กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--กทม.
กทม. ร่วมกับหลายหน่วยงาน ปรับปรุงทางเท้า ถ.ราชดำริ ถนนคนพิการต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย เปิดโอกาสคนพิการเข้าถึงบริการสาธารณะ ย้ำปรับปรุงเพิ่มอีก 4 สาย ได้แก่ ถ.เพลินจิต ราชประสงค์ สยามสแควร์ และ ถ.วิทยุ ภายในปี 51
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดถนนคนสัมพันธ์ ถนนคนพิการแห่งแรกของประเทศไทย ตามโครงการปรับปรุงทางเท้า ถ.ราชดำริเพื่อคนพิการ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
นพ.พลเดช กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 1.9 ล้านคน หรือร้อยละ 2.9 ของประชากร 65.5 ล้านคน แต่ข้อมูลล่าสุดวันที่ 30 มิ.ย. 50 มีผู้พิการมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 693,594 คน ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า คนพิการ จำนวนกว่า 1 ล้านคนยังไม่ได้รับการคุ้มครอง แม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้พิการควรได้รับ และอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ มีเด็กพิการเพิ่มขึ้นถึง 6 แสนคน โดยเป็นเด็กแรกเกิดกว่า 116,731 คน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ผลสำรวจปัญหาที่คนพิการประสบ 5 อันดับแรก คือ 1. ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล 2. ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก เช่น รถเข็น 3. ครอบครัวหรือผู้ดูแลมีฐานะยากจน 4. ยากลำบากเมื่อต้องเดินทางออกไปนอกบ้าน 5. ขาดโอกาสทางการศึกษาและการรับรู้ข่าวสาร เหตุผลเหล่านี้ทำให้คนพิการจำนวนมากไม่อาจเข้าถึงบริการสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกตามสิทธิที่พึงมี โครงการปรับปรุงทางเท้า ถ.ราชดำริ จึงเป็นต้นแบบหนึ่งที่สนับสนุนให้คนพิการสามารถใช้งานได้จริง เข้าถึงได้จริง และเป็นทางเท้าที่คนทุกเพศทุกวัยใช้งานได้อย่างปลอดภัย
นายพนิช กล่าวว่า ถ.ราชดำริเป็นถนนสายแรกที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ผู้พักอาศัย เจ้าของกิจการ และเครือข่ายผู้พิการ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ปรับทางเท้าเป็นทางลาดขึ้น-ลง ปรับพื้นผิว ให้สม่ำเสมอ มีระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ซึ่งกทม. จะขยายการปรับปรุงถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการได้เข้าถึงบริการสาธารณะ ไปยัง ถ.เพลินจิต ราชประสงค์ สยามสแควร์ และ ถ.วิทยุ ทั้งสายภายในปี 2551
ในวันเดียวกันนี้ นพ.พลเดช และนายพนิช ได้ทดลองใช้ถนนคนพิการเพื่อทดสอบความเรียบร้อย โดยการนำผ้ามาปิดตา และใช้ไม้เท้านำทางเช่นเดียวกับคนตาบอด