กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--เครือข่ายเยาวชน
วันที่27 กรกฎาคม 54ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เวลา 11.00 น. ตัวแทนกลุ่มเชียงใหม่อารยะ,เครือข่ายเยาวชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ 7 สถาบัน พร้อมด้วยประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงใหม่ มีความห่วงใยในสถานการณ์การจัดงานแสดงดนตรี 30 ปีคาราบาวที่จะมีขึ้น ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2554 นี้
เนื่องจากมีการละเมิด พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งานคอนเสิร์ตในจังหวัด?พิจิตร-ขอนแก่น-มุกดาหาร-เลย-สุราษฎร์ฯ-พัทลุง? ปล่อยให้มีการจำหน่าย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่ห้ามดื่มห้ามขาย ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ตามมาตรา 27,การจัดกิจกรรมลด แลก แจก แถม(มาตรา 30) และที่สำคัญมีการแสดงตราสัญลักษณ์และโชว์ภาพสินค้า ซึ่งในมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับอีกวันละ 50,000 บาท”
ทางเครือข่ายฯจึงได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดงาน เรื่องขอให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด
ทั้งยังแสดงข้อห่วงใยเพิ่มเติม จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความชุกของผู้ที่ดื่มเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศคือร้อยละ 12.6 ซึ่งกลุ่มนี้จะกลายเป็นโรคตับแข็ง โรคจิตจากแอลกอฮอล์ โรคมะเร็งตับ ในอนาคตถ้าไม่ได้รับการบำบัดรักษา และเยาวชนกลุ่มใหม่จะเพิ่มขึ้นมาทดแทน ถ้าไม่ได้มีการวางแผนป้องกันไว้ เมื่อวิเคราะห์เฉพาะผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าเป็นผู้ที่เคยดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะร้อยละ 50.2 ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก เมื่อคำนวณดัชนีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดเชียงใหม่ มีค่าดัชนีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับที่ 4 จาก 17 จังหวัดในภาคเหนือ และเป็นอันดับ 11 ของ ประเทศไทย