กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สสวท.
ศ. ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า สสวท. ร่วมกับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จะจัดการประชุมวิชาการ “Asia-Pacific GLOBE Learning Expedition Thailand 2007 : Learning about Climate Change to Inspire the Next Generation of Scientist” ระหว่างวันที่ 13 - 18 พฤศจิกายน 2550 ณ อาคารนาวาภิรมย์ 1 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย นักเรียน ครู นักการศึกษา และผู้ประสานงานระหว่างประเทศของโครงการ GLOBE ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเซีย-แปซิฟิก
การจัดประชุมวิชาการนี้มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียน ครู นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการจากหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในลักษณะของโลกทั้งระบบ (Earth System Science) เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน
ภายในงานมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง ชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังการนำเสนองานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบจากนักเรียนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมทั้งร่วมสังเกตการณ์การศึกษาภาคสนามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2550 อาทิ การศึกษาผลกระทบของสภาวะ โลกร้อนต่อแนวปะการังที่บริเวณเกาะขี้นก จ.ประจวบคีรีขันธ์ การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้ “ยุง” เป็นตัวชี้วัด ณ บ้านหนองหอย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ การเปลี่ยนแปลง ของภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อการเสื่อมโทรม ของดิน ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี แล้วนำข้อมูลที่ได้มา สร้างแบบจำลองร่วมกัน เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมดังกล่าวที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของ สภาพภูมิอากาศในลักษณะของความสัมพันธ์ของโลกทั้งระบบ
กิจกรรมหลักประกอบด้วย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 ลงทะเบียน ติดตั้งโปสเตอร์สำหรับใช้นำเสนอ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 พิธีเปิด การนำเสนอผลงานของนักเรียนโครงการ GLOBE ในแถบภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก กิจกรรมรถพลังงานแสงอาทิตย์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 การบรรยายพิเศษ กิจกรรมภาคสนาม ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย วันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 กิจกรรมภาคสนาม
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2550 วิเคราะห์ข้อมูล เตรียมข้อมูลนำเสนอ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2550 นำเสนอกิจกรรมภาคสนาม เครือข่ายการวิจัย GLOBE ในแถบภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกและพิธีปิด
ในงานนี้มีนักเรียนไทยระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 10 โรงเรียนในโครงการ GLOBE
ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ประกอบด้วย งานวิจัยเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบค่าความเป็นกรดของน้ำฝนในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินต่างกันในเขตกรุงเทพมหานคร
โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพมหานคร การศึกษาระบบนิเวศคลองตะกุดที่มีต่อการเจริญเติบโตของต้นบอน ตำบลดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนจตุคามวิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา การศึกษาลักษณะของดินเพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยค่าความคงทนของดินต่อการชะล้างพังทลายของดิน บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแสนตอ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) จังหวัดเชียงราย
การศึกษาถิ่นที่อยู่อาศัยของอึ่งอ่างในป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช โรงเรียนท่าช้างราษฏร์บำรุง จังหวัดนครราชสีมา การศึกษาคุณภาพน้ำในลำน้ำจักราช โรงเรียนพิมายวิทยา จังหวัดนครราชสีมา ศึกษาการชะล้างพังทลายของดินที่มีผลต่อคุณภาพน้ำของจุดศึกษาที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน (พื้นที่ป่าไม้ปกคลุม) จุดศึกษาที่มีการพัฒนาที่ดินและจุดศึกษาที่มีการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของชาวบ้าน โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
การศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตของมันฝรั่งพันธุ์ Spunta ที่ใช้การปรับปรุงดินที่แตกต่างกัน โรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ การสำรวจวัชพืชในนาข้าวเพื่อการปรับปรุงดิน โรงเรียนป่าติ้ววิทยา จังหวัดยโสธร
ผักกระเฉดช่วยฟื้นฟูคุณภาพของน้ำและเพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง