ทั่วโลกร่วมรณรงค์ “เต้นถอดเสื้อผ้า (สกปรก)” ผลักดันไนกี้และอาดิดาสล้างสารพิษ

ข่าวทั่วไป Monday July 25, 2011 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม2554 อาสาสมัครและผู้บริโภค 33 คน ร่วมกันเต้นถอดเสื้อผ้า (สกปรก) ในตลาดนัดเสื้อผ้าจตุจักร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการถอดเสื้อผ้าทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด ใน 29 เมือง 10 ประเทศที่มีผู้เข้าร่วม 600 คน เพื่อผลักดันให้ไนกี้และอาดิดาสยุติการใช้สารพิษอันตรายในห่วงโซ่อุปทานและในผลิตภัณฑ์ และเป็นผู้นำไปสู่อนาคตที่ปลอดสารพิษ (1) กิจกรรมนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในเวลา 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ใน 29 เมืองทั่วโลก ทั้งในปารีส ปักกิ่ง และกรุงเทพฯโดยมีนักเต้น อาสาสมัครและผู้สนับสนุนกรีนพีซ รวมถึงผู้บริโภค ร่วมกันเต้นในเพลงและท่าเต้นเดียวกัน แล้วถอดเสื้อผ้าออก เพื่อแสดงข้อความ Detox หรือ “ล้างสารพิษ” ในการรณรงค์ครั้งนี้ “ความจริงได้ถูกเปิดเผยแล้ว อาดิดาสและไนกี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงงานก่อมลพิษ” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “วันนี้พวกเราทั่วโลกรวมพลังกันเพื่อให้เห็นว่าผู้บริโภคทั่วโลกต้องการให้บริษัททั้งสองสร้างนโยบายและมีระบบการจัดการที่ทำให้โรงงานผลิตสินค้าของตนยุติการใช้สารพิษในกระบวนการผลิต และไนกี้และอาดิดาสควรแสดงความรับผิดชอบและเป็นผู้นำในเรื่องนี้” “การเป็นเจ้าของยี่ห้อสินค้าและเป็นผู้จ้างย่อมสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตสินค้าได้ และยังเป็นแรงหนุนที่สำคัญที่จะนำพาอุตสาหกรรมฟอกย้อมและสิ่งทอก้าวไปสู่อนาคตแหล่งน้ำปลอดจากมลพิษ หากพวกเขาเริ่มลดและยุติการใช้สารเคมีอันตรายตั้งแต่บัดนี้ บริษัทและผู้ผลิตสินค้าอื่นๆ ก็จะปฏิบัติตาม สารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำก็จะลดลงและเป็นผลดีต่อประชาชนนับล้านที่พึ่งพาสายน้ำในการดำรงชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่แท้จริงที่ผู้คนทั่วโลกต้องการเห็น” นายพลายกล่าว การเต้นถอดเสื้อผ้า(สกปรก) ในวันนี้จะถูกเสนอไปยังกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของกรีนพีซที่ต้องการให้ไนกี้และอาดิดาสยุติการปลดปล่อยสารเคมีอันตรายตลอดห่วงโซ่การผลิตและสารเคมีอันตรายที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ กรีนพีซใช้เวลา 1 ปีในการสำรวจมลพิษทางน้ำในประเทศจีนและพบว่าบริษัทเสื้อผ้ารายใหญ่ (2) รวมถึง อาดิดาสและไนกี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตในประเทศจีนที่ปล่อยสารเคมีอันตรายซึ่งเป็นสารรบกวนฮอร์โมนและมีความคงทนสามารถสะสมในสิ่งแวดล้อมลงสู่แม่น้ำในประเทศจีน (3) การศึกษาครั้งนี้ได้ชี้ถึงสารเคมีอันตรายที่ถูกปล่อยจากโรงงานฟอกย้อมสู่แหล่งน้ำว่าอาจเกิดขึ้นได้ทั่วโลกและบ่งชี้ถึงปัญหาร้ายแรงที่สามารถส่งผลกระทบที่รวดเร็วและร้ายแรงต่อทั้งระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์ ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 02-357-1921 ต่อ 135, 081-658-9432 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089-487-0678 หมายเหตุ (1) ออสเตรีย (เวียนนา), จีน (ปักกิ่ง), สาธารณรัฐเช็ก (ปราก), ฝรั่งเศส (ปารีส), เยอรมนี (Regensburg, Kassel, Niederrhein, Berlin, Frankfurt, K?ln, Chiemgau, Bremerhaven, Leipzig, Deggendorf, Freiburg, Hamburg, Zollernalbkreis, Kiel, L?neburg, Krefeld, Aachen, Esslingen, Oldenburg, Hannover, Essen and L?beck), เนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม), ฟิลิปปินส์ (มะนิลา), เสปน (มาดริด), สวิตเซอร์แลนด์ (บาเซล) และประเทศไทย (กรุงเทพฯ) (2) บริษัทที่เป็นเจ้าของของโรงงานดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับสินค้ายี่ห้อดังหลายยี่ห้อ ได้แก่ อเบอร์ครอมบี้ แอนด์ ฟิช (Abercrombie & Fitch) อาดิดาส (Adidas) บาวเออร์ ฮอกกี้ (Bauer hockey) คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) คอนเวอร์ส (Converse) คอร์ทีฟีล (Cortefiel) แอช แอนด์ เอ็ม (H&M) ลาคอส (Lacoste) หลี่หนิง (Li Ning) มีเทอร์ซ/บอนว์ (Meters/bonwe) ไนกี้ (Nike) ฟิลิปส์ แวน ฮุสเซน (Phillips Van Heusen Corporation; PVH Corp) พูมา (Puma) และยาเกอ (Youngor) ไม่มีบริษัทสินค้ายี่ห้อใดที่มีนโยบายการจัดการสารเคมี ที่ได้เปิดเผย ควบคุม และจำกัดการใช้และปลดปล่อยสารเคมีอันตรายตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหน้า 38 ของรายงานฉบับเต็ม http://www.greenpeace.org/dirtylaundryreport (3) การรณรงค์ครั้งนี้สืบเนื่องจากผลศึกษาในประเทศจีนกว่า 1 ปี ซึ่งพบสารเคมีที่คงทนในสิ่งแวดล้อมและมีคุณสมบัติรบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมนในร่างกายปนเปื้อนอยู่ในน้ำทิ้งจากโรงงานผู้ผลิตที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทเสื้อผ้าทั้งสองยี่ห้อ สารเคมีดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ เนื่องจากคุณสมบัติที่สารเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และสะสมได้ในสิ่งมีชีวิตและยังสามารถส่งต่อไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามห่วงโซ่อาหาร อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในรายงาน “เสื้อผ้าสกปรก” หน้า 78 การศึกษาของกรีนพีซก่อนหน้านี้พบสารเคมีรบกวนฮอร์โมนที่คงทนในสิ่งแวดล้อม เช่น พบสารอัลคิลฟีนอล (alkylphonols) และสารกลุ่มพีเอฟซี (PFCs) ปนเปื้อนในปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำแยงซี http://www.greenpeace.org/eastasia/press/reports/swimming-in-poison-yangtze-fish รายงานฉบับย่อสามารถดาวน์โหลดที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/dirty-laundry-summary-report/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ