กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าทันทีมากกว่า 7,000 รายการ นอกจากนี้ยังมีสินค้าบางรายการที่ไทยและญี่ปุ่น ให้โควตาระหว่างกัน โดยสินค้าที่ญี่ปุ่นให้โควตาแก่สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ กล้วย สับปะรด เนื้อหมูแปรรูป กากน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลังแปรรูป ส่วนไทยให้โควตานำเข้าแก่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยไม่มีการผลิต ได้แก่ เหล็กกัดกรดเคลือบน้ำมัน เหล็กแผ่นหน้ากว้าง และเหล็กเพื่อผลิตยานยนต์ รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยผูกพันไว้กับ WTO รวม 21 รายการ
สำหรับสินค้าไทยที่ได้โควตาจากญี่ปุ่น โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้บริหารและจัดสรร ได้แก่ กล้วย สับปะรด และเนื้อหมูแปรรูป โดยในปีแรกของความตกลง (พย.50 — มีค. 51)ไทยได้โควตาปลอดภาษี กล้วย 1,667 ตัน (ภาษีปกติ 20-25%) สับปะรด 42 ตัน (ภาษีปกติ 17%) ส่วนเนื้อหมูแปรรูป ซึ่งได้รับการจัดสรรโควตาภาษีในปี 2550 จำนวน 500 ตัน โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีจาก ภาษีปกติ 20% ลงเหลือ 16%
ผู้ขอรับการจัดสรรโควตาส่งออกสำหรับสินค้ากล้วย และสับปะรด ต้องมีประวัติการส่งออกระหว่างปี 2547-2549 กรณีไม่เคยส่งออกต้องได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เนื่องจาก เป็นสินค้าที่ต้องมีการตรวจโรคพืช ส่วนเนื้อหมูแปรรูป ผู้ได้รับการจัดสรรโควตาส่งออก ได้แก่ โรงงานแปรรูปเนื้อหมูตามรายชื่อของกรมปศุสัตว์ จำนวน 23 โรงงาน ซึ่งวิธีการจัดสรรโควตาสินค้าทั้ง 3 ชนิดจะใช้วิธี First come, first served.
ส่วนสินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับโควตาจากญี่ปุ่น อีก 2 รายการ คือ แป้งมันสำปะหลังแปรรูป และกากน้ำตาล ฝ่ายญี่ปุ่นจะเป็นผู้บริหารโควตาเอง โดยสินค้าแป้งมันสำปะหลังแปรรูป จำนวน 200,000 ตัน จะได้รับโควตาปลอดภาษี (จาก 6.8% เหลือศูนย์) ส่วนกากน้ำตาล จะได้รับโควตาภาษีในปีที่ 3 โดยลดหย่อนภาษีจาก 15.3 เยนต่อกิโลกรัม เหลือ 7.65 เยนต่อกิโลกรัม
สำหรับสินค้าเหล็กที่ไทยให้โควตานำเข้าแก่ญี่ปุ่น ไทยได้ออกประกาศและระเบียบกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้สินค้าเหล็กที่นำเข้าจากญี่ปุ่นที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ภายใต้โควตา ต้องมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากร จากกรมการค้าต่างประเทศ แสดงต่อกรมศุลกากรประกอบกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากญี่ปุ่น โดยในปีแรกของความตกลง (พย.-ธค.50) ไทยจัดสรรปริมาณการนำเข้า 74,000 ตัน สำหรับสินค้าเหล็กรีดร้อน โดยผู้ได้รับการจัดสรรจะต้องเป็นนิติบุคคลและเป็นผู้ประกอบการเหล็กเพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนเหล็กรีดร้อนสำหรับรีดเย็น ไทยจัดสรรในปริมาณ 40,000 ตัน ซึ่งผู้ได้รับการจัดสรรต้องเป็นโรงงานผลิตเหล็กรีดเย็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนเหล็กรีดร้อนสำหรับรีดเย็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ ได้รับการจัดสรร 47,000 ตัน ซึ่งผู้ได้รับการจัดสรรยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสถาบันเหล็ก คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 1 — 7 พฤศจิกายน 2550 มีผู้ส่งออกของไทยให้ความสนใจขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดเพื่อส่งสินค้าออกไปยังประเทศญี่ปุ่น กว่า 1,500 ฉบับ โดยสินค้าที่ขอใช้สิทธิภายใต้ JTEPA ได้แก่ กุ้งแปรรูป สิ่งทอ และแป้งมันสำปะหลังแปรรูป เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย - ญี่ปุ่น (Japan —Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ประโยชน์จากความตกลง JTEPA กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และแนวปฎิบัติในการขอใช้สิทธิภายใต้ JTEPA มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง JTEPA ให้ได้มากที่สุด รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 โทรสาร 0 2547 4816 www.dft.go.th , e-mail : tpdft@mocnet.moc.go.th