร์
จนกระทั่งถึงการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 36 - 40 นับเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเชียร์ของเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ เข้าสู่ยุคใหม่ โดยคุณ บุญเกษม เสริมวัฒนากุล หรือ พี่เจ็ง ได้เริ่มพัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งมีการปรับทั้งในเรื่องของท่าทาง ท่าเดินเต้นให้เป็นการยืนเพื่อความสง่างาม ประดิษฐ์ท่าทางของเพลงต่างๆใหม่เกือบหมด โดยแบ่งเพลงออกเป็น 2 ประเภท คือ เพลงเร็วจะเน้นจังหวะและความทะมัดทะแมงแต่ยังคงยึดท่าเดิมเป็นหลัก เพียงแต่ปรับลีลาให้พร้อมกันมากขึ้น จุดเปลี่ยนที่เห็นชัดเจนก็คือ การเหยียดแขนให้ตรง ส่วนเพลงช้าจะเน้นลีลาความสวยงาม เพลงสำคัญที่ประดิษฐ์ท่าเต้นขึ้นใหม่ คือ อุทยานจามจุรี จามจุรีประดับใจ และมหาจุฬาลงกรณ์ โดยจะเน้นลีลาท่าทางที่สื่อความหมาย โดยคุณเจ็งได้อาศัยพื้นฐานความรู้ทางด้านนาฏศิลป์ไทย บัลเล่ต์ โมเดิร์นด๊านซ์ และตำรวจจราจร มาประยุกต์รวมกัน อาทิ ท่าพระเกี้ยว ท่าเลข 5 ท่าเลข 9 และท่าต้นจามจุรีเป็นต้น จากนั้นก็เริ่มคิดท่าให้กับเพลงยูงทองและเดิมมธ. โดยยึดหลักการอยู่สำคัญของการนำเชียร์ในรูปแบบเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ อยู่ 5 ประการนั่นคือ
1.การให้จังหวะ เพื่อให้กองเชียร์ได้ร้องเพลงอย่างพร้อมเพรียงกัน เปรียบประหนึ่งดั่งผู้ควบคุมวงดนตรี (Conductor)
2.การควบคุมกองเชียร์ ซึ่งเชียร์ลีดเดอร์จะต้องมีความสามัคคี เต้นพร้อมเพียงเพื่อนำกองเชียร์จำนวนหลายพันให้ร้องเพลงไปพร้อมๆกัน
3.ความสวยงาม นั่นคือผู้นำเชียร์จะต้องมีความกล้าแสดงออก และมีบุคลิกภาพเป็นผู้นำ พร้อมทั้งมีความสามารถในการเต้นท่าทางต่างๆ แต่ในซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะคัดเลือกจากหน้าตาเพียงอย่างเดียวเพราะแต่ทั้งนี้จะเป็นองค์ประกอบรวมจากความสามารถในการเรียกความสนใจจากกองเชียร์เป็นหลัก
4. ความพร้อมเพรียง ในที่นี้หมายถึงความพร้อมเพรียงในการเต้นของทีมเชียร์ลีดเดอร์ ดังนั้นจึงเป็นประเพณีปฏิบัติมาอย่างยาวนานในเรื่องความเข้มงวดกวดขันในการซ้อมอย่างหนักของทีมเชียร์ลีดเดอร์ของทั้งสองสถาบัน คือจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ที่จะต้องฝึกซ้อมกันอย่างน้อย 4 เดือน ตั้งแต่ประมาณ 16.30 น. หลังเลิกเรียน ไปจนดึกดื่นค่อนคืน จนบางครั้งก็ล่วงเลยเวลาสองยาม จนมีการแซว ทุกๆ ปีว่า ถ้าขาดนักบอล ก็ให้ส่งลีดเดอร์ลงไปเล่นแทนได้
และสุดท้ายคือ “รูปแบบในการนำเสนอ”เป็นสิ่งที่ต่างรุ่นต่างปี ก็จะมีรูปแบบในการนำเสนอที่ต่างกัน ทั้งในเรื่องการแต่งกาย การแต่งหน้าทำผม จำนวนเชียร์ลีดเดอร์ การแปรรูปขบวน และการนำเสนอมุขเด็ดต่างๆ แต่ทั้งนั้นก็ยังคงอยู่บนท่าเต้นมาตรฐานที่ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น
สำหรับน้องใหม่ของเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ ในปีนี้ (รุ่นที่ 64) อย่าง เอ๊ย- ปัณชลิตา จันทรากุล นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีชั้นปีที่ 3 มองตัวตนของเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ ไม่ต่างไปจากพี่เจ็งเท่าไรนักคือ “ในความเห็นของเอ๊ย เชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯคือผู้นำกองเชียร์ มีหน้าที่หลักคือนำกองเชียร์เพื่อให้กำลังนักกีฬา นอกจากนั้นยังต้องเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณีอีกด้วย และในปัจจุบันเชียร์ลีดเดอร์นับได้ว่าเป็นสีสันอย่างหนึ่งในงานฟุตบอลประเพณีฯ ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักงานฟุตบอลประเพณีฯมากยิ่งขึ้น และยังเป็นตัวอย่างในการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีเป็นหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศชาติกำลังต้องการค่ะ”
เช่นเดียวกับ หยวย — พิเชฐ กิจสัมฤทธิ์โรจน์ นิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 6 อีกหนึ่งเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ รุ่นที่ 64 “เชียร์ลีดเดอร์ คือ ผู้นำเชียร์ให้กับกองเชียร์ คอยกระตุ้นให้มีเสียงเชียร์ในสนาม เป็นส่วนหนึ่งของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่ช่วยเติมเต็มงานฟุตบอลให้มีความสมบูรณ์ และยังเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิต นักศึกษาทั้งจุฬาฯและมธ.ให้รู้จักกัน มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้เชียร์ลีดเดอร์จะต้องมีคุณสมบัติทั้งความพร้อมทั้งกายและใจ อดทน เสียสละ “
อาจกล่าวได้ว่าหลังจากนั้น เชียร์ลีดเดอร์ได้รับการพัฒนารูปแบบการเชียร์ให้สวยงามนับตั้งแต่งานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 42 เป็นต้นมา และได้กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เป็น สีสันของงานฟุตบอลประเพณีฯ กระทั่งปัจจุบันที่มีกระบวนการเป็นเรื่องเป็นราวนับตั้งแต่การสมัคร การคัดเลือกอย่างมีระบบ การซ้อม การเปิดตัว เสื้อผ้า อุปกรณ์ต่างๆ การแปรขบวน การเชียร์หลากหลายรูปแบบ เชียร์ลีดเดอร์ของทั้งสองสถาบันต่างก็ทำกิจกรรมนี้อย่างจริงจัง เป็นการทำงานที่เน้นคุณภาพ ความพร้อมเพรียง ความสามัคคี และมีความต่อเนื่องระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง เชียร์ลีดเดอร์แต่ละรุ่นเมื่อจบงานแล้ว ปีถัดมาก็จะกลับมาดูแลรุ่นน้อง หรือแม้ว่าจบการศึกษาไปแล้วก็ยังกลับมาดูแลน้องๆทุกปี ความเอื้ออาทรและสมัครสมานสามัคคีจึงเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ทุกคนที่ผ่านเส้นทางนี้นอกจากประสบการณ์ ความทรงจำและความภาคภูมิใจที่งดงามแล้ว สิ่งที่ทุกคนมีติดตัวและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ก็คือ ระเบียบวินัย คุณภาพความคิด ความตั้งใจ การเสียสละและการทุ่มเท ส่วนชื่อเสียงนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ตามมาเท่านั้น
“Cheerful Heart of Empathy to Echo Relationship Leading Everyone to Absolute Delight of Eternal Reputation” หรือแปลเป็นไทยว่า "ด้วยสีสันผันผ่านเป็นการแทนใจ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกห่วงใยสู่ไมตรีจิตอันยิ่งใหญ่ ฝากไว้ในใจทุกคน เพื่อความสุขสมหวังดังปรารถนา เพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศที่ได้มา ด้วยเวลา หยาดเหงื่อและความตั้งใจจริงที่คง” นี่คือนิยามของความเป็นเชียร์ลีดเดอร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะยังคงอยู่ตราบนานเท่านาน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ภายนอก
น.ส. ศราพร ฐิตะฐาน (แก้มบาร์บี้) โทร. 081-806-3632 ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ภายนอก
นาย พงศกร อิ่มมณีรัตน์ (อั๋น) โทร. 087-509-5959 ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ภายนอก
ดาวน์โหลดข่าวเก่าได้ที่ Press Center : www.bakachula.com/presscenter
Email: cuball64.externalpr@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ