กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สปส.
บทความ - จากสภาพเศรษฐกิจที่ผันแปรตลอดเวลา ทำให้ขณะนี้มีบริษัท โรงงานบางแห่งต้องปิดกิจการ บางแห่งต้องเลิกจ้างคนงานเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของทางโรงงานให้สามารถดำเนินกิจการ ต่อไปได้ โดยยังมีกิจการบางประเภทที่ไม่สามารถแข่งขันกับกิจการอื่นๆ ในตลาดได้ก็ต้องปิดตัวไป เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอต่างๆ ซึ่งกรณีการถูกเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิดใดๆ สิ่งที่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับคือ เงินชดเชยจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเงินช่วยเหลือลูกจ้างระหว่างที่หางานทำใหม่หรือที่เรียกว่า เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม
สำหรับลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานที่จะได้รับจากสำนักงานประกันสังคมจะเกิดก็ต่อเมื่อผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน และลูกจ้างต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ (กทม.) หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดภายใน 30 วัน โดยลูกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน โดยสปส.จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยที่ นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน) เช่น ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 8,000 บาท หากถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้งานทำ จะได้เงินทดแทนร้อยละ 50 เท่ากับ 4,000 บาท เป็นระยะเวลาสูงสุด 180 วัน (6 เดือน)
ทั้งนี้ หากลูกจ้าง ผู้ประกันตนลาออกจากงานโดยสมัครใจหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ยที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (3 เดือน) โดยมีเงื่อนไขเดียวกับกรณีว่างงานเพราะ ถูกเลิกจ้าง เช่น ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 8,000 บาท หากลูกจ้างลาออกจากงานโดยสมัครใจหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ระหว่างการหางานใหม่จะได้เงินทดแทนร้อยละ 30 เท่ากับ 2,400 บาท เป็นระยะเวลาสูงสุด 90 วัน (3 เดือน)
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า นอกจากผู้ประกันตนถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานโดยสมัครใจหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานแล้ว ยังคงได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อเป็นระยะเวลา 6 เดือน ใน 4 กรณี ซึ่งกรณีแรกคือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรเดิมหรือเปลี่ยนบัตรรับรองสิทธิเป็นโรงพยาบาลใหม่ได้ โดยใช้สิทธิต่อได้อีก 6 เดือน กรณีที่สองคือ กรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิตในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง และค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท กรณีที่สามคือ กรณีตายจะได้รับเงินค่าทำศพ 30,000 บาท พร้อมด้วยเงินสงเคราะห์กรณีตาย
อีกทั้งเงินออมชราภาพของผู้ประกันตนที่จ่ายให้แก่ทายาท และกรณีที่สี่คือ กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร 12,000 บาท และสำหรับผู้ประกันตนหญิงจะได้เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรด้วย
จะเห็นได้ว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ที่ผู้ประกันตนว่างงานอยู่นั้น จะได้รับความคุ้มครองดูแลจากกองทุนประกันสังคมตามสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โดยยังจะได้รับความคุ้มครองต่อใน 4 กรณี ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จนกว่าผู้ประกันตนจะมีงานทำ และระยะเวลา 6 เดือนนี้ หากผู้ประกันตน มีความประสงค์ที่จะรับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อ สามารถที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ได้ โดยผู้ประกันตนต้องมีประวัติการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลง คือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างและ แจ้งความประสงค์เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ
การสมัครทำได้ไม่ยาก เพียงผู้ประกันตนยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-20) ด้วยตนเองในระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ออกจากงาน ณ สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมต่อไปรวม 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
อย่างไรก็ตาม สปส.จะดูแลและให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่เดือดร้อนจากการปิดกิจการ ถูกเลิกจ้าง หรือลาออกจากงาน และขึ้นทะเบียนว่างงานเรียบร้อยแล้ว ให้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามสิทธิที่พึงจะได้ ซึ่งหากผู้ประกันตนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด หรือสายด่วน 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 www.sso.go.th
ผลิตโดย น.ส.ฤชุวรรณ มูสิกนันท์