กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. และสภาธุรกิจตลาดทุนไทยจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับองค์กรสำคัญในตลาดการเงินไทย เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2554 เพื่อระดมสมองและแลกเปลี่ยนมุมมอง วิสัยทัศน์เกี่ยวกับความต้องการของภาคธุรกิจ ตลาดทุน รวมถึงภาคประชาชนและสังคม ที่ตลาดทุนสามารถตอบสนอง ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ของประเทศที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยทั้งภายในและนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับปัจจุบันให้ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้พิจารณาถึงแนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ดังนี้ (ก) ภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทสูงมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (ข) การค้าขายในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีกมาก (ค) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเพิ่มขึ้นอีกมาก (ง) ภูมิภาคจะยังเป็นศูนย์การผลิตอุตสาหกรรม แต่ (จ) ในบางประเทศจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้นมาก ซึ่งจะมีผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและเงินลงทุนภายในภูมิภาค
ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้ตลาดทุนไทยเข้ามามีส่วนในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาคธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของประเทศและภูมิภาคได้ จนถึงขั้นมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีข้อเสนอที่น่าสนใจและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ ดังนี้
1. เร่งปรับปรุง เพิ่มความสะดวกและลดอุปสรรคสำหรับการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมช่องทางระดมทุนของกิจการขนาดกลางและเล็ก
2. ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและลดภาระทางการเงินของรัฐบาล
3. เร่งพัฒนาเครื่องมืออนุพันธ์ใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารความเสี่ยงของภาคธุรกิจให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน หรือราคาสินค้าเกษตร
4. ให้ความสำคัญกับการใช้กลไกหรือเครื่องมือในตลาดทุนเพื่อสกัดกั้นหรือเปิดโปงคอร์รัปชั่น โดยมีแนวคิดที่จะร่วมมือกันในการกำหนด roadmap เพื่อผลักดันเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง
ผ่านการปฏิบัติและการเปิดเผยข้อมูลตามหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility: CSR) ซึ่งจะประกาศแผนงานที่ชัดเจนให้ทราบภายในสิ้นปีนี้”
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า “โจทย์สำคัญของตลาดทุนไทยคือจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของภูมิภาคได้ จนถึงขั้นที่จะมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ทั้งในด้านการระดมทุนและการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงจะทำอย่างไรให้ธุรกิจหลักทรัพย์ไทยสามารถแข่งขันกับของต่างประเทศได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของตลาดทุนไทย ดังนี้
1. ประเทศไทยควรตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางระดมทุนสำหรับกิจการชั้นนำในกลุ่มประเทศอินโดจีนเพราะมีข้อได้เปรียบในด้านต่าง ๆ แต่ต้องพร้อมแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
2. ยืนยันให้ตลาดหลักทรัพย์ปฏิรูปให้เป็นบริษัทมหาชนโดยเร็ว เพื่อทำให้มีรูปแบบการบริหารจัดการ (governance) ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสามารถแข่งขันการค้าหลักทรัพย์ในรูปแบบอื่น ๆ ในโลกได้
3. การเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ควรดำเนินการควบคู่กับการเปิดโอกาสธุรกิจให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในประเทศสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยมีท่าทีเปิดกว้างยิ่งขึ้นทั้งด้านประเภทสินค้า ด้านสกุลเงินตรา ด้านช่องทางการเข้าถึงลูกค้า และช่องทางการชำระเงิน
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มอบหมายให้สภาธุรกิจตลาดทุนไทยร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาคทางการ ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ เพื่อทำการขยายผลของประเด็นเหล่านี้และนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ต่อไป”
นางสาวนวพร เรืองสกุล ประธานกรรมการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ตลาดเงินและตลาดทุนของไทยจะต้องตอบโจทย์เรื่อง (ก) ประชาชนขาดความรู้ที่จำเป็นในการจัดการการเงินของตนเอง ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับความรู้ด้านการลงทุน การขาดความรู้ความเข้าใจเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนหนึ่ง
เข้าไม่ถึงระบบการเงิน (financial inclusive) (ข) ผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงขึ้น ตลาดเงินตลาดทุนจำเป็นต้องคิดบริการทางการเงินที่จะต้องตอบสนองการบริหารการเงินของคนกลุ่มนี้
ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นในเรื่องบทบาทด้านสังคมของตลาดทุนไทย ดังนี้
1. ต้องมีองค์กรอย่างใดอย่างหนึ่งทำหน้าที่ต่อเนื่องในการให้ความรู้และคำแนะนำให้ประชาชนสามารถนำไปใช้จัดการการเงินของตัวเองได้อย่างเหมาะสม โดยองค์กรนี้ควรได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
2. ต้องเร่งขยายระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุให้ครอบคลุมกว้างขวางกว่าที่มีอยู่”