กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและคลองต่างๆ พร้อมกำชับให้มิสเตอร์เตือนภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนร่วมเฝ้าระวังและติดตามความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นายวิจิตร จันทรปาน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้พื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป มีฝนตกหนักถึงหนักมากประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากภาวะฝนตกหนักได้ ทั้งอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สำนักงาน ปภ.จังหวัดสงขลาจึงได้จัดประชุมคณะทำงานด้านวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม การประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนภัยประจำปี 2550 ครั้งที่ 3 พร้อมทั้งได้ร่วมกับ คณะกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ จังหวัดสงขลา ออกตรวจสอบปริมาณการเก็บกักน้ำของสำนักงานชลประทานที่ 16 บริเวณเขื่อนเก็บน้ำสะเดา ตรวจสอบสถานีวัดน้ำ จำนวน 3 จุด ได้แก่ บริเวณบ้านม่วงก็อง สถานีวัดน้ำคลองหลา สถานีวัดน้ำ หน้าบ้านควนลัง และตรวจสอบแก้มลิง ที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำของเทศบาลนครหาดใหญ่ นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบปริมาณการเก็บกักน้ำใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอรัตภูมิ นาทวี หาดใหญ่ จะนะ และควนเนียง พบว่า ปริมาณน้ำในฝายชะมวง อำเภอรัตภูมิ มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.00 เมตร ระดับน้ำในฝายปลักปลิง อำเภอนาทวี ต่ำกว่าตลิ่ง 0.61 เมตร ระดับน้ำในฝายคลองวาดและประตูระบายน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ ต่ำกว่าตลิ่ง 1.69 และ 6.00 เมตรตามลำดับ และระดับน้ำคลองจะนะและคลองรัตภูมิอยู่ระดับ 1.09 และ 2.70 เมตร ซึ่งจากการตรวจสอบในภาพรวมของปริมาณน้ำใน อ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ฝายและลำคลองต่างๆ พบว่า สถานการณ์น้ำยังไม่น่าเป็นห่วง และยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก
นายวิจิตร กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ สำนักงาน ปภ. สงขลาได้ประสาน สั่งการให้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และมิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมอุปกรณ์ในการช่วยเหลือให้พร้อม เช่น สัญญาณไซเรนมือหมุนสำหรับประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ รถบรรทุก และยานพาหนะไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน พร้อมจัดฝึกซ้อมแผนอพยพในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งนี้ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดลุ่มเชิงเขา ที่ลุ่มริมน้ำ และริมชายฝั่งทะเลติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศเตือนภัยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยขนย้ายทรัพย์สินไว้ในที่สูงและอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยทันที จัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภคพร้อมน้ำดื่มสะอาด สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา หมายเลขโทรศัพท์ 0-7431-6380-2 หรือสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง