กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สหมงคลฟิล์ม
ฉลองครบรอบ “100 ปีชาตกาล พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” “40 ปีบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด”
และ “101 ปี ผู้กำกับชั้นเซียน อากิระ คุโรซาวา”
ประชันบทบาทสุดเข้มข้นของทีมนักแสดงชั้นนำ มาริโอ้ เมาเร่อ / อนันดา เอเวอริงแฮม / เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง / เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา / ดอม เหตระกูล ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ / รัดเกล้า อามระดิษ และนักแสดงสมทบอีกคับคั่ง
ร่วมค้นหาความจริงของมหาฆาตกามคดีแห่งโจรป่า นางบาป และขุนศึก 8 กันยายน 2554 ทุกโรงภาพยนตร์
“อุโมงค์ผาเมือง”
กำหนดฉาย 8 กันยายน 2554
แนวภาพยนตร์ พีเรียด-ดราม่า
บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ดำเนินงานสร้าง เติมพันธ์ มัทวพันธุ์, นัยนา อึ้งสวัสดิ์
กำกับภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
บทภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
กำกับคิวบู๊ พันนา ฤทธิไกร
กำกับภาพ พนม พรมชาติ
ออกแบบงานสร้าง พัฒน์ฑริก มีสายญาติ
กำกับศิลป์ นิติ สมิตตะสิงห์
ลำดับภาพ สิริกัณณ์ ศรีจุฬาภรณ์
ควบคุมการสร้างเทคนิคภาพพิเศษ อาทยา บุญสูง
ดนตรีประกอบ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
ออกแบบเสียง ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์
ผสมเสียง กันตนา ซาวด์ แล็บ
ฟิล์มแล็บ โอเรียนทัล โพสท์
ออกแบบเครื่องแต่งกาย นพดล เตโช
แต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด
ทีมนักแสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, อนันดา เอเวอริงแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์,
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, ดอม เหตระกูล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, รัดเกล้า อามระดิษ ฯลฯ
มหาฆาตกามคดีแห่งโจรป่า นางบาป และขุนศึก
ปีพุทธศักราช 2110 ณ นครผาเมืองแห่งอาณาจักรเชียงแสนอันรุ่งเรือง วันหนึ่งหลังจากเกิดวิบัติการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ทั้งอัคคีภัยครั้งใหญ่หลวง แผ่นดินไหวอันรุนแรง และโรคร้ายระบาดคร่าชีวิตประชาชนไปกว่าครึ่งนคร ก็เกิดคดีฆาตกรรมปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้ “โจรป่าสิงห์คำ” (ดอม เหตระกูล) ผู้โหดร้ายที่สุดในแผ่นดินถูกจับได้ในคดีฆาตกรรม “ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า” (อนันดา เอเวอริงแฮม) และข่มขืน “แม่หญิงคำแก้ว” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ภรรยาของขุนศึกในป่านอกเมือง ขณะที่สองสามีภรรยาเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปเยี่ยมญาติที่นครเชียงคำ
จากคำให้การของโจรป่าและแม่หญิง สร้างความปั่นป่วนและพิศวงงงงวยให้แก่ “เจ้าผู้ครองนคร” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) และประชาชนผู้มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ต่างยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าตนเองเป็นผู้ฆ่าขุนศึก เจ้าหลวงจึงเรียก “ผีมด-ร่างทรง” (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงดวงวิญญาณของขุนศึกเพื่อค้นหาความจริง แต่แล้ววิญญาณของขุนศึกกลับให้การผ่านร่างทรงว่า ตนต่างหากที่ฆ่าตัวตายเอง!!!
เหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการพบเห็นและสนทนาของ “พระหนุ่ม” (มาริโอ้ เมาเร่อ), “ชายตัดฟืน” (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) และ “สัปเหร่อ” (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ภายในอุโมงค์ผีที่ผาเมือง ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดทั้ง 3 คนจึงให้การปิดบังความจริงที่เกิดขึ้นและ “ความจริง” ทั้งหมดคืออะไรกันแน่???
จาก “ประตูผี” สู่ “อุโมงค์ผาเมือง” เบื้องหลังคดีฆาตกรรมปริศนา
ภาพยนตร์เรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” (The Outrage) ของ “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ “100 ปีชาตกาลของ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”, “40 ปีของบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” และ “101 ปี ผู้กำกับชั้นเซียน อากิระ คุโรซาวา” ซึ่งจะเป็นภาพยนตร์ย้อนยุคไปในอาณาจักรล้านนาไทยเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา เล่าเรื่องราวของคดีฆาตกรรมพิศวงระหว่างขุนศึก, โจรป่า และเจ้านางผู้เลอโฉม ผ่านการสนทนาของพระหนุ่ม, คนตัดฟืน และสัปเหร่อ ณ อุโมงค์แห่งนครผาเมือง ที่ผู้ชมจะต้องร่วมคลายปมและค้นหาความจริงที่คาดไม่ถึงไปตั้งแต่ต้นจนจบ โดยดัดแปลงมาจากบทละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” (ประตูผี) อันเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของ “พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” จากนิยายเก่าแก่พันปีเรื่อง “Rashomon” และ “In a Glove” ของนักประพันธ์ยอดฝีมือชาวญี่ปุ่น “ริวโนะสุเกะ อะคุตะกะวา” อันเป็นที่มาของภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องดังก้องโลกอย่าง “ราโชมอน” (Rashomon) ผลงานการกำกับของ “อากิระ คุโรซาวา” บรมครูอันยิ่งใหญ่แห่งโลกภาพยนตร์ นั่นเอง
“หลังจากที่ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คุณเจียงก็ถามว่า ในใจมีหนังอะไรที่อยากจะทำหรือเปล่า ตัวเราเองก็นึกถึงเรื่อง ‘อุโมงค์ผาเมือง’ นี้ขึ้นมาในหลายๆ เหตุผล เหตุผลแรกเราคิดจะทำหนังเรื่องนี้มาสิบกว่าปีก่อน เตรียมงานแล้ว เขียนบทแล้ว คิดโปรดักชั่นแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างในตอนนั้นก็ทำให้ต้องหยุดโครงการนี้ไป มาปีนี้ก็เหมือนกับว่านำโครงการนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ มันเลยเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ และบังเอิญเรื่องนี้ เราได้ดัดแปลงเรื่องราวมาจากบทละครเวทีเรื่อง ‘ประตูผี’ โดย ฯพณฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และตัวเราเองก็เคยกำกับเป็นละครเวทีเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่มณเฑียรทองเธียเตอร์ และออกแสดงตั้ง 3 เดือน ครั้งนั้นก็ถือว่าเป็นละครเวทีที่ประสบความสำเร็จมาก ก็เลยลองเอามาปัดฝุ่นใหม่
มันก็เป็นเรื่องแนวใหม่สำหรับยุคนี้แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ใหม่มากนัก และก็ประกอบกับการที่เป็น 100 ปีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พอดี เราคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะเฉลิมฉลองในอัจฉริยภาพในการประพันธ์เชิงวรรณกรรมของท่าน พร้อมกับการเฉลิมฉลองครบ 40 ปีของบริษัทสหมงคลฟิล์มด้วย”
***บทดัดแปลง แฝงธรรมะ ชำระจิตใจ***
“ในแง่เป็นผู้กำกับ เป็นคนเขียนบท เรามาศึกษาบทภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างละเอียดก็ได้เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณค่าทางศีลธรรมสูงมาก คือแก่นของเรื่องพูดถึงพระสัจธรรมโดยพระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวเราเองก็ตั้งใจด้วยจิตแน่วแน่ว่าจะทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นพุทธบูชา เพื่อที่จะอุทิศส่วนกุศลให้กับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และที่สำคัญคืออากิระ คุโรซาวา และริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวา ซึ่งอะคุตะงะวาท่านเป็นผู้เขียนเรื่องสั้นเรื่องราโชมอน และอากิระ คุโรซาวา นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกที่ไปสู่ตลาดโลก ได้รับการยกย่องว่าเป็นครูแห่งศาสตร์ภาพยนตร์ ทั้งคู่เป็นบรมครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับหนังใหม่ๆ ของโลกมากมาย
บทละครเวทีเรื่องนี้ซึ่งแต่เดิม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ท่านไม่ได้ดัดแปลงจากภาพยนตร์ของคุโรซาวา แต่ท่านได้ไปชมละครเวทีเรื่อง ‘ราโชมอน’ ที่นิวยอร์ก แสดงโดยฝรั่งนะแต่เล่นเป็นญี่ปุ่นหมด และท่านก็ได้นำบทมาแปลเป็นภาษาไทย แต่ก็เล่นเป็นญี่ปุ่นนะ โดยท่านเองก็เล่นเป็นสัปเหร่อ ซึ่งตอนนั้นเรายังเด็กมากและโชดดีที่ได้ดูติดตาติดใจจนถึงปัจจุบันนี้ ก็คิดว่าถ้าครั้งหนึ่งได้ทำเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไทย ก็คงจะท้าทายความสามารถ โครงการนี้เลยเกิดขึ้นมา
เวอร์ชั่นบทละครเวทีของท่านคึกฤทธิ์ก็มีการตีความใหม่ ท่านไม่ได้เน้นกายกรรม แต่ท่านเน้นวจีกรรม การใช้ภาษาที่แหลมคม และมีความหมายลึกซึ้ง ความสนุกจะอยู่ที่การฟังภาษา ฟังบทพูดของตัวละครว่ามีความหมายอย่างไร และเชือดเฉือนอย่างไร เน้นตรงนี้ ซึ่งตัวเราเองก็ยึดถือเอาเป็นหลักในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยที่บทสนทนา 95 % ของเรื่องเป็นภาษาของท่าน โดยที่ไม่มีการแก้ไขใดๆ จะมีก็แค่ 5 % ที่เราแก้ไขในตอนต้นๆ เรื่องแค่นั้นเองที่เพิ่มความเป็นภาพยนตร์ให้มากขึ้น แต่ว่าในเชิงการตีความ ในเชิงความหมายของเรื่อง ความสนุกได้รสชาติล้วนมาจากการตีความของท่านเอง ในส่วนการเขียนบทของเราก็ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เขียนบทอย่างเดียวจะเร็วมากใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ในแง่การสร้างการคิด กว่าจะรวบรวมความคิด กว่าจะสรุปมันได้ ก็เป็นปีๆ ก็ถือว่านานเหมือนกันนะ”
***จุดกำเนิด เปิดเรื่องเศร้า เล่าความเท็จ***
“คือมันเป็นเรื่องของคดีที่ขุนศึก (อนันดา) กับภรรยา (พลอย เฌอมาลย์) เดินทางไปในป่าแล้วก็ได้พบกับโจรป่า (ดอม เหตระกูล) และขุนศึกก็โดนโจรป่าหลอกล่อ และข่มขืนเมียต่อหน้า แล้วท้ายสุดตัวขุนศึกก็ตายไป และโจรป่าก็โดนจับได้ ต้องไปให้การในศาล ตัวเมียขุนศึกก็ต้องไปให้การด้วย ก็มีการเข้าทรงวิญญาณของขุนศึก และต่างคนก็ต่างให้การต่างๆ กัน และเรื่องก็ดำเนินผ่านพระหนุ่ม (มาริโอ้ เมาเร่อ) ซึ่งเป็นผู้เห็นขุนศึกและภรรยาเข้าป่าไปเป็นคนสุดท้าย และตัวคนตัดฟืน (หม่ำ จ๊กมก) ก็เป็นคนพบศพ และสองคนก็ต้องให้การในศาลด้วย พระหนุ่มได้เห็นว่าทั้งสามคนก็ให้การคนละทิศคนละทางเลย ทุกคนได้รับสารภาพว่าตนเองนั้นได้เป็นคนฆ่าขุนศึก ทั้งโจรก็รับสารภาพว่าตนเป็นคนฆ่า ตัวเมียขุนศึกก็บอกว่าเธอเป็นคนฆ่าสามี ส่วนวิญญาณขุนศึกก็ให้การว่าทนความเสื่อมเสียเกียรติยศไม่ได้ก็เลยฆ่าตัวตายเอง
ตัวพระหนุ่มซึ่งบวชได้พรรษาเดียว เป็นพระที่เคร่งในวินัยได้เจอเหตุการณ์นี้ก็รู้สึกว่าไม่สามารถเข้าใจมนุษย์ได้ เรื่องเริ่มต้นตรงนี้ ระหว่างที่พระหนุ่มจะเดินทางกลับบ้านเกิด ก็เจอพายุ และตัวคนตัดฟืนก็วิ่งตามมาพอดี ทั้งสองคนก็เลยไปหลบฝนอยู่ในอุโมงค์ผาเมือง ทำให้เจอกับสัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) และความเป็นจริงต่างๆ ก็เปิดเผยขึ้นในอุโมงค์นั้นเอง”
***พลิกโฉมประชันฝีมือ ลือเลื่องการแสดงแถวหน้า***
“เรื่องนี้เราก็ได้ทีมนักแสดงชั้นนำของเมืองไทยมาร่วมแสดงมากมาย ความคิดเห็นในการคัดเลือกนักแสดงก็ตรงกันกับของคุณเจียงที่จะนำเอา อนันดา, มาริโอ้, หม่ำ, พงษ์พัฒน์, พลอย, ดอม มาแสดงในเรื่องเดียวกัน ซึ่งแต่ละคนก็ทุ่มเทจริงๆ ทั้งเรื่องคิวที่แน่นเอี๊ยดกันแทบทุกคน เรื่องการแสดงที่ต้องแปลงโฉมหน้าพลิกบทบาทกันไปเลย เรายินดีที่ได้ร่วมงานกับทีมนักแสดงยอดฝีมือทีมนี้นะ
อย่าง มาริโอ้ พอมาลองแต่งเป็นพระดู โอ้ก็ดูมีออร่า มีราศี เกิดมาเพื่อเล่นบทนี้จริงๆ คงไม่มีใครเหมาะสมเท่า และแกก็อยากร่วมงานกับเรามากนะ สอนแกมา 3 ปีแล้วแต่ไม่เคยร่วมงานกันเลย เป็นงานแรกที่เป็นการได้ร่วมงานกับตัวเรา และได้ร่วมงานกับอนันดาซึ่งถือเป็นไอดอลของเขานะ เขาก็มีความสุขและทุ่มเทให้กับการทำงานมาก
ส่วน หม่ำ เราก็เลือกคนไม่ผิด บางคนก็เอาไปเปรียบเทียบกับการแสดงของเขาที่ผ่านมา เราไม่ได้มองตรงนั้น เรากลับเห็นตัวตนของหม่ำจริงๆ ในบทนี้ ซึ่งตัวหม่ำเองก็หนักใจมาก ไม่มั่นใจและกลัวทำหนังหม่อมเสีย เราก็บอกเขาว่าไม่ต้องกลัว ให้แสดงจากตัวตนของเขาเองจริงๆ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีมาก เราก็ปลื้มใจเขามาก เรารู้สึกศรัทธาในการทำงานของเขามาก เขาทุ่มเทจริงๆ ในสิ่งที่เขาไม่เคยสัมผัสเลย เขาพยายามทิ้งลักษณะการแสดงที่ทำมาตลอดทั้งชีวิตเพื่อที่จะแสดงให้เข้าถึงตัวละครที่สุด เห็นว่าเขาตั้งใจทำงานมากๆ น่าเอ็นดูมากๆ โกรธตัวเองเวลาตัวเองจำบทไม่ได้ ก็พยายามบอกเขาว่าไม่ต้องซีเรียส สบายๆ ซึ่งสุดท้ายเขาก็ทำออกมาได้ประทับใจ เรารู้สึกเป็นเกียรติมากนะที่เขามาเล่นภาพยนตร์ให้เรา
อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ เมื่อ 20 ปีที่แล้วเขาเคยเล่นเป็นโจร และบทที่เขาจ้องอยู่นอกจากโจรก็เป็นตัวสัปเหร่อที่เขาอยากเล่นมาตั้งแต่ตอนนั้นละ แต่ตอนนั้นเขาก็ยังหนุ่มอยู่ แต่ตอนนี้ด้วยวัยของเขา ฝีมือการแสดงของเขา ไม่มีใครเหมาะเท่าอ๊อฟ และเขารักบทนี้อยู่แล้ว เขาอยากเล่นบทนี้อยู่แล้ว มันก็เลยเป็นการง่ายที่เขาจะเข้าถึงมัน กับอ๊อฟก็ยิ่งสบายเพราะเราก็เคยทำงานด้วยกันมาแล้วตั้งแต่เขายังหนุ่มทั้งละครเวที ทั้งภาพยนตร์ มันก็เข้าทางกัน ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย ถึงจะต้องตื่นตี 3 ตี 4 เพื่อเมคอัพมากขนาดไหนก็ตาม เพราะเขารู้ว่ามันจำเป็นมาก ทั้งมาริโอ้ก็เหมือนกัน ต้องตื่นตี 4 หมด เพื่อให้ถ่าย 7 โมงเช้าให้ได้ ก็ถือว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่เป็นชิ้นโบว์แดงของเขา หรือของนักแสดงแทบทุกคน
ตัวขุนศึกที่เป็นบทของ อนันดา เป็นตัวละครที่เราคิดว่าเล่นยากที่สุด เพราะว่ามีบทพูดน้อยมากต้องถ่ายทอดออกผ่านดวงตา มีบทพูดน้อยไม่พอยังต้องโดนปิดปากในตอนที่เขาโดนจับมัด เป็นฉากที่สำคัญทั้งนั้นเลย ทุกฉากของเขาเล่นยากมาก เขาใช้ภาษากายในการสื่อสารไม่ได้เลย คำพูดสื่อสารไม่ได้เลย ก็เลยใช้ดวงตาได้อย่างเดียว อนันดาก็ขอเล่นบทนี้ด้วย และเราก็เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่อนันดาจะต้องมาผ่านความยากอีกครั้งในบทนี้ และตัวอนันดาเองก็ทุ่มเทมากและก็ทำออกมาได้ดี
สำหรับ พลอย ในบทแม่หญิงคำแก้วเมียขุนศึกเนี่ย เป็นบทผู้หญิงที่ยากที่สุดที่เคยมีมาสำหรับภาพยนตร์ เพราะบทนี้มีหลากหลายอารมณ์มาก ไดอะล็อกเยอะมาก และก็พูดคนเดียวเยอะมาก มันต้องฝีมือในการแสดงสูงมาก และที่สำคัญคือเขาต้องเล่นเป็น 4 คาแร็คเตอร์ในคนเดียวกัน ต้องเล่นให้ขาดมาก 4 เรื่องในเรื่องเดียวกัน คิดว่าไม่มีใครเหมาะกับบทนี้เท่าพลอย ทั้งที่งานเขาแน่นมาก แต่เจ้าตัวก็เล่นบทนี้ถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มที่ ทำให้หลายๆ คนที่มีความรู้ด้านการแสดงก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พลอยได้ก้าวขึ้นไปอีกระดับแล้วในฝีมือการแสดง เขาได้พิสูจน์ตัวเองได้อย่างสมภาคภูมิในภาพยนตร์เรื่องนี้
โจรป่าเนี่ยมีการคิดอยู่หลายคนเหมือนกันว่าใครจะเหมาะ เพราะว่ารูปลักษณ์ต้องดูเป็นโจรที่โหดเหี้ยมมากจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความซื่อและโง่อยู่ในนั้น และมีความเก่งและตลกอยู่ในนั้น ขณะเดียวกันจะดูเท่ ดูโหดร้ายก็เป็น มีหลายคาแร็คเตอร์มากอีกเหมือนกันในตัว และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ลองเรียก ดอม มาดู เพราะเห็นว่าดอมน่าจะเหมาะที่สุด ซึ่งเขาก็เหมาะจริงๆ เขาตั้งใจมาก ซ้อมเยอะ จนเสียงแหบแห้ง บางทีก็สงสารแกเหมือนกันเพราะแกเป็นคนเดียวที่นุ่งผ้าเตี่ยวในขณะที่อุณหภูมิ 4 องศา ไม่มีอะไรช่วยแกเลย พอสั่งคัททีก็ต้องเอาไฟ ถ่าน กระป๋องน้ำร้อนมาช่วยแก แกก็ทำงานออกมาได้น่าพอใจ คิดว่าเลือกคนได้ถูกต้อง
บทของ รัดเกล้า คือตัวคนทรงที่วิญญาณของขุนศึกมาสิงเนี่ย น้อยคนนักที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นนักแสดงที่มีคุณภาพมาก เป็นนักบัลเล่ต์ด้วย เพราะฉะนั้นการนำเสนอคนทรงของเราจะผสมผสานกันระหว่างการร่ายรำของวัฒนธรรมล้านนากับโมเดิร์นแดนซ์ผสมกัน ในขณะเดียวกันต้องเล่นไปด้วยซึ่งอันนี้ยากมาก นักแสดงที่ไม่ได้โดนเทรนนิ่งทางการเคลื่อนไหวอย่างเชี่ยวชาญ บทนี้จะยาก เพราะฉะนั้นรัดเกล้าก็เหมาะที่สุด การใช้เสียงของเขา การใช้ร่างกายของเขาทำให้บทนี้มีสีสันดูน่ากลัวมีมิติ และก็มีพลังมาก ขณะที่ถ่ายทำเขาสามารถตรึงคนเป็นร้อยคนบนยอดเขาให้เงียบได้ทั้งกองถ่าย ซึ่งแสดงในเพียงฉากเดียวแต่ว่า โอ้โห มันเต็มไปด้วยศิลปะการแสดงที่สูงมาก ทั้งอารมณ์ ทั้งการเคลื่อนไหว การใช้เสียงทุกอย่างสามารถทำให้เราเชื่อได้ว่ามีวิญญาณสิงอยู่จริงๆ
ส่วนตัวละครตัวอื่นๆ ที่มีสมทบเข้ามาก็มี เจี๊ยบ ศักราช ที่แสดงเป็น ทิพย์ ใน ชั่วฟ้าดินสลาย มาช่วยเสริมให้อีกในบทเป็นเจ้าหลวงผู้พิพากษาในคดีนี้ ซึ่งก็สามารถแสดงได้ 3 คาแร็คเตอร์เหมือนกัน ในแต่ละการเล่าเรื่อง เขาก็เล่นเป็น 3 แบบซึ่งก็สมบูรณ์ ที่น่าพูดถึงอีกก็หลายคนก็เช่น ท็อป ดารณีนุช เล่นเป็นแม่ของพลอยก็รับเชิญมาสร้างสีสันให้ ทางครอบครัวของมาริโอ้ก็มี โอ๊ต วรวุฒิ, ชุดาภา จันทเขตต์, นิว ชัยพล เด็กใหม่ของ Xact มาร่วมแสดง ซึ่งครอบครัวนี้เล่นได้อย่างกลมกลืนสมบูรณ์มาก และก็ยังมีบทท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหลวงแห่งนครผาเมืองซึ่ง ชาย ชาตโยดม รับเชิญเข้ามา มี ธัญญา โสภณ ในบทแม่ของขุนศึกก็มาร่วมมาแสดงด้วย”
***รวมพลทีมงานเบื้องหลัง สร้างสรรค์ระดับมืออาชีพ***
“เนื่องจากมีการค้นคว้าข้อมูลไว้อย่างละเอียดเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เลยทำให้การเตรียมงาน การทำงานก็เร็ว หลายคนตกใจว่า อ้าว ทำเสร็จแล้วเหรอ ทำไมเร็วขนาดนี้ เพราะตอนที่ยากที่สุดและการทำงานที่ยากที่สุดมันไม่ใช่ตอนถ่ายทำ มันอยู่ที่การศึกษาหาข้อมูลมากกว่า แต่เราได้เตรียมไว้หมดแล้ว เพียงแต่เอามาปัดฝุ่นใหม่ แล้วก็แทบจะไม่ต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติมเลย เราทำกันมาอย่างละเอียดลออหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยของเรื่องที่เกิดในยุคสมัยไหน ไม่ว่าจะเป็นด้านงานศิลปะ งานเครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่ปรัชญา ความคิดหรือไอเดียในการนำเสนอภาพผ่านการทำงานกันอย่างละเอียดมาแล้ว การเตรียมงานเลยค่อนข้างเร็ว
ในช่วงเตรียมงาน เราก็ต้องให้ทุกฝ่ายเดินทางไปที่เชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของการเตรียมงานทั้งหมดก่อน ทุกฝ่ายก็ไปหมดเลย เพื่อที่จะไปศึกษาข้อมูลอีกหนึ่งครั้ง ทุกฝ่ายในภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นมืออาชีพทุกคน เป็นเรื่องที่เป็นความถนัดเชี่ยวชาญของแต่ละคนหมดเลย เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันก็เลยเร็วมาก
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายศิลป์ที่เราได้ คุณแป๊ะ พัฒน์ฑริก มีสายญาติ ผู้ออกแบบงานสร้างที่ส่วนใหญ่ทำหนังของต่างประเทศมากกว่า ซึ่งแต่เดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้วตัวคุณแป๊ะเองก็ได้ศึกษามาแล้วเรียบร้อย รู้อย่างละเอียดแล้ว เมื่อมีการนำมาทำใหม่ ก็เหมือนได้ทำการบ้านกันมาพร้อมอยู่แล้ว มันก็เลยง่ายในแง่ศิลปกรรม
ฝ่ายเสื้อผ้า ก็ได้ โต้ง นพดล เตโช ที่ร่วมงานกันมาตลอดตั้งแต่โบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นละครเรื่องสี่แผ่นดิน, ในฝัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ก็ใช้โต้งอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นงานนี้โต้งก็ศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และยิ่งวัฒนธรรมล้านนาที่ย้อนกลับไปเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ก็ไปศึกษาค้นคว้ามา เขาก็เป็นมืออาชีพทางด้านนี้อยู่แล้ว
ฝ่ายเมคอัพก็ต้องเลือก อาจารย์ขวด มนตรี วัดละเอียด เลย และท่านก็เป็นมือหนึ่งของประเทศนี้ เพราะว่ามันมีหลายอย่างที่จะต้องมีสร้างสรรค์กันใหม่ เช่น หน้าของสัปเหร่อ รอยสัก หัวมาริโอ้ ก็ต้องแปลงโฉมกันเยอะทีเดียว ฝ่ายนี้ก็จะงานหนักมากเช่นกัน
ด้านซีจีเพื่อความสมบูรณ์ของหนังเราก็ได้ คุณแคน (อาทยา บุญสูง) ซีจีมือหนึ่งของประเทศไทยที่เคยทำงานให้ฮอลลีวู้ด เป็นมืออาชีพทางซีจีโดยตรงมาอยู่ในกองถ่ายในทุกซีน มาช่วยกันแก้ปัญหา ต้องมีการพูดคุยประชุมกันทุกคน
ฝ่ายภาพ คุณกบ (พนม พรมชาติ) ผู้กำกับภาพที่เคยร่วมงานกันจากเรื่องที่แล้ว ถ่ายภาพออกมาได้อย่างสวยงามตรงคอนเซ็ปต์อย่างที่เราอยากได้ ดนตรีประกอบ คุณป้อ (ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์) ก็ไปด้วย คือไปให้มีความเข้าใจและเห็นเป็นรูปธรรมเหมือนกัน แล้วค่อยกลับมาประชุมกัน เลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดออกมาให้กับภาพยนตร์
รวมถึงเรื่องนี้ยังมีคิวบู๊คิวแอ็คชั่นอยู่ด้วย เราได้มือหนึ่งทางด้านนี้อย่าง คุณพันนา ฤทธิไกร มาร่วมงานออกแบบฉากต่อสู้ที่สมจริง แปลกใหม่สวยงามให้ด้วย ไม่มีใครคาดคิดว่าพันนากับหม่อมน้อย หรือหม่ำกับหม่อมน้อยจะโคจรมาเจอกันได้ ก็ได้มาทำงานร่วมกันแล้วในเรื่องนี้ ก็เป็นสีสันอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้”
(พัฒน์ฑริก มีสายญาติ — ผู้ออกแบบงานสร้าง) “เคยทำละครเวทีเรื่อง แฮมเล็ต ด้วยกันกับหม่อมน้อย แล้วก็เตรียมโปรเจ็คต์เรื่องนี้ด้วยกันเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ก็เพิ่งมีโอกาสได้ทำปีนี้ การเตรียมงานก็ง่ายขึ้น แต่คอนเซ็ปต์ที่วางไว้จากคราวนั้น คราวนี้น่าจะลึกซึ้งยิ่งกว่า เพราะเราก็ผ่านประสบการณ์อะไรกันมาเยอะนะครับ มองอะไรชัดเจนมากกว่า มีอะไรดีๆ ที่ใส่ไปในหนังเยอะ การออกแบบฉากในเรื่องนี้ พี่จะเรียกงานคัฟเวอร์ เราจะไม่ดูของเก่าให้เข้าไปในสมองเลย จะไม่ดูภาพราโชมอนเก่าเลยว่าเขาเป็นยังไง ไม่ว่าจะกี่เวอร์ชั่นก็ตาม เพราะดูไปมันอาจจะทำให้ติดตาได้ เราประมวลเอาจากสิ่งที่อ่าน วิเคราะห์และครีเอทว่าภาพที่จะออกมากมันควรจะเป็นยังไง มันไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์ถึงจะต้องออกแบบฉากให้เป๊ะๆ เราสามารถครีเอทเพิ่มเติมได้จากที่เราค้นคว้ามาระดับหนึ่ง หนังหม่อมน้อยเรื่องนี้หรือแทบทุกเรื่องก็ว่าได้จะให้ความสำคัญทางด้านศิลปะงานสร้างด้านต่างๆ อย่างสูง ทั้งฉาก เสื้อผ้า แต่งหน้า ทำผม รวมถึงบทภาพยนตร์ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซอีกชิ้นหนึ่งของหม่อมน้อยได้เลยนะครับ”
(มนตรี วัดละเอียด — หัวหน้าทีมเมคอัพ) “ภาพรวมทั้งหมดของเรื่องนี้ก็จะดูแลเรื่องหน้า-ผมตั้งแต่ธรรมดาที่สุด สวยงามมาก ไปจนถึงสเปเชียลเอฟเฟคต์ ในรายละเอียดของเรื่องราวเยอะมาก คือโดยภาพรวมไม่ต้องเหมือนของจริงซะทีเดียว ดูตามลักษณะของตัวละครแล้วก็ดูภาพรวมซึ่งอาจจะหยิบภาคเหนือของไทย แล้วก็พม่า หรือไทยใหญ่เอามาผสมผสานกันได้ คือเรื่องนี้เราก็รีเสิร์ชแล้วก็เอามาปรับและพัฒนาไปด้วยให้เหมาะสมกับภาพยนตร์ของเรา ในเรื่องนี้การทำรอยสักจะเยอะ ก็ต้องค้นคว้าเรืองนี้เยอะว่าจะใช้ลายแบบไหน เรื่องทรงผม ผู้ชายก็ผมยาวกันทั้งเมือง ก็เป็นเรื่องของการทำวิกซึ่งต้องใช้มากพอสมควร ส่วนเรื่องของการแต่งหน้าถ้าเป็นตัวเอกก็จะเน้นถึงบุคลิกซึ่งจะมากกว่าปกติหรือเรียกว่าเป็นสไตล์ความชอบของตัวเราและของผู้กำกับโดยยึดโครงที่เป็นธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ขุนศึก ก็อยากให้ดูสง่างามหล่อ หรือว่าพระก็ยังไว้คิ้วในสมัยนั้น แม่หญิงภรรยาขุนศึกเราจะดัดแปลงมาจากผมพม่ากับไทยใหญ่แล้วก็เอาล้านนาผสมไปด้วย เรื่องหัวมาริโอ้ก็หนักใจพอสมควร พอเป็นภาพเคลื่อนไหวมันก็มีตัวแปรเยอะ ก็ต้องใช้ซีจีเข้ามาช่วยด้วย เอฟเฟ็คต์ก็มีแผลเป็นทั้งตัวของคุณพงษ์พัฒน์ อันนั้นก็สนุก รายละเอียดเยอะแต่ก็ทำกันเพลินเลย ทั้งหมดเราได้ความร่วมมือจากนักแสดงดีมาก ทุกคนพยายามทำงานของตัวเองให้เต็มที่ ทำให้พอใจหมดเลยในทุกๆ เรื่อง”
(นพดล เตโช - ออกแบบเครื่องแต่งกาย) “เรื่องแรกทำละคร ลูกทาส ของหม่อมน้อย ก็ได้รางวัลเลย แล้วจากนั้นก็ทำหนังพีเรียดกับพี่หง่าว ยุทธนา เรื่อง ยุวชนทหาร แล้วก็มี ไอ้ฟัก, October Sonata ทำมาเรื่อยๆ แล้วก็มาทำ ชั่วฟ้าดินสลาย ของหม่อมน้อย ก็ศึกษามาตลอดเลย หนังพีเรียดมันมีอะไรน่าสนใจกว่าปัจจุบันมากๆ ก็ชอบเลย สนุก ได้ออกแบบอะไรต่างๆ มันเหมือนเป็นตัวเราร้อยเปอร์เซนต์เลย ที่ทำกับหม่อมน้อยมาจะเป็นเรียลิสติกส่วนใหญ่ พอมาถึงเรื่องนี้มันจะมาแนวเหนือจริงเลย ก็มาจากการค้นคว้ารีเสิร์ชและก็จินตนาการใส่เข้าไปด้วย ก็ผสมผสานเข้าไป ความน่าสนใจโดยรวมถ้าโฟกัสแค่ที่คอสตูมมันอาจจะโดดเกินไป มันต้องอาศัยทีมเวิร์คด้านต่างๆ เข้าไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นทีมเวิร์คที่ดีเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว”
(พนม พรมชาติ — ผู้กำกับภาพ) “ร่วมงานกับหม่อมน้อยก็เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย แต่มาถ่ายเต็มตัวจริงๆ ก็ในเรื่องนี้ การกำกับภาพจะว่ายากก็ไม่ยาก ง่ายก็ไม่ง่ายซะทีเดียว โจทย์คือหม่อมอยากได้โทนภาพสีแบบภาพเขียนฝาผนังโบราณ มันก็เลยยากไปเลย เพราะปกติไม่มีใครถ่ายกันอย่างนี้ พอได้โจทย์มา เราก็ไปหาหนังจิตรกรรมมาดูเรื่องโทนเรื่องสีอะไรต่างๆ เป็นการศึกษาเพิ่มเติมก่อน เรื่องนี้นอกจากที่หม่อมอยากได้โจทย์เป็นภาพเขียนอย่างที่บอกแล้ว หม่อมก็ต้องการให้เราถ่ายการดำเนินเรื่องแต่ละพาร์ทแต่ละคนแต่ละมุมมองให้แตกต่างกันด้วยทั้งพาร์ทของโจรป่า, ขุนศึก, แม่หญิง การเคลื่อนไหวกล้อง การถ่ายทำอะไรต่างๆ ก็จะไม่เหมือนกันเลย ก็ถือว่าน่าสนใจมากทีเดียว”
(ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ — ดนตรีประกอบ) “ในการทำดนตรีประกอบแต่ละเรื่องก็ไม่เหมือนกันนะครับ อย่างเรื่องนี้หม่อมก็จะให้บทมาอ่านก่อน แล้วก็พออ่านเสร็จ เราก็ลองจินตนาการไปก่อนว่ามันจะออกมาแนวไหนสไตล์ไหน จนกระทั่งหนังถ่ายเสร็จ ตัดต่อเสร็จ เราถึงจะรู้ไดเร็คชั่นจริงๆ ละว่าเราจะไปทางไหน ดนตรีประกอบเรื่องนี้จะออกไปทางแนวเหนือจริงแฟนตาซี เพราะเรื่องนี้จะเล่าเรื่องบาปบุญคุณโทษกิเลสตัณหา เราเลยต้องทำให้เหนือจริง ให้ขลังเข้าไว้ ทำให้บทบาทการแสดงของแต่ละคน การเล่าเรื่องของแต่ละพาร์ทดูใหญ่เกินจริง เพิ่มขนาดของบรรยากาศ เพิ่มขนาดของอารมณ์ เพิ่มขนาดของเรื่อง หรือแม้กระทั่งเพิ่มขนาดของกิเลสตัณหาในเรื่องด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ความเป็นแฟนตาซีของมันจะทำให้เราตกเข้าไปในวังวนของหนังเรื่องนี้ ดนตรีประกอบเรื่องนี้ก็จะค่อนข้างสำคัญมากๆ ทำให้เรื่องดำเนินไปได้เร็วขึ้น ไม่ให้ความรู้สึกว่าช้า หนังจะเร็วขึ้น ดนตรีประกอบเรื่องนี้จะทำให้พาร์ทของหนังที่ยาวหดลงและเราจะตามเรื่องไปได้ง่ายขึ้น นี่คือหน้าที่หลักของดนตรีประกอบเรื่องนี้เลย คือหัวใจของเรื่องนี้มันก็เป็นเรื่องของศาสนา ดนตรีประกอบเรื่องนี้ก็จะออกมาขลังและศักดิ์สิทธิ์ และสามารถซึมซับบรรยากาศและเรื่องราวได้อย่างไม่รู้ตัว”
(อาทยา บุญสูง - Visual Effects Supervisor) “ผมทำงานหนังฮอลลีวู้ดอยู่ 7 ปี เรื่องนี้ก็มาร่วมงานกับหม่อมน้อยเพราะรู้สึกสนใจและอยากเรียนรู้การทำหนังไทยของหม่อมไปด้วย เรื่องนี้มีซีจีอยู่ 200 กว่าช็อต ส่วนใหญ่เลยจะแก้ไขเกี่ยวกับการแต่งหน้า ก็คือตรงหัวมาริโอ้ และบางอย่างที่ใช้เล่าเรื่องที่ไม่สามารถทำได้จริง เช่น ฉากที่น้องพลอยไปอยู่ในฝูงผีเสื้อ ผีเสื้อจริงมันไม่มี เราก็ใส่ผีเสื้อซีจีเข้าไป หรือบางฉากที่ไม่สามารถทำจริงได้ เช่น ขว้างดาบให้มันลงตรงจุดนั้นพอดีได้ เราก็ทำดาบซีจีเข้าไปสวม โดยส่วนใหญ่อันนี้จะเป็นเอฟเฟ็คต์ที่ทำเหมือนจริงก็ให้เนียนไปกับตัวเนื้อหนัง เป็นตัวเล่าเรื่องมากกว่า ซึ่งตัวผมเองชอบทำงานพวกนี้มากกว่าไปทำพวกหุ่นยนต์หรือเอเลี่ยนพวกนี้ หม่อมน้อยมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ทำงานด้วยกันก็จะง่าย เป็นผู้กำกับที่แท้จริง เป็นครูบาอาจารย์ ทำงานกับหม่อมก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่การทำหนังเท่านั้น เรื่องประสบการณ์ชีวิตมีอะไรถามได้หมด แล้วก็จะได้คำตอบที่ชัดเจนกลับมาด้วย ดังนั้นจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานกับหม่อมครับ หนังที่ทำเป็นหนังที่มีคุณค่าน่าทำ หลายๆ อย่างที่หม่อมพยายามสอดแทรกเข้าไป มันก็เป็นความจริงของชีวิตทั้งนั้นครับ”