เตือนผู้ส่งออกไปเวียดนามรับมือมาตรการคุมเข้มสินค้านำเข้า

ข่าวทั่วไป Tuesday July 26, 2011 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--คต. นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่เวียดนามประสบภาวะขาดดุลต่อเนื่องยาวนานกว่า 18 ปี โดยเฉพาะปี 2553 ขาดดุลกว่า 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าสินค้าส่งออกสำคัญอย่างสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีก็ตาม แต่เนื่องจากราคาสินค้าทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เวียดนามยังคงประสบปัญหาขาดดุลอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลเวียดนามจึงประกาศมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าหลายรายการ ดังนี้ 1. มาตรการกำหนดด่านนำเข้าไวน์ เครื่องสำอาง และโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Notice No. 197/TB-BCT) ต้องนำเข้า ณ ท่าเรือที่กำหนด 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือไฮฟอง ท่าเรือดานัง และท่าเรือโฮจิมินห์ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ส่งผลให้สินค้าทั้ง 3 ประเภทไม่สามารถนำเข้าทางบกหรือทางอากาศได้ อีกทั้งผู้นำเข้ายังต้องมีใบอนุญาตนำเข้า และต้องยื่นเอกสารเพื่อยืนยันการเป็นผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการของสินค้าแต่ละยี่ห้อ โดยเอกสารดังกล่าวต้องได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามในประเทศผู้ส่งออกด้วย 2. มาตรการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้า 6 รายการ (Circular No. 91/2011/TT-BTC) ออกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2554 ดังนี้ สินค้า อัตราภาษีเดิม (ร้อยละ) อัตราภาษีใหม่ (ร้อยละ) 1. ถั่วปอกเปลือก 20 30 2. ซอสมะเขือเทศ 30 35 3. ใบยาสูบ 30 50 4. บุหรี่ 30 50 5. อุปกรณ์ในห้องน้ำทำด้วยโลหะ 32 36 6. ปริ๊นเตอร์ 0 5 3. มาตรการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าใหม่สำหรับรถยนต์ใช้แล้ว (Decision No. 36/2011/OD-TTG) ออกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 ดังนี้ สินค้า อัตราภาษีใหม่ (เหรียญสหรัฐฯ) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลใช้แล้ว ต่ำกว่า 10 ที่นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบต่ำกว่า 1.0 ลิตร 3,500 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลใช้แล้ว ต่ำกว่า 10 ที่นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบระหว่าง 1.0 — 1.5 ลิตร 8,000 รถยนต์ 10 — 15 ที่นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบ 2.0 ลิตรหรือน้อยกว่า 9,500 รถยนต์ 10 — 15 ที่นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบระหว่าง 2.0 - 3.0 ลิตร 13,000 รถยนต์ 10 — 15 ที่นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบมากกว่า 3.0 ลิตร 17,000 4. มาตรการนำเข้ารถยนต์ที่มีขนาดเล็กกว่า 9 ที่นั่ง (Circular No. 20/2011 TT-BCT) กำหนดให้ต้องนำเข้าโดยผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามเท่านั้น มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554 5. มาตรการควบคุมความปลอดภัยอาหารนำเข้าที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช (Circular No. 13/2011) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 กำหนดให้สินค้าพืช ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ (พิกัดศุลกากร 0701-0714, 0801-0814, 0901-0910, 1001-1008, 1104, 1201-1207 และ 1212) ต้องผลิตในประเทศที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของเวียดนาม และหากมีการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified) ผ่านการฉายรังสี หรือใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ ต้องแนบเอกสาร Certificate of Free Sale ที่ออกโดยหน่วยงานรับผิดชอบของประเทศผู้ส่งออก นอกจากนี้ ยังต้องบรรจุและเก็บรักษาด้วยวิธีที่ถูกสุขอนามัย ติดฉลากระบุชื่อของสินค้า ชื่อและที่อยู่ของสถานที่ผลิตและข้อมูลอื่นๆ เป็นภาษาเวียดนาม อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวมีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงจะได้เผยแพร่ในครั้งต่อไป นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามประกาศมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอย่างต่อเนื่อง บางมาตรการส่งผลกระทบต่อการค้าของไทย เช่น มาตรการควบคุมความปลอดภัยอาหารนำเข้าที่กำหนดให้สินค้าและโรงงานผู้ผลิตต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานของเวียดนามก่อนจึงจะสามารถส่งออกและวางจำหน่ายในเวียดนามได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดเวียดนามลดลง ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ตลอดจนปรับการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานของเวียดนาม เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าถูกตีกลับหรือถูกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดโดยประเทศคู่แข่งได้ ที่มา : 1. คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก 2. สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย และ นครโฮจิมินห์ 3. http://www.nafiqad.gov.vn/?set_language=en&cl=en

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ