นพ.มงคล หนุนการศึกษาให้คนใต้ สร้างความเจริญหนทางไล่ผีป่า

ข่าวทั่วไป Tuesday November 13, 2007 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สวรส.
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาวิชาการเรื่องการจัดการความรู้เพื่อสันติสุขภาวะพื้นที่ภาคใต้ จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับหลายหน่วยงาน ว่าโครงสร้างพื้นฐานของภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ด้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ อาจมาจากความละเลยจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและขาดความเสมอภาคของคน ควรร่วมมือกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่มาจากรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงและอยากให้คนทำงานในพื้นที่ เช่น แพทย์ พยาบาล บุคลากรทุกภาคส่วนทำงานอย่างเต็มที่ และอยากให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการพัฒนารายได้ของคนในจังหวัดชายแดนใต้ ปัจจุบันคนในพื้นที่มีรายได้พอมีพอกินแบบกระเบียดกระเสียน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตด้อยลง หลายคนอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานในประเทศมาเลเซีย
นพ.มงคล กล่าวว่า ปัจจุบันภาคใต้ของประเทศไทยยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์พร้อม และเหมาะแก่การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานอาหาร โรงงานสิ่งทอ ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนโดยตรงเพื่อเป็นการลดปัญหาในเรื่องของอิทธิพลหรือการกดค่าแรง หรือสนับสนุนให้เอกชนเปลี่ยนพื้นที่การลงทุน โดยมีการยกเว้นภาษี และสนับสนุนด้านการลงทุน เพื่อการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างเงินให้กับคนในพื้นที่ รวมถึงเรื่องการฝึกฝนวิชาชีพให้คนในพื้นที่
ในด้านการศึกษาควรมีการพัฒนาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเราปล่อยให้เป็นรูปแบบที่ไม่ตรงกับที่ควรจะเป็น สุดท้ายก็ไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงทุนเพื่อก้าวเดินของอนาคตประเทศไทย นอกจากนี้ยังรวมถึงการแก้ปัญหาด้านการคมนาคม ไฟฟ้า ถนน ผู้รับผิดชอบควรเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ในด้านสุขภาพ แม้ว่าอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะถูกลอบทำร้ายต่างๆ นานา แต่ก็สามารถดูแลสุขภาพกันได้อย่างดี การปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลสุขภาพของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องยาเสพติดที่กลับมามีอิทธิพลกับจังหวัดชายแดนใต้ ยาเสพติดกลายเป็นที่พึ่งกับคนสิ้นหวัง มนุษย์ทุกคนต้องการเป็นคนดี แต่พวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่มีโอกาส เราต้องสร้างโอกาสในชีวิตเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตามในเรื่องในสมัยก่อนใครอยากรวย มีฐานะที่ดีก็ลงไปปฏิบัติงานในจังหวัดภาคใต้ แต่ขณะนี้ภาคใต้ของไทยกลับกลายเป็นถิ่นทุรกันดารที่สุดของประเทศไปแล้ว หาทางแก้ไขคือการสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ที่ผ่านมาเราสร้างให้เกิดประชาสังคมมากมาย แต่ในภาคใต้กลับยังเกิดขึ้นน้อย แม้ว่าจะมีกลุ่มมุสลิมที่พยายามทำกันบ้าง ทำอย่างไรจะกระตุ้นชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งได้ ยังไม่หมดหวังที่จะทำให้ดีขึ้น อยากให้กำลังใจคนทำงาน อย่าสิ้นหวัง มองไปข้างหน้าและทำสิ่งดีต่อไปเพื่อประเทศไทย
ด้านนายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ว่า ในส่วนของ ศอ.บต. มีงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งตนเห็นว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ จะเป็นช่องทางหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และมีแนวทางของการผนวกงบประมาณในส่วนนี้ เข้ากับงบประมาณปี 2552 ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานจะมีงบประมาณสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่เกือบ 1 พัน เปอร์เซ็นต์ต่อหน่วยงาน ดังนั้น ต้องมีองค์ความรู้ที่สามารถกำหนดแนวทางการทำงานตามกรอบงบประมาณทันภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551
นายพระนาย กล่าวต่อไปว่า หากมองปัญหาอย่างเป็นระบบ จะพบว่า ปัญหาเรื่องสาธารณสุขที่เราคิดว่ามีความก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่ก็ยังพบว่า สุขภาพของพี่น้องชาวไทย ปัญหาด้านสุขอนามัยยังคงเป็นปัญหา อัตราเฉลี่ยการตายของแม่หลังตั้งครรภ์ยังอยู่ในอัตราสูง ซึ่งไม่รวมปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ลดลงจากร้อยละ 607 เหลือเพียงร้อยละ 1 หรือแทบไม่มีการลงทุน ปัญหาด้านการศึกษา เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในพื้นที่ ยังคงเป็นปัญหา เพราะทัศนคติของพ่อ แม่ ยังคงมุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านศาสนาเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราการสอบเข้าศึกษาต่อไประดับอุดมศึกษาต่ำตามไปด้วย โดยคะแนนเฉลี่ยผลการสอบ o-net อยู่ใน 3 อับดับสุดท้ายของประเทศ และขาดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือความรู้ในการแข่งขันกับระบบการสอบทั่วประเทศ
“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในสงคราม 4 สมรภูมิ ทั้งด้านการทหาร ด้านการเมือง ด้านการทูต และสงครามสื่อ ซึ่งสงครามสื่อเป็นสมรภูมิที่รุนแรงที่สุด การสังหารผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว ทำให้คนอีก 62 ล้านคนโกรธได้ หรือแม้กระทั่งการแห่ศพเพื่อประท้วงในพื้นที่ เมื่อพบว่ามีการสะกัดไม่ให้มีการทำข่าวของสื่อ ทำให้มีการยกเลิกการประท้วงดังกล่าว ฉะนั้นต้องมองให้ชัดเจนว่า กลไกของระบบสื่อสารมวลชน เป็นกลไกสำคัญและอ่อนไหวต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่” ผอ.ศอ.บต. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
โทร.02-2701350-4 ต่อ 105
Email:pr@hsri.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ