กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 18 - 22 ก.ค. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 111.27เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เพิ่มขึ้น 1.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 98.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที 117.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลง 0.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 130.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 15 ก.ค. 54 ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 อยู่ที่ 351.7 ล้านบาร์เรล ลดลง 3.7 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า และ อัตราการกลั่นเพิ่มขึ้น 2.3% อยู่ที่ 90.3% สูงสุดในรอบ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรอง Gasoline เพิ่มขึ้น 0.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 212.5 ล้านบาร์เรล และ Distillates เพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 148.5 ล้านบาร์เรล
- 21 ก.ค. 54 นาย Nobuo Tanaka, Executive Director ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่แผนใช้ปริมาณสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves: SPR) ครั้งที่ 2 หลังจากประกาศใช้ SPR ครั้งที่ 1 ปริมาณรวม 60 ล้านบาร์เรล เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 54
- Bloomberg รายงานไนจีเรียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 54 อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน มาอยู่ที่ 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- 21 ก.ค. 54 การประชุมฉุกเฉินสุดยอดผู้นำ Euro Zone มีมติให้ความช่วยเหลือกรีซเป็นครั้งที่ 2 มูลค่า 109,000 ล้านยูโร (157,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยเมื่อรวมกับความช่วยเหลือครั้งล่าสุด คาดว่าจะสามารถลดระดับหนี้กรีซจาก 150% ของ GDP มาอยู่ที่ระดับ 126%
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานสถิติการสร้างบ้านใหม่ (Housing Starts) เดือน มิ.ย. 54 เพิ่มขึ้น 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 629,000 หน่วย เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี 54
- ผลประกอบการของบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ในไตรมาส 2/54 แข็งแกร่ง อาทิ Apple, Citi และ IBM
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของจีนเดือน มิ.ย. 54 อยู่ที่ 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 3.2% จากเดือนก่อนหน้า
- OPEC รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบของเวเนซูเอลาในปี 53 เพิ่มขึ้น 40.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 296.5 พันล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าซาอุดีอาระเบีย (264.5 พันล้านบาร์เรล)
- HSBC รายงานดัชนีภาคอุตสาหกรรม (Purchasing Manager Index: PMI) ของจีนในเดือน ก.ค. 54 ลดลง 1.2 จุด (M-O-M) มาอยู่ที่ 48.9 จุด ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน และลดลงต่ำกว่า 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ค. 54 เพิ่มขึ้น 10,000 ราย จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 418,000 ราย และอยู่ในระดับสูงกว่า 400,000 ราย ติดต่อกันเป็นเวลา 15 สัปดาห์
- สถาบันวิจัย Markit รายงานดัชนีกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมของ Euro Zone (Manufacturing PMI) ในเดือน ก.ค. 54 ลดลง 1.6 จุด (M-O-M) มาอยู่ที่ 50.4 จุด ต่ำสุดตั้งแต่ ก.ย. 52 และดัชนีกิจกรรมรวม (ภาคอุตสาหกรรมและบริการ: Composite PMI) ลดลง 2.5 จุด (M-O-M) มาอยู่ที่ 50.8 จุด
ราคาน้ำมันดิบในวันศุกร์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนที่มีความมั่นใจว่าปัญหาหนี้สินของกรีซจะไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ หลังจากผู้นำสหภาพยุโรปอนุมัติแผนการให้ความช่วยเหลือกรีซรอบ 2 เพื่อควบคุมวิกฤติหนี้ใน Euro Zone ที่ยืดเยื้อมานานถึง 18 เดือน ถึงแม้ว่าทางด้าน Fitch Rating เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลของกรีซลงสู่ระดับผิดนัดชำระหนี้ก็ตาม คาดว่าแนวโน้มราคาน้ำมันจะยังคงผันผวน ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 115-123 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและ 96-104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ โดยความวิตกกังวลเกี่ยวกับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ จะยังเป็นประเด็นที่สำคัญที่น่าจับตามอง ล่าสุดการประชุมสภาคองเกรสในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ และประธานาธิบดี Barack Obama ย้ำเตือนว่าสหรัฐฯ อาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้หากไม่มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 2 ส.ค. 54 นอกจากนี้ควรติดตาม GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/54 ที่จะประกาศปลายสัปดาห์นี้ รวมทั้งภาวะภูมิอากาศในฤดูมรสุมของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อปริมาณการผลิตและส่งมอบน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทร. 0 2537-1630
โทรสาร 0 2537-2171