รายงานการวัดผลเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2551 ของธนาคารโลก

ข่าวทั่วไป Monday November 12, 2007 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เป?ดเผยว่า ในวันนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารโลก (World Bank) จัดการประชุมรับฟังรายละเอียดรายงานการวัดผลเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2551 (Doing Business 2008) จากผู้แทนธนาคารโลก ณ ห้องประชุมป๋วย อึ้งภากรณ์ ชั้น 7 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ภาคเช้าสำหรับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคบ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องและมีนักวิชาการเข้าร่วมด้วย โดยมีนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว?าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุมในภาคเช้า
รายงานการวัดผลเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจจะจัดทำขึ้นในแต่ละปี โดยมีดัชนีตัวชี้วัด 10 ด้าน ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การขอใบอนุญาต การจ้างแรงงาน การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับใช้ตามสัญญา และการปิดกิจการ การรับฟังในวันนี้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบจุดแข็งและจุดบกพร่องของประเทศไทยและนำไปปรับปรุงให้มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น
สำหรับรายงานการวัดผลเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2551 (Doing Business 2008) ซึ่งจัดทำโดยสำรวจข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน 2549 ถึงเดือนมิถุนายน 2550 ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สะดวกในการประกอบธุรกิจลำดับที่ 15 เลื่อนขึ้นจากลำดับที่ 17 ในปี 2550 จากทั้งหมด จำนวน 178 ประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เขตปกครองพิเศษฮ่องกงอยู่ในลำดับที่ 4 ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 12 ประเทศมาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 24 ประเทศเวียดนามอยู่ในลำดับที่ 91 และสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในลำดับที่ 83
โดยที่รายงานการวัดผลเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2551 ของธนาคารโลก ได้มีการตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจเป็นจำนวนมากที่นำรายงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้ให้ความสำคัญในรายงานดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานประสานงานกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงงานบริการด้านต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในดัชนีตัวชี้วัดของธนาคารโลกภายใต้การจัดทำรายงานการวัดผลเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2551 (Doing Business 2008)
กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักในคณะทำงานฯ ในเรื่องการได้รับสินเชื่อ การชำระภาษี และการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการคลังได้มีความพยายามในการดำเนินงานเพื่อให้การบริการในเรื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว กล่าวคือ
1. การพิจารณาสินเชื่อ ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และการควบรวมธุรกิจข้อมูลเครดิต ซึ่งผลจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการทำธุรกิจมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงข่าวสารด้านสินเชื่อและสิทธิตามกฎหมายในกฎหมายค้ำประกันและกฎหมายล้มละลายได้มากขึ้นด้วย
2. การชำระภาษี ประเด็นที่ธนาคารโลกให้ความสนใจ คือ ระบบการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนของประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไข โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำระบบฐานข้อมูลให้เป็นชุดเดียว และให้หน่วยงานต่างๆ สามารถดึงข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินการได้กำหนดเป็นโครงการต่างๆเช่น โครงการร่วมระหว่างกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากรในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกให้สามารถยื่นคำขออุทธรณ์ การประเมินอากรขาเข้าเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต และการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้พร้อมกัน หรือกรมสรรพากรได้นำโปรแกรมช่วยคำนวณการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปติดตั้งให้กรมที่ดินใช้เพื่อช่วยในเรื่องการทำธุรกรรมจดทะเบียนทรัพย์สิน เป็นต้น
3. การค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการปรับปรุงบริการด้านนี้ โดยได้มีการพัฒนากระบวนการพิธีการด้านศุลกากรด้วยการลดเวลาและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า หรือการผ่านพิธีศุลกากรด้วยการนำระบบ E-Customs มาใช้ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลให้ประชาชนผู้ประกอบการได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ดัชนีตัวชี้วัดการค้าระหว่างประเทศดีขึ้นจากลำดับที่ 108 เป็นลำดับที่ 50 ทำให้ประเทศไทยได้เลื่อนลำดับดีขึ้น เนื่องจากการปฏิรูประบบการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศดังกล่าว
ลำดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจเป็นเครื่องบ่งบอกว่ารัฐบาลของประเทศนั้นๆ ได้มีการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม จากรายงานดังกล่าวระบุว่า ตัวชี้วัดจะครอบคลุมถึงกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจ แต่ไม่ครอบคลุมถึงกรณีการมีประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นในด้านการค้าระหว่างประเทศ) ความปลอดภัยในทรัพย์สิน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่โปร่งใส ภาวะเศรษฐกิจมหภาค และความแข็งแกร่งของสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ