8 ปีจีแพป สานต่อความหวังเพื่อผู้ป่วย

ข่าวทั่วไป Monday July 25, 2011 12:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--คอร์ แอนด์ พีค ครบรอบ 8 ปี โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป (จีแพป) ในประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดยบริษัท โนวาร์ตีส นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2546 ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง เม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังและมะเร็งจีสต์มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 8 ปีของการดำเนินโครงการในประเทศไทย ทั้งนี้ จีแพปได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไทยที่มีปัญหาด้านการเงินไปแล้วกว่า 2,500 ราย ด้วยการมอบยาอิมมาตินิบ โดย ไม่คิดมูลค่า และได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 44,000 คนใน 80 ประเทศทั่วโลก ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา ประธานชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง หรือ CML มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วย 1-2 คนต่อประชากร 1 แสนคน โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม สำหรับปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังมีสิ่งเดียว คือ สารกัมมันตรังสี ทำให้อัตราการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังสูงกว่าคนปกติหลายเท่า สำหรับโรคนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะถูกตรวจพบจากเหตุบังเอิญ โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ยประมาณ 36-45 ปี และจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สำหรับอาการที่พบในผู้ป่วยมักจะไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด อึดอัดแน่นท้อง คลำพบก้อนที่ชายโครงซ้าย บางรายอาจไม่มีอาการเลย แต่ตรวจพบเม็ดเลือดขาวสูงจากการตรวจสุขภาพทั่วไป แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังมีหลายวิธี ปัจจุบันถือเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนี้ คือ การรับประทานยา ซึ่งผลจากการศึกษาทางคลินิก พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาอิมมาตินิบในการรักษาเป็นเวลา 8 ปี จะมีอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์. พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคมะเร็งทางเดินอาหาร ชนิดจีสต์ (GIST) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในช่องท้อง โดยแตกต่างจากมะเร็งระบบทางเดินอาหารอื่น คือ มะเร็งจีสต์เกิดจากเซลล์ที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ เพราะฉะนั้นจึงสามารถพบได้ตามส่วนต่างๆของระบบ ทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหารไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย โดยตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือกระเพาะอาหาร มะเร็งจีสต์ ถือได้ว่าเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น ในส่วนของประเทศไทยพบผู้ป่วยใหม่ด้วยโรคมะเร็งจีสต์ปีละประมาณ 150 ราย และมีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งจีสต์ แต่อย่างไรก็ตามจะพบมากในผู้ทีมีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป สำหรับอาการของมะเร็งจีสต์นั้น พบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะไม่มีอาการ โดยอาการของมะเร็งจีสต์จะคล้ายกับมะเร็งทางเดินอาหารชนิดอื่นๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายอาจคลำพบก้อนในท้อง ซึ่งหากมีก้อนมะเร็งจีสต์อยู่ในกระเพาะอาหาร ก็อาจจะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ โดยเลือด จะปะปนออกมากับอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีสีดำ สำหรับการรักษาเนื่องจากมะเร็งจีสต์เป็นโรคที่ตอบสนองต่อเคมีบำบัดน้อยมาก จึงได้มีการพัฒนายา Targeted Therapy หรือยาที่มุ่งเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ ยาอิมมาตินิบขึ้น โดยทางการแพทย์พบว่า ยากลุ่มนี้สามารถควบคุมโรคได้ดีกว่ายาเคมีบำบัด ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจีสต์มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่อง จะช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยได้มากกว่า 5 ปี และในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่แรกจะช่วยลดการกลับเป็นซ้ำของโรคได้ นายริชาร์ด เอเบลา ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท โนวาร์ตีส มุ่งเน้น ให้ความสำคัญของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเข้าถึงยาของผู้ป่วย จึงได้จัด“โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยมอบยาอิมมาตินิบให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังและมะเร็งจีสต์ ที่มีปัญหาด้านการเงินโดยไม่คิดมูลค่า มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการกว่า 44,000 คน ในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโครงการจีแพป จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 2,500 ราย และยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่กำลังจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต ปัจจุบันมีโรงพยาบาลและศูนย์การรักษาพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจีแพปในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 49 แห่ง และมีแพทย์เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 138 ท่าน โดยการประสานงานผ่านทางมูลนิธิแมกซ์ (ประเทศไทย) นอกจากโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป (GIPAP) แล้ว บริษัท โนวาร์ตีส ยังมีโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติทีแพป (TIPAP) ซึ่งเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเงิน ที่ป่วยเป็นมะเร็ง เม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังที่ดื้อต่อยาอิมมาตินิบ หรือไม่สามารถทนต่อการรักษาด้วยยาอิมมาตินิบ ด้วยการบริจาคยา นิโลตินิบโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ซึ่งโครงการนี้จัดขึ้นในปีพ.ศ. 2551 ปัจจุบันได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 260 ราย นายชวลิต เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผมเองในฐานะประธานชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ แห่งประเทศไทย และผมก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยแล้วเมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้ จะรู้สึกหมดกำลังใจ รวมถึงคนในครอบครัวที่ต้องรู้สึกเป็นทุกข์และกังวลใจไปกับผู้ป่วยด้วย ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า การรักษาโรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง แต่ก็โชคดีที่ผมทำงานอยู่ในองค์กรรัฐวิสาหกิจจึงสามารถเบิกจ่ายค่ายาและค่ารักษา พยาบาลได้แต่สำหรับผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับราชการหรือทำงานอยู่ในองค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือไม่ได้เป็นคนมีฐานะดีจะทำอย่างไร ผมต้องขอขอบคุณ บริษัท โนวาร์ตีส ที่เห็นความสำคัญของปัญหาการเข้าถึงยาของผู้ป่วย และได้จัดโครงการจีแพปขึ้นในประเทศไทย โดยโนวาร์ตีสได้มอบยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังและมะเร็งจีสต์ให้กับประชาชนที่มีปัญหาด้านการเงินโดยไม่คิดมูลค่า ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ที่ผ่านมา ผมเอง ได้มีโอกาสคุยกับสมาชิกชมรมผู้ป่วยฯหลายท่านที่เข้าร่วมโครงการจีแพป ซึ่งพวกเขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเขาพบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง เขาและครอบครัวรู้สึกหมดหวัง หมดกำลังใจ เนื่องด้วยฐานะการเงินของครอบครัวนั้นคงไม่สามารถจ่ายค่ายาในการรักษาได้ แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการจีแพปทำให้พวกเขามีกำลังใจ ที่จะต่อสู้กับโรค ทุกวันนี้พวกเขาและครอบครัวมีความสุข และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่ม กรุณาติดต่อ คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ และ คุณสิริพร สิรินิจศรีวงศ์ ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202 หรือ 081-421- 5249
แท็ก โรคมะเร็ง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ